ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกัน รวมถึงการมีทุน การก่อหนี้ และกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนการมีเงินทุนและสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงที่เกิดจากการปล่อยกู้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในระดับสูงและคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลง ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ยังอาจเพิ่มแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความเป็นผู้นำธุรกิจ
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสถานะทางธุรกิจของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนจะขยายพอร์ตสินเชื่อโดยการเปิดสาขาใหม่ประมาณ 300 แห่งต่อปี โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเครือข่ายสาขาจำนวน 4,309 แห่งซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3,086 แห่ง ณ เดือนมีนาคม 2562 ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างตามงบการเงินรวมซึ่งรวมยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทลูก 2 แห่งคือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด และ บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโต 22% จากยอดสินเชื่อคงค้าง ณ เดือนมีนาคม 2562
มีเงินทุนและกำไรที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าปัจจัยบวกที่สนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทซึ่งประกอบไปด้วยฐานเงินทุนที่เข้มแข็งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ย 5 ปี (2561-2565) ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 46% ซึ่งแสดงถึงฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ส่วนในด้านภาระหนี้นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจากการที่บริษัทไม่มีแผนกู้ยืมเชิงรุกและมีการสะสมเงินทุนอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับข้อกำหนดทางการเงินที่ให้ดำรงอัตราส่วนดังกล่าวที่ไม่เกิน 6 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงและอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 43.4% และ 1.4 เท่าตามลำดับ
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยโดยเฉลี่ย 5 ปี (2561-2565) ที่ระดับประมาณ 11% เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทจะอยู่ในระดับแข็งแรงที่ประมาณ 18% จากการมีอัตราผลตอบแทนที่คงที่และต้นทุนทางการเงินที่ลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ บริษัทน่าจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้เช่นกันเนื่องจากบริษัทมีแผนจะลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานโดยเปลี่ยนไปเป็นการทำการตลาดแบบออนไลน์ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาผลกำไรเอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าแม้ว่าบริษัทอาจจะได้รับแรงกดดันจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
คุณภาพสินทรัพย์อ่อนตัวลง
ทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางและอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการบริหารความเสี่ยงจากบริษัทแม่ ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม ส่วนความครอบคลุมของค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตนั้นยังอยู่ในระดับปานกลางอย่างต่อเนื่อง ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.2% จากระดับ 3.8% ในปี 2562
นอกจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ยังเกิดมาจากสาเหตุบางประการด้วย ประการแรกคือการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ซึ่งกำหนดให้บริษัทกำหนดเกณฑ์การจัดสินทรัพย์ทางการเงินที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตตามรายลูกค้าจากเดิมที่จัดเกณฑ์ตามรายสัญญา ดังนั้น สินเชื่อทั้งที่ไม่มีและที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของลูกค้ารายเดียวกันจะจัดให้เป็นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตทั้งหมด ประการที่สองคือการตัดหนี้สูญออกจากบัญชีได้ช้าลง ทั้งนี้ ตามมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่นั้นกำหนดว่าสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะถูกตัดออกจากบัญชีได้ในกรณีที่บริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าสินเชื่อดังกล่าวจะไม่ได้รับการชำระคืนหนี้แล้วเท่านั้น ในขณะที่แต่เดิมนั้นสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะถูกตัดออกจากบัญชีได้เมื่อมีอายุนาน 120 วัน
แม้จะมีความเสี่ยงที่คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะอ่อนตัวลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 6% ในปี 2563 เนื่องจากบริษัทได้เพิ่มความรัดกุมในนโยบายด้านเครดิตและการพิจารณาสินเชื่อ ตัวอย่างเช่น บริษัทได้ปรับลดอัตราส่วนมูลหนี้ต่อมูลค่าหลักประกันสำหรับสินเชื่อในกลุ่มที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันและได้ปรับลดการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แบบเฉพาะกลุ่มของบริษัทยังคาดว่าอาจช่วยชะลอหรือลดการตกชั้นของลูกหนี้ตามเกณฑ์การจัดชั้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่อ่อนตัวลงในระดับปานกลางนั้นจะยังไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม หากสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาด อาจส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้หากกรณีดังกล่าวนำไปสู่ความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมที่สูงขึ้นหรือทำให้ฐานเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลง
ในส่วนของความครอบคลุมของค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตนั้น ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยมาอยู่ที่ระดับ 70.7% จาก 56.9% ในปี 2562 เนื่องจากมีการกันสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มเติมตามมุมมองของผู้บริหารจากการเริ่มใช้ TFRS 9 ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราส่วนความครอบคลุมดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็ยังเห็นว่าต่ำกว่าของคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยบริษัทมีนโยบายที่จะดำรงอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ที่ระดับ 50%-70% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
มีความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนและมีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เข้มแข็งจากการมีอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพโดยเฉลี่ย 2 ปี (2562-2563) ที่ระดับ 300% ทั้งนี้ การพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นในระดับปานกลางของบริษัทยังช่วยสนับสนุนการประเมินดังกล่าวอีกด้วย โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นคิดเป็น 13% ของเงินกู้ยืมรวมและส่วนของผู้ถือหุ้น
บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอแม้ว่าอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องโดยเฉลี่ย 2 ปี (2562-2563) ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 0.1 เท่าซึ่งถือว่าอ่อนแอตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ เนื่องจากสถานะสภาพคล่องของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการเข้าถึงตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อจัดหาเงินทุน อีกทั้งบริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 9.5 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 จากสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีสิทธิ์ได้รับสินเชื่อฉุกเฉินจากธนาคารออมสินเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากแรงกดดันที่มีต่อกระแสเงินสดของบริษัทอีกด้วยเช่นกัน
แรงกดดันจากความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
การปล่อยกู้ในกลุ่มลูกหนี้ที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันนั้นทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในกรณีผิดนัดชำระหนี้ซึ่งมักจะใช้เวลานาน อีกทั้งขนาดของสินเชื่อในกลุ่มลูกหนี้ที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันที่ใหญ่กว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ยังอาจนำไปสู่ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความรัดกุมในอัตราส่วนมูลหนี้ต่อมูลค่าหลักประกันนั้นอาจช่วยลดความเสี่ยงจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นได้หากสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างมากในสินเชื่อประเภทดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 สัดส่วนของสินเชื่อในกลุ่มลูกหนี้ที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันต่อยอดสินเชื่อรวมอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับผลการดำเนินงานบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 มีดังนี้
• ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตที่ระดับ 15%-20%
• ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 18%
• อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 6%
• อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 50%-70%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางธุรกิจ ตลอดจนผลการดำเนินงานทางการเงิน และคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในขณะที่ยังคงรักษาฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในอนาคตอันใกล้นี้มีความเป็นไปได้ในระดับที่จำกัด อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากสถานะทางธุรกิจและคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างต่อเนื่องในขณะที่บริษัทยังคงสัดส่วนสินเชื่อในในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะทุน ภาระหนี้ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงโดยที่อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 25% และอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 8%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable