ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันและฐานเงินทุนที่แข็งแรงของบริษัท อันดับเครดิตยังสะท้อนความสามารถในการทำกำไรที่ดี คุณภาพสินทรัพย์ที่ทรงตัว ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มผลกระทบที่มีต่อคุณภาพสินทรัพย์และสถานะการเงินของบริษัทที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในเวลานี้
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันต่อไปได้ในระยะปานกลาง โดยเชื่อว่าบริษัทจะสามารถต่อยอดความชำนาญในการดำเนินธุรกิจรวมทั้งขยายเครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตขึ้น 24% จาก ณ เวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมาอยู่ที่ 6.27 หมื่นล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังได้เปิดสาขาเพิ่มเติมกว่า 800 แห่งในช่วงปีที่ผ่านมาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นและขยายฐานลูกค้า โดยจำนวนสาขา ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อยู่ที่ 4,294 แห่งจาก 3,279 แห่ง ณ สิ้นปี 2561 ทั้งนี้ เป้าหมายเครือข่ายสาขาของบริษัทอยู่ที่ 4,700 แห่งภายในปี 2563
การดำรงสถานะทุน การก่อหนี้ และการสร้างกำไรที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะคงความแข็งแกร่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ย 5 ปีที่ประมาณ 24% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการสะสมฐานทุนของบริษัทจากผลกำไรที่มีอย่างต่อเนื่องและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังจะส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขสำคัญทางการเงินที่ให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ไม่เกิน 4 เท่าได้ โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงและอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 22.7% และ 2.9 เท่าตามลำดับ
ความสามารถในการทำกำไรในระดับเพียงพอของบริษัทนั้นน่าจะช่วยสนับสนุนการดำรงสถานะทุน การก่อหนี้ และการสร้างกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในปี 2563 จะถูกกระทบในระดับที่จำกัดแม้ว่าจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยโดยเฉลี่ย 5 ปีของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.9% ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
คุณภาพสินทรัพย์ยังคงอยู่ในสภาพดี
ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอาจอ่อนตัวลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งประเมินว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลงนั้นอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และจะมีผลกระทบต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทในขอบเขตที่จำกัด ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดและมีกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพต่อไปเพื่อที่จะควบคุมหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าลูกหนี้ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นมีสัดส่วนประมาณ 10% ของยอดสินเชื่อคงค้าง โดยกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวประกอบไปด้วยพนักงานโรงงานและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาเป้าหมายอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมไว้ที่ระดับต่ำกว่า 2% ไว้ได้ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.2% จาก 1.0% ในปี 2562 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตที่ระมัดระวังด้วยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ระดับเป้าหมายประมาณ 200% สำหรับระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 201% จาก 275% ในปี 2562 จากการกลับรายการค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตซึ่งเกิดจากการเริ่มใช้ TFRS 9
การจัดหาแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะการระดมทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าโดยพิจารณาจากการที่บริษัทมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพที่ระดับ 169% แม้ว่าอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องในระดับอ่อนแอโดยเฉลี่ย 2 ปีที่ 0.1 เท่า ทั้งนี้ ความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนรวมถึงการมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินนั้นแสดงถึงการมีช่องทางในการระดมเงินทุนที่หลากหลายซึ่งช่วยสนับสนุนสถานะเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวนทั้งสิ้น 1.7 หมื่นล้านบาท โดย 50% ของจำนวนดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้ บริษัทยังมีสิทธิ์ได้รับสินเชื่อฉุกเฉินจากธนาคารออมสินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่ส่งผลกดดันต่อกระแสเงินสดและอัตราผลตอบแทนของบริษัทลงได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 มีดังนี้
• ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 15%-20%
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 18%
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 2%
• อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 200%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด รวมทั้งมีผลประกอบการที่น่าพอใจ สามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อ และรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตในอนาคตอันใกล้นี้มีความเป็นไปได้ในระดับที่จำกัด อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 25% ในขณะที่ผลประกอบการทางการเงินยังคงแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่อยู่ในระดับสูงกว่า 8% อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงจนนำไปสู่การมีสถานะเงินทุนที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมหรือความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MTC217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
MTC222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,650.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC227B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,043.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC22NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,349.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
MTC237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,756.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 4 ปี BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable