ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทกำหนดไถ่ถอนภายใน 15 ปีของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วยเช่นกัน โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือของบริษัทในกลุ่มซีพีเอฟดังต่อไปนี้ (1) ประกอบธุรกิจทั่วไป และ/หรือ (2) ขยายธุรกิจ และ/หรือ (3) ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ และ/หรือ (4) ชำระคืนหนี้ และ/หรือ (5) ให้กู้ยืมแก่บริษัทในกลุ่มซีพีเอฟ หรือใช้ซื้อหุ้นของบริษัทในกลุ่มซีพีเอฟ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคง “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สำหรับอันดับเครดิตทั้งหมดของบริษัทเช่นเดิมอีกด้วย
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “A+” พร้อม ”เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” จากทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการดำเนินงานของบริษัทที่ผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินงานของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่ด้วย
บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) โดยบริษัททำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกแบบครบวงจรในประเทศไทย อานิสงส์จากราคาของผลิตภัณฑ์สัตว์บกที่เพิ่มขึ้นและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ลดลงส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีในไตรมาสแรกของปี 2563 กล่าวคือ บริษัทมีรายได้จากการขายเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 3.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทก็เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 13.4% ในไตรมาสแรกของปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 8.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2562
ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากผลกระทบของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทเพียงเล็กน้อยเนื่องจากสินค้าของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองต่อผลประกอบการของบริษัทในปี 2563 ว่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ลดลงและความต้องการอาหารแช่แข็งที่เพิ่มขึ้น
ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินในสัดส่วน 71% ของจำนวนดังกล่าวเป็นหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในการนี้ บริษัทมีเงินกู้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2563 จำนวน 5.3 พันล้านบาทซึ่งคาดว่าแหล่งที่มาของเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นหลัก ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 6-7 พันล้านต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่เพียงพอจากเงินสดในมือจำนวนประมาณ 3.5 พันล้านบาทและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งด้วย
เครดิตพินิจ (CreditAlert)
ทริสเรทติ้งได้ประกาศ “เครดิตพินิจ” ให้อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ทั้งหมดของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) มีแนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศที่ระบุว่าบริษัทจะลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของหุ้นทั้งหมดใน บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. โดยมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือเทียบเท่าประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท) ทางบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) คาดว่าแหล่งเงินทุนในการซื้อกิจการครั้งนี้จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินกู้ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมในครั้งนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทบรรลุเงื่อนไขบังคับก่อนตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องที่ประกอบไปด้วยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย Ministry of Domestic Trade and Consumer Affairs ของประเทศมาเลเซีย รวมทั้งยังจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของ Tesco PLC อีกด้วย
“เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความเห็นของทริสเรทติ้งว่าอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหรือยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าการซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยเสริมสถานะความแข็งแกร่งในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและตลาดให้แก่บริษัทโดยผ่านร้านค้าปลีกชั้นนำทั้งในประเทศไทยและมาเลเซียที่บริษัทซื้อกิจการมา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าหากการซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลให้ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นและจะส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงทางการเงินเป็นอย่างมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (CPFTH)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPFTH207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
CPFTH211A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,450 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
CPFTH215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
CPFTH231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPFTH235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPFTH237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
CPFTH245A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
CPFTH255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
CPFTH261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPFTH267A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
CPFTH275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
CPFTH281A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPFTH287A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
CPFTH295A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
CPFTH305A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
CPFTH315A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPFTH317A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A+
CPFTH335A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2576 A+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 15 ปี A+
แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative