ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสรายได้ที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ตลอดจนความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ลดทอนลงบางส่วนจากส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ทยอยหมดอายุลงและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ซึ่งกระทบต่อความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์
รายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เป็นหลัก ทั้งนี้ บริษัทเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินงานแล้วจำนวน 36 แห่งซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ด้วยกำลังการผลิตตามสัญญาขนาด 205.92 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าของบริษัทให้ผลกำไรที่สูงจากการได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่อัตรา 8 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (หน่วย) เป็นระยะเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดที่ทำให้บริษัทมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่น ๆ ในธุรกิจพลังงานทดแทน
กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่คาดการณ์ได้เป็นผลจากการที่บริษัทมีอัตราค่าไฟฟ้าที่แน่นอนตามสัญญาและมีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่ต่ำ ในขณะเดียวกันก็มีผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีเครดิตดี ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดของบริษัทในช่วงปี 2563-2565 จะยังคงมาจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เป็นหลักแม้ว่าบริษัทจะพยายามขยายฐานรายได้ไปยังธุรกิจอื่นก็ตาม เช่น การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจหลังคาเหล็ก และการเป็นผู้แทนจำหน่ายและผู้ให้บริการอย่างเป็นทางการ
ในไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 1.5 พันล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% และส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคา ธุรกิจหลังคาเหล็ก และธุรกิจผู้แทนจำหน่ายและผู้ให้บริการ
ผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ยังคงดีกว่าประมาณการ
บริษัทเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์รายแรกของประเทศ ประสบการณ์ของผู้บริหารในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่บริษัท
บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ โดยในปี 2562 บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 397 ล้านหน่วย ซึ่งสูงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ 10% ซึ่งแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 102 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นประมาณ 28% ของประมาณการทั้งปีของทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทยังจะมีผลการดำเนินงานที่ดีต่อไปในอนาคตเนื่องจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ได้รับการรับรองและผ่านการพิสูจน์แล้วรวมถึงการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้งมองว่าในระหว่างปี 2563-2565 บริษัทจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 357-361 ล้านหน่วยต่อปี โดยประมาณการนี้อยู่บนพื้นฐานที่ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 77.6% โดยมีระดับความน่าจะเป็นที่คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้อยู่ที่ 50% หรือ P50 ทั้งนี้ โดยรวมแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ประมาณ 3.4-4.0 พันล้านบาทต่อปี
ความเสี่ยงจากรายได้ที่หดตัวลง
ตามประมาณการกรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงในช่วงปี 2563-2565 เนื่องจากส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้ง 36 โครงการจะเริ่มทยอยหมดอายุลงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 3 พันล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 4.1 พันล้านบาทในปี 2562 โดยส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าของทุกโครงการจะหมดอายุลงทั้งหมดในปี 2567 ซึ่งอาจทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1 พันล้านบาทในปี 2567 ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นต้องลงทุนในโครงการใหม่ๆ เพื่อทดแทนรายได้ที่จะหดตัวลง โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อยู่เช่นเดิม
สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทาย
ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทจะเผชิญกับความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญในการลงทุนโครงการใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจทั้งจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลง การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง และความเสี่ยงด้านผู้ซื้อไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในปัจจุบัน โอกาสการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีความน่าสนใจน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับยุคเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเสนออัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลง
การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองกำลังมีแนวโน้มเติบโต ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะหันมาเสนอขายไฟฟ้าให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนหรือที่เรียกว่า Private PPA มากขึ้น ซึ่งบริษัทก็มีแผนจะเข้าสู่ธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชนเช่นกันซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางธุรกิจที่สำคัญซึ่งจะเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังแสวงหาโอกาสในการเติบโตในต่างประเทศอีกด้วย
โครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งใหม่ในประเทศญี่ปุ่น
บริษัทได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ขนาด 480 เมกะวัตต์บนเกาะอูกูจิมะ (Ukujima) ประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการนี้มีบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น Kyudenko Corporation และ Kyocera Corporation เป็นผู้ถือหุ้นและบริษัทเองก็ถือหุ้นในสัดส่วน 17.9% ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 2.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ โครงการได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2562 และมีกำหนดเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ในปี 2566 นอกจากนี้ บริษัทยังพิจารณาที่จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นอีกหลายโครงการด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่เกิน 130 เมกะวัตต์
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความเสี่ยงในการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของประเทศและความเสี่ยงของผู้รับซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงสถานะเครดิตของผู้ร่วมลงทุนในโครงการ อย่างไรก็ตาม แผนลงทุนในประเทศญี่ปุ่นของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถชดเชยกระแสเงินสดที่จะหายไปในอนาคตจากส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในปัจจุบันที่จะหมดอายุลงได้
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้และสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
การคงอันดับเครดิตในครั้งนี้มาจากความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งต่อไปได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปีละ 3.0-3.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 บริษัทมีระดับหนี้สินที่ลดลงตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและนโยบายทางการเงินแบบระมัดระวังของผู้บริหาร ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 0.84 เท่า บริษัทได้ชำระคืนหนี้สินทางการเงินตามกำหนดจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือ 18% ในปี 2562 และยังคงลดลงมาอยู่ที่ 16% ในเดือนมีนาคม 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการซ่อมบำรุงประมาณ 100 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 และเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 3.4 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงไปอีกจนเหลือประมาณ 13% ในปี 2565 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 1 เท่า
บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดจำนวน 1.6 พันล้านบาทและมีหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดจำนวน 2 พันล้านบาทซึ่งมากพอสำหรับการชำระคืนหนี้หุ้นกู้จำนวน 2.2 พันล้านบาทที่จะถึงกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนธันวาคม 2563 จำนวน 1.7 พันล้านบาทและในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 500 ล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• ในช่วงปี 2563-2565 บริษัทจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 357-361 ล้านหน่วยต่อปี
• รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะอยู่ที่จำนวน 5.2 พันล้านบาทในปี 2563 จำนวน 5 พันล้านบาทในปี 2564 และจำนวน 4.7 พันล้านบาทในปี 2565
• ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงจะอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
• เงินลงทุนรวมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
• บริษัทต้องชำระคืนหุ้นกู้จำนวน 1.7 พันล้านบาทในปี 2563 จำนวน 2.2 พันล้านบาทในปี 2564 และจำนวน 1.3 พันล้านบาทในปี 2565
• บริษัทต้องจ่ายเงินปันผลปีละ 1.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้สูงกว่า 75% ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอย่างน้อยปีละ 3 พันล้านบาท และในสถานการณ์ที่บริษัทยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ดังนั้น การลงทุนในโครงการใหม่จึงไม่ควรที่จะส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีข้อจำกัดจากแรงกดดันที่เกิดจากส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่กำลังจะหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่ม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายให้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้อย่างต่อเนื่องซึ่งอาจเกิดจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างผลกำไรดีหรือบริษัทได้รับผลตอบแทนจำนวนมากจากการลงทุนในขณะที่บริษัทยังคงรักษางบดุลให้มีความแข็งแกร่งอยู่ได้
ในทางตรงกันข้าม ปัจจัยที่อาจทำให้มีการลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำกว่าคาดจนส่งผลต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือบริษัทไม่สามารถสร้างรายได้ทดแทนรายได้ที่กำลังหดตัวลง หรือหากบริษัทขยายธุรกิจด้วยการก่อหนี้ในระดับสูง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SPCG20DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
SPCG21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
SPCG22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,250 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
SPCG23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable