ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4.8 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท และ/หรือชำระหนี้เงินกู้ยืม และ/หรือใช้ตามวัตถุประสงค์ทั่วไปของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดของธุรกิจหลักของบริษัท และผลประกอบที่น่าพอใจ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพีและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก ในขณะเดียวกัน การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงเงินลงทุนจำนวนมากที่บริษัทต้องใช้ในการขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ด้วย
ในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าการห้ามเดินทางท่องเที่ยวเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 จะส่งผลทำให้รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) ของทรูมูฟ เอช ลดลง นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรทัศน์ระบบเคเบิ้ลของทรูวิชั่นส์จะได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งเนื่องจากโรงแรมหลายแห่งที่เป็นลูกค้าของทรูวิชั่นส์ต้องปิดดำเนินการชั่วคราว แต่ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากมาตรการการขอความร่วมมือทำงานจากบ้าน (Work-from-home) ของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีจำนวนผู้ใช้บริการในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ผลการดำเนินงานของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง บริษัทมีรายได้จากการการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 3.54 หมื่นล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการจำนวน 2.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3% อันเป็นผลมาจากจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สาย และธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสำคัญ ในขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกลดลงอันเป็นผลจากการที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้กิจกรรมด้านการบันเทิง และการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาถูกเลื่อนออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่เกี่ยวข้องก็ลดลงตามไปด้วย
ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งดำเนินงานโดยทรูมูฟ เอช ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 30.3 ล้านราย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทสร้างรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่ระดับ 2.01 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 1.6% ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช ยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับสองของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 30.6% ของรายได้รวมของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ บริษัทยังคงสถานะผู้นำในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยรายได้จากธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ รายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 7% เนื่องจากการลดลงของค่าสมาชิกตอบรับ รายได้จากธุรกิจกิจกรรมด้านการบันเทิง และรายได้โฆษณา
บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA ) อยู่ที่ 1.37 หมื่นล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 9.7 พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ 1.16 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาระหนี้สินทางการเงินจำนวนมากของบริษัทลงได้บ้าง
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินจากการลงทุนในระดับสูง กล่าวคือ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ 3.83 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 82% ณ เดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 72% ณ ปลายปี 2562 อันเป็นผลจากรายการปรับปรุงและการจัดประเภทรายการใหม่หลังการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS16) ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 8.4 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 7%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาถึงฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับลดภาระหนี้สินทางการเงินลงได้ ในขณะที่อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากผลสรุปของคดีความ เช่น ประเด็นส่วนแบ่งรายได้ หรือ การประเมินภาษีสรรพสามิต หรือประเด็นอื่น ๆ มีผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRUE207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TRUE208A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,835 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TRUE20OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,175 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
TRUE211A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,640 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,337.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,224.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE215B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE217B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,360 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,246 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE221B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 945 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,799.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE228B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 830 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE232A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TRUE248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,841.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TRUE24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,325 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TRUE258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
TRUE22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน 8,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 4,800 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 3 ปี 3 เดือน BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable