ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มดีบีเอส (DBS Group) ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจในธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยของบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลาง ตลอดจนฐานทุน ภาระหนี้ และความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับเพียงพอ สถานะทางความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง และเงินทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในระดับเพียงพอ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มดีบีเอส
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มดีบีเอส ทั้งนี้ จากการที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย DBS Vickers Securities Holding Pte. (DBSVH) ซึ่งให้บริการด้านธุรกิจหลักทรัพย์ของกลุ่มดีบีเอสในประเทศสิงคโปร์นั้น บริษัทได้ปฏิบัติตามนโยบายการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มอย่างเคร่งครัด อีกทั้งบริษัทยังคงระบบการดำเนินงานที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่มโดยมีการดำเนินกลยุทธ์และกำหนดเป้าหมายทางการเงินตามแนวทางของกลุ่ม รวมไปถึงมีความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย บริษัทได้รับประโยชน์จากความแข็งแกร่งในธุรกิจธนบดีธนกิจ (Private Banking) ของกลุ่มมาพัฒนาธุรกิจบริหารความมั่งคั่งของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังคงดำรงสถานะในการให้การบริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยแก่ลูกค้าในเครือข่ายของกลุ่มดีบีเอสอีกด้วย โดยในปี 2562 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จากลูกค้าของกลุ่มดีบีเอสมีสัดส่วนคิดเป็น 87% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รวมของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับวงเงินสินเชื่อจากกลุ่มซึ่งถือเป็นการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทอีกด้วย
สถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจในธุรกิจหลักทรัพย์ในระดับปานกลางและมีสถานะทางธุรกิจในธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์ที่จำกัด ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ระดับ 2.8% หรืออยู่ในอันดับที่ 15 จากผู้ประกอบการ 37 รายในอุตสาหกรรม ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์และธุรกิจวานิชธนกิจยังคงจำกัดอยู่ที่ระดับ 0.9% ในปี 2562 และ 1.0% โดยเฉลี่ย 3 ปี (2560-2562) ตามลำดับ
การพึ่งพารายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งมีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศในระดับสูงนั้นยังคงเป็นแรงกดดันต่อการประเมินสถานะทางธุรกิจของบริษัท โดยการพึ่งพาดังกล่าวส่งผลให้รายได้ของบริษัทอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2563 รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มีสัดส่วนคิดเป็น 58% ของรายได้รวมของบริษัทเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 51% ในขณะที่รายได้ค่านายหน้าฯ จากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศคิดเป็น 47% ของรายได้ค่านายหน้ารวมของบริษัทในปี 2562
ส่วนปัจจัยในด้านบวกนั้น บริษัทมีฐานรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากความพยายามในการขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management Business) อย่างต่อเนื่องโดยให้ความสำคัญกับฐานลูกค้าในกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงผ่านทางแอปพลิเคชั่นสำหรับการบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุน “Wealth Box” อีกทั้งบริษัทยังได้เริ่มความร่วมมือด้านธุรกิจธนบดีธนกิจกับธนาคารดีบีเอสเพื่อขยายผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายเพื่อดึงดูดลูกค้าในกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งมากขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่อรายได้รวมของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการประเมินความหลากหลายทางธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทมีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็น 26% ของรายได้รวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 14% ในปี 2561
มีฐานทุนที่แข็งแกร่งแต่มีความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าการประเมินฐานทุนและภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ระดับประมาณ 15%-17% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงมุ่งเน้นธุรกิจที่ไม่ใช้ฐานเงินทุนจำนวนมากเพื่อที่จะดำรงฐานเงินทุนให้แข็งแกร่งแม้ว่าความสามารถในการทำกำไรจะอยู่ในระดับปานกลางก็ตาม ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 14.0% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อหนี้สินทั่วไปอยู่ที่ระดับ 36.9% ณ เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดที่ระดับ 7% อย่างไร
ก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไรของบริษัทจะยังคงอ่อนแอโดยจะมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 0%-1% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหลังจากการมีผลขาดทุนสุทธิจำนวนมากในปี 2562
บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 141 ล้านบาทในปี 2562 เทียบกับกำไรสุทธิที่ 95 ล้านบาทในปี 2561 โดยผลขาดทุนดังกล่าวเกิดจากผลขาดทุนสุทธิจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 83 ล้านบาทเป็นหลักซึ่งเป็นผลที่เกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่มาก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินเพื่อให้ธุรกรรมแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้รับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับธุรกรรมดังกล่าวจากกลุ่มดีบีเอส สิงคโปร์ ในรูปเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นซึ่งส่งผลให้เกิดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทจึงได้เพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจกับลูกค้าบางรายซึ่งมีส่วนทำให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทลดลง 28% ในปี 2562 ในการนี้ บริษัทจึงได้พัฒนานโยบายการบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อป้องกันประเด็นปัญหาการซื้อขายและการดำเนินธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ในส่วนของต้นทุนนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมจากการมีค่าใช้จ่ายพนักงานที่สูงกว่าเนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งซึ่งต้องให้การบริการที่ใส่ใจลูกค้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศยังคาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ณ เดือนธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิที่ระดับ 81.3% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสหากรรมที่ระดับ 65.1% ในระยะยาวทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางเนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มดีบีเอสในประเทศไทยในการให้บริการแก่ฐานลูกค้าของกลุ่มและเพื่อให้การดำเนินงานและกลยุทธ์ของกลุ่มในภูมิภาคบรรลุเป้าหมาย
สถานะความเสี่ยงที่แข็งแกร่งจากนโยบายของกลุ่ม
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะความเสี่ยงที่เข้มแข็งได้ต่อไป โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าการที่บริษัทปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงจากกลุ่มนั้นจะช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตและความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์เนื่องจากทางกลุ่มมีนโยบายการบริหารจัดการความเสี่ยงในธุรกิจให้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Lending Business) และธุรกิจลงทุนด้วยบัญชีของบริษัท (Proprietary Trading Business) ที่รัดกุม นอกจากนี้ สถานะความเสี่ยงที่แข็งแกร่งของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในระดับต่ำเนื่องจากบริษัทมุ่งเน้นในการขยายฐานรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่สม่ำเสมอจากการขยายธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง ในขณะเดียวกัน ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี 2562 ยังผลักดันให้บริษัทปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของฝ่ายงานสนับสนุนและการตรวจจับธุรกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติให้ดียิ่งขึ้น สิ่งดังกล่าวน่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลขาดทุนจากความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
สถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
บริษัทมีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอแม้ว่าอัตราส่วนแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพจะอยู่ในระดับปานกลางที่ประมาณ 79.2% และอัตราส่วนความครอบคลุมของสภาพคล่องในระดับอ่อนแอที่ประมาณ 0.4 เท่าโดยเฉลี่ย 5 ปี (2561-2565) ตามเกณฑ์ของทริสเรทติ้งก็ตาม โดยสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทเข้มแข็งยิ่งขึ้นจากการได้รับวงเงินสินเชื่อจากบริษัทแม่ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท อีกทั้งบริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศหลายแห่งเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจำนวน 35 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จาก DBSVH และวงเงินสินเชื่ออีกจำนวน 3.6 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินในประเทศ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 มีดังนี้
• ส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%-4%
• อัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.04%-0.05%
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 80%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่มดีบีเอสและจะยังคงดำเนินงานโดยเป็นส่วนที่สำคัญในธุรกิจหลักทรัพย์ของกลุ่มดีบีเอสในภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ในอันดับสูงที่สุดที่ระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากอันดับเครดิตของธนาคารดีบีเอสปรับลดลงหลายขั้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดกับโครงโครงสร้างและนโยบายของกลุ่มที่ทำให้สถานะในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของบริษัทที่มีต่อกลุ่มดีบีเอสเปลี่ยนแปลงไปก็อาจส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Securities Company Rating Methodology, 9 เมษายน 2563
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSVT)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable