ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งได้รับแรงผลักดันจากธุรกิจการซื้อและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพและผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งของบริษัทลูกหลักรายสำคัญคือ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) รวมถึงสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท
ในขณะที่การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนภาระหนี้ที่สูง และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของบริษัทอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความร่วมมือภายในกลุ่มที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อรองรับโครงสร้างการกระจายตัวของธุรกิจ
สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทมาจากการกระจายตัวของแหล่งรายได้ในระดับปานกลางโดยบริษัทเน้นธุรกิจค้าปลีก (Retail) และธุรกิจการเงิน (Finance) ในปี 2562 รายได้รวมของบริษัทส่วนใหญ่มาจาก บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ (Gadget) (คิดเป็น 64% ของรายได้รวม) บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดเก็บหนี้และซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร (21%) บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (Retail Lending)(7.5%) และ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (7.5%) นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มอีกคือ บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด แม้จะมีรายได้จากหลากหลายบริษัทในกลุ่ม แต่กำไรหลักของกลุ่มก็มาจากบริษัทลูกเพียงไม่กี่แห่งโดยบริษัทหลักคือบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส
เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มเจมาร์ท หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทคือการส่งเสริมการผสานประโยชน์จากความร่วมมือกันของบริษัทภายในกลุ่ม ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มมีความร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าวคือการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ผ่านทางเครือข่ายของบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย ในขณะเดียวกัน บริษัท เจ ฟินเทค ก็เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อแบ่งจ่าย (Installment Loan) และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loans) ให้แก่ลูกค้าของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ส่วนบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ก็เป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค และบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทยและซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากทั้ง 2 บริษัทมาบริหาร ในขณะที่บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังให้การสนับสนุนบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส ด้วยการช่วยปรับปรุงและขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่รอการขาย เป็นต้น
ทริสเรทติ้งมองว่าการผสานพลังทางธุรกิจกันภายในกลุ่มนั้นสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลานานในการที่จะส่งผลทำให้แต่ละธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน กลุ่มเจมาร์ทก็ยังคงจำเป็นต้องมีการบริหารธุรกิจและเงินทุนภายในกลุ่มที่ดีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะธุรกิจ
ธุรกิจบริหารหนี้สินช่วยสนับสนุนผลการการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่ม
ธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิส เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดและสร้างรายได้ที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มเจมาร์ท โดยในปี 2562 บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังคงนำส่งผลกำไรส่วนใหญ่ให้แก่กลุ่มด้วยผลกำไรสุทธิที่ระดับ 649 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของกำไรสุทธิของกลุ่มเจมาร์ท
นอกจากนี้ ความสำคัญของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังเห็นได้จากการที่บริษัทได้รับการจัดสรรเงินลงทุนจากกลุ่มในปี 2562 ในสัดส่วนมากกว่า 90% ของกลยุทธ์การลงทุนรวมของกลุ่มอีกด้วย โดยแนวโน้มการได้รับการจัดสรรเงินลงทุนที่สูงกว่าบริษัทย่อยรายอื่นในกลุ่มดังกล่าวนี้คาดว่าจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 จากประกาศแผนธุรกิจของกลุ่มที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้
ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 นับว่าเป็นความท้าทายต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มเจมาร์ท ที่ผ่านมาถือว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่รับมือได้เมื่อดูจากผลการจัดเก็บหนี้ที่ลดลงประมาณ 10% ซึ่งยังถือว่าเป็นผลกระทบที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยในปี 2554
ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ชะลอตัวปานกลาง
ผลการดำเนินงานในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดำเนินการโดยบริษัทเจมาร์ท โมบาย ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรม ในปี 2562 ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง (รวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 6.78 พันล้านบาท ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทยังคงมีรายได้ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 1.44 พันล้านบาท
แม้ว่ารายได้จะลดลง แต่ในปี 2562 บริษัทเจมาร์ท โมบาย มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 91 ล้านบาท ภายหลังจากการขาดทุนในปี 2561 บริษัทเจมาร์ท โมบาย ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นในด้านประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรให้มากขึ้นโดยมีการปิดร้านสาขาที่ไม่ทำกำไรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการควบคุมต้นทุน นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากสินค้าล้าสมัย รวมไปถึงการลดสัดส่วนการขายส่งให้ลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีอัตราผลกำไรที่ต่ำอีกด้วย
พันธมิตรใหม่ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย
เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่คือ KB Kookmin Card Co., Ltd. เพื่อลงทุนในธุรกิจสินเชื่อซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท เจ ฟินเทค KB Kookmin Card เป็นบริษัทที่ให้บริการบัตรเครดิตในสาธารณรัฐเกาหลีของ KB Financial Group บริษัทดังกล่าวได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นของบริษัท เจ ฟินเทค ในสัดส่วน 51% ภายในปี 2563 นี้ ปัจจุบันธุรกรรมดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ Financial Supervisory Service ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยหลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น งบการเงินของบริษัท เจ ฟินเทค จะไม่ถูกนำมารวมในการจัดทำงบการเงินรวมของกลุ่มเจมาร์ทอีกต่อไป ซึ่งน่าจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของบริษัทเจมาร์ทดีขึ้นเนื่องจากรายได้ของบริษัท เจ ฟินเทค คิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.4% ของรายได้ในงบการเงินรวมของบริษัทเจมาร์ทแต่กลับมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญของสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนถึง 38.8% ของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทเจมาร์ทในปี 2562 นอกจากนี้ ธุรกรรมดังกล่าวยังน่าจะทำให้ภาระหนี้ของกลุ่มลดลงในระยะสั้นเนื่องจากบริษัทจะได้รับเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค กลับคืนมาประมาณ 2–3 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งมองว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยทำให้สถานะทางการเงินของบริษัท เจ ฟินเทค ค่อย ๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในระยะสั้นทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัท เจ ฟินเทค จะได้ประโยชน์จากต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำลงเป็นลำดับแรกจากข้อตกลงที่ KB Kookmin Card จะให้การค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค จากสถานะที่แข็งแกร่งของอันดับเครดิตของ KB Kookmin Card ที่ระดับ “A2” ซึ่งจัดโดย Moody’s Investors Service นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความเชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงของ KB Kookmin Card จะช่วยยกระดับคุณภาพสินเชื่อของบริษัท เจ ฟินเทค ทั้งสินเชื่อคงค้างและสินเชื่อที่จะปล่อยใหม่ให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน การร่วมทุนในครั้งนี้ยังจะเป็นโอกาสให้ KB Kookmin Card สามารถเจาะเข้าสู่ตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Consumer Lending) ในประเทศไทยได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังไม่คาดหวังว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะสร้างส่วนแบ่งผลกำไรที่มีสาระสำคัญในระยะสั้นเพราะความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ และการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานาน
สัดส่วนรายได้จากธุรกิจของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังมีความไม่แน่นอน
บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังคงมีสัดส่วนรายได้ที่ส่งให้แก่กลุ่มเจมาร์ทที่ไม่มากซึ่งคิดเป็นเพียง 8% ของรายได้รวมของกลุ่มและ 2% ของกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2562 ในมุมมองทริสเรทติ้งเห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังมีความผันผวนเมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่ผู้ประกอบการค้าปลีกได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท เป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Leasing Space) เช่น ศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) และพื้นที่สินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (“IT Junction”) ในห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) คือ ศูนย์การค้าบิ๊กซี และยังเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายคือโครงการคอนโดมิเนียม “Newera” ด้วย โดยในปี 2562 ผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ปรับตัวดีขึ้นจากการโอนคอนโดมิเนียม Newera ได้บางส่วน ส่วนยูนิตที่เหลือนั้นผู้บริหารคาดว่าจะโอนเสร็จสิ้นได้ทั้งหมดภายในปี 2563 นี้ การที่บริษัทยังไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ รายได้ในอนาคตของบริษัทจึงจะมาจากรายได้ค่าเช่า Community Mall และ IT Junction เป็นหลัก นอกเหนือจากโครงการ Community Mall จำนวน 3 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 94% แล้ว ณ สิ้นปี 2562 บริษัทยังมีโครงการใหม่ภายใต้ชื่อแบรนด์ “JAS Village” ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครที่มีแผนจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และบนถนนคู้บอน-รามอินทราที่จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นแหล่งรายได้ของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมุติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
ในขณะเดียวกัน IT Junction ซึ่งบริษัทให้เช่าช่วงพื้นที่แก่ลูกค้ารายย่อยขนาดเล็กเพื่อจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีพื้นที่ให้เช่าลดลงเหลือ 7,907 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในปี 2562 จาก 9,848 ตร.ม. ในปี 2561 ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีสาขาของ IT Junction ลดลงเหลือ 36 สาขาจาก 46 สาขา ณ เดือนมีนาคม 2562 อันเนื่องมาจากการยกเลิกสาขาที่ไม่ทำกำไร โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราการเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 85% ซึ่งเท่ากับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะคงอยู่ในระดับสูงจากแผนธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมากสำหรับบริษัทลูกรายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซึ่งบริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารที่จำนวน 4-5 พันล้านบาทต่อปี เมื่อมองในแง่บวก การลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท เจ ฟินเทค ลงจะช่วยลดภาระหนี้ของบริษัทลงในระยะสั้น ทั้งนี้ ในปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ 3.9 เท่า ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2565) ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.5 เท่า ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าผลงานการจัดเก็บหนี้ของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังจะอยู่ในระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยแหล่งสภาพคล่องส่วนใหญ่ตามงบการเงินรวมจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 3.5-4 พันล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 2.25 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ในขณะที่บริษัทจะมีภาระการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีบวกกับเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ กลุ่มเจมาร์ทยังจะมีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระรวมทั้งสิ้นอีกประมาณ 1.83 พันล้านบาทภายในปีนี้อีกด้วย ซึ่งภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระส่วนใหญ่นั้นคาดว่าจะใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารและออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทน ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทเจมาร์ทจะได้รับเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค คืนมาประมาณ 2.70 พันล้านบาทซึ่งจะช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทได้ในระยะสั้น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทเจมาร์ทดังต่อไปนี้
• บริษัทจะมีรายได้รวม 1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
• อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินจะอยู่ที่ระดับ 50%-60% ของธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ 10%-15% และของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 15%-19%
• เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจจัดเก็บหนี้และการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเอาไว้ได้ ในขณะที่สถานะทางการตลาดในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทลูกรายอื่น ๆ เช่น บริษัท เจ ฟินเทค และบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะเวลาอันใกล้เมื่อพิจารณาจากสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทเจมาร์ทในปัจจุบัน ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือของบริษัทลูก หรือจากการลงทุนในเชิงรุกซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จนระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่สูงเกินกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable