ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนโดย Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทย ตลอดจนประวัติผลงานในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่ นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทที่จะเติบโตจากการดำเนินธุรกิจแบบกึ่งครบวงจร (Vertically Integrated Business) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากปัจจัยหลายประการ อาทิ แนวโน้มความผันผวนของกำไรภายในประเทศซึ่งเกิดจากการที่บริษัทพึ่งพาสินค้าที่มีลักษณะเป็นโภคภัณฑ์ค่อนข้างมาก ตลอดจนราคาที่ผันผวนของวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ และการก่อหนี้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนมาก บริษัทมีความเสี่ยงเฉพาะตัวในอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับผู้ผลิตไก่รายอื่น ๆ เช่น ความเสี่ยงจากโรคระบาดในไก่ และความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกที่อยู่ในช่วงซบเซา
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ตลาดมีการกระจายตัวมากขึ้น
บริษัทกำลังมุ่งสู่การขยายตลาดให้ครอบคลุมทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศแต่ตลาดภายในประเทศยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ยอดขายในประเทศไทยคิดเป็น 79%-83% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2562 จนถึงในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทส่งออกเนื้อไก่ชำแหละแช่แข็งในปี 2562 จำนวน 53,823 ตัน ยอดส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 13% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในประเทศแถบยุโรปและเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นและจีน ทั้งนี้ บริษัทมียอดส่งออกในสัดส่วนถึง 17%-21% ของยอดขายรวมในปี 2562 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 13%-19% ในปี 2560-2561
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากยอดขายภายในประเทศของบริษัทจะปรับตัวลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาอยู่ที่ระดับ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และจะเติบโตเล็กน้อยเป็นประมาณ 2.3-2.5 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2464-2565 อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่ารายได้จากการส่งออกจะเติบโตที่ระดับ 4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาอยู่ที่ 5.3 พันล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 19% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2563 จากความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้นเกิดในช่วงที่มีการขาดแคลนสุกรจากผลของการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever -- ASF) ในหลายประเทศ ดังนั้น รายได้จากการส่งออกจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 5.1 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2565 เมื่อพิจารณาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก
บริษัทกำลังขยายสัดส่วนกลุ่มสินค้าไปยังประเภทอาหารปรุงสุกที่มีอัตรากำไรสูงกว่า โดยบริษัทมุ่งหวังที่จะขยายรายได้และเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายกลุ่มสินค้าและเพิ่มยอดสินค้าส่งออก
มีการกระจายตัวของสินค้าที่ดีขึ้น
บริษัทกลายมาเป็นผู้ผลิตไก่และสุกรแบบกึ่งครบวงจรจากต้นน้ำถึงผลิตภัณฑ์ขั้นต้นของปลายน้ำ กล่าวคือ บริษัทผลิตอาหารสัตว์ ผสมพันธุ์ไก่พ่อแม่พันธุ์ ฟักไข่ รวมไปถึงเลี้ยงไก่และสุกร บริษัทเลี้ยงไก่พ่อแม่พันธุ์ต่อเนื่องไปยังบรรพบุรุษในรุ่นอื่นรวมทั้งหมด 3 รุ่นในฟาร์มของตนเองซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี และสระแก้ว ในขณะที่การเลี้ยงไก่เนื้อและสุกรขุนนั้นดำเนินการภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ธุรกิจสุกรของบริษัทเข้าสู่การเป็นธุรกิจครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบ (Fully-integrated Business) บริษัทจึงวางแผนจะขยายงานสู่การแปรรูปสุกรภายในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ผลการดำเนินงานเริ่มฟื้นตัว
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปี 2562 จนถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 หลังจากที่บริษัทเผชิญกับภาวะอุปทานส่วนเกินที่เกิดในช่วงปี 2560-2561 โดยที่การแพร่ระบาดของโรค ASF ในหลายประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2563 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสุกรจนทำให้ราคาสุกรและไก่เนื้อปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลดลงยังส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอีกด้วย โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาทในปี 2562 จากระดับ 1.8 พันล้านบาทในปี 2561 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.8% ในปี 2562 จากระดับ 6.6% ในปี 2561 ส่วนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 นั้น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากมาอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 131% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16.4% จาก 8.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานในการประมาณการ ทริสเรทติ้งยังได้นำผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทั่วโลกมาประกอบการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม
ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าผลกระทบที่จะมีต่อผลประกอบการของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับปานกลางหากเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 3.2 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2565 และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
ภาระหนี้อยู่ระดับปานกลางในช่วงการลงทุน
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.1% ในปี 2562 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.8% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 จากเดิมที่ระดับ 58.8% ในปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแรงเพียงพอในการชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนงบลงทุนไว้ที่ 2.7-2.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งมากกว่าระดับ 1.3 พันล้านบาทในปี 2562 ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายลงทุนที่บริษัทวางแผนไว้นั้นจะครอบคลุมสำหรับการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจสุกร และการลงทุนที่ต่อเนื่องสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงธุรกิจไก่เนื้อ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 53% ในช่วงปี 2563-2565
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่เพียงพอ
สภาพคล่องของบริษัทคาดว่าจะยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงระยะเวลาเดียวกันที่จำนวน 1.69 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 390 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 4 พันล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 22%-24% ในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 7 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงประมาณ 6% ในปี 2563 แต่จะเติบโตเพียง 1% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
• อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 11%-12% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ในปี 2563-2565
• ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7-2.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจไก่และสุกรภายในประเทศได้ต่อไป โดยคาดว่าบริษัทจะรักษาสถานะเครดิตและสภาพคล่องที่เพียงพอเช่นในปัจจุบันเอาไว้ได้ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าแม้ว่าบริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงก็ตาม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจมีการปรับอันดับเครดิตของบริษัทเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทยังคงมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์และสถานะทางการตลาดต่อไปเช่นเดิมในขณะที่ยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 3.5 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงอย่างชัดเจนหรือผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องยาวนานในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ การลงทุนขยายกำลังการผลิตที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งจะทำให้ฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงก็จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TFG)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TFG251A: หุ้นกู้มีการค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable