ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับดับเครดิตองค์กรของบริษัทมีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ ในฐานะเป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักสำคัญของบริษัทเจมาร์ท บริษัทเป็นผู้สร้างกำไรในสัดส่วนสูงสุดในหมู่บริษัทในกลุ่มเจมาร์ท ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัทและของบริษัทเจมาร์ทก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทยังสะท้อนถึงการเติบโตที่สม่ำเสมอของรายได้และสถานะทางการตลาด ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งเกิดจากความเชี่ยวชาญในการบริหารและติดตามหนี้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่ลูกหนี้ของบริษัทเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวซึ่งปกติอยู่ในระดับต่ำได้ เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทได้เริ่มขยายสู่ธุรกิจใหม่คือธุรกิจประกันวินาศภัย (Non-life Insurance) ซึ่งความสำเร็จในธุรกิจดังกล่าวยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ผลต่อไป
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเจมาร์ท
ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าบริษัทเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญของกลุ่มเจมาร์ทเนื่องจากบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกในด้านการติดตามหนี้ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญต่อธุรกิจการเงินภายในกลุ่มเจมาร์ทซึ่งช่วยสนับสนุนนโยบายการกระจายธุรกิจของกลุ่มอีกด้วย บริษัทเป็นผู้ประกอบการชั้นแนวหน้าในประเทศไทยที่ลงทุนและบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันซึ่งซื้อมาจากสถาบันการเงิน บริษัทยังเป็นผู้ให้บริการรายสำคัญในการจัดเก็บหนี้ให้แก่บริษัทต่าง ๆ และสถาบันการเงินอีกหลากหลายแห่งด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีการขยายบริการและฐานลูกค้าโดยใช้ฐานข้อมูลลูกค้าของกลุ่มเจมาร์ท โดยในปี 2562 กำไรสุทธิของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 81% ของงบการเงินรวมของกลุ่มเจมาร์ท
เศรษฐกิจที่อ่อนแอจะช่วยสนับสนุนการซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพและรายได้ของบริษัท
บริษัทมีแผนการจะซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มอีกโดยใช้งบประมาณมากกว่า 4 พันล้านบาทต่อปีในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจในระยะใกล้จะทำให้ปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มสูงขึ้นในตลาดเนื่องจากสถาบันการเงินหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะนำสินเชื่อเหล่านี้ออกมาเร่งขายเพื่อเป็นการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพ ในปี 2562 บริษัทซื้อหนี้เข้ามาบริหารคิดเป็นมูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาทโดยใช้เงินลงทุนไปจำนวน 3.32 พันล้านบาท (โดยมีส่วนลด 88.5%) และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทยังได้ซื้อหนี้อีกจำนวนหนึ่งที่มูลค่า 5.81 พันล้านบาทโดยใช้เงินลงทุนไป 657 ล้านบาท (มีส่วนลด 88.7%) บริษัทมีรายได้จากการจัดเก็บหนี้จากหนี้ที่รับซื้อมาบริหารคิดเป็นมูลค่าจำนวน 1.89 พันล้านบาทในปี 2562 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 29% จากปี 2561 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้น 25% เป็น 525 ล้านบาท
ความเชี่ยวชาญในการติดตามหนี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตและเสริมประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทจะมีรายได้จากค่าบริการติดตามเร่งรัดหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า บริษัทคงสถานะผู้นำในการให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้สินมาโดยตลอดซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีฐานข้อมูลการติดตามหนี้มามากกว่า 20 ปีอันมีส่วนทำให้บริษัทเติบโตและมีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ บริษัทยังสามารถรักษาลูกหนี้ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามจากผู้ว่าจ้างโดยมีภาระหนี้คงค้างที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
กลุ่มลูกค้าหลักที่บริษัทได้รับการว่าจ้างให้บริหารหนี้และติดตามเร่งรัดหนี้สินประกอบด้วยสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Consumer Lending) และอื่น ๆ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 สัดส่วนลูกหนี้ที่บริษัทรับผิดชอบประกอบด้วยธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ในสัดส่วน 13% กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (Auto Hire-purchase) 50% กลุ่มสินเชื่อบ้าน (Home Loan) 7% กลุ่มบัตรเครดิต (Credit Card) 18% และหนี้สินเชื่ออื่น ๆ อีก 12%
รายได้จากค่าบริการติดตามเร่งรัดหนี้สินของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 15% ของรายได้รวมในปี 2562 โดยเพิ่มขึ้น 26% จากปีก่อนหน้าเป็น 364 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 รายได้จากค่าบริการติดตามเร่งรัดหนี้สินอยู่ที่ 97 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราค่าบริการและความสำเร็จในการจัดเก็บหนี้ลดลงเหลือ 4.8% ในปี 2562 จาก 9.3% ในปี 2561 อันเป็นผลเนื่องมาจากอายุของหนี้ที่ตามเก็บนั้นยาวนานกว่าภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง ในไตรมาสแรกของปี 2563 อัตราค่าบริการและความสำเร็จเพิ่มกลับมาอยู่ที่ระดับ 10.1% อัตราค่าบริการจัดเก็บหนี้ก็ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 10.3% ในปี 2562 จาก 10.4% ในปี 2561
ปีแห่งความท้าทายต่อผลการดำเนินงานของบริษัท
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อ่อนตัวอยู่แล้วให้แย่ลง สภาพที่อ่อนแอของภาวะเศรษฐกิจจะสร้างความท้าทายต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า ความสามารถในการบริหารกระแสเงินสดจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานและความสามารถในการลงทุนของบริษัทในการซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่รับมือได้โดยผลการจัดเก็บหนี้ของบริษัทลดลงประมาณ 10% ซึ่งสำหรับบริษัทแล้ว ผลกระทบดังกล่าวยังถือว่าน้อยกว่าช่วงวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยในปี 2554
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ากำไรของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 10% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า การลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่องจะช่วยส่งเสริมรายได้ของบริษัทให้สูงขึ้น ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการจัดเก็บหนี้จากหนี้ที่รับซื้อมาบริหารคิดเป็น 76% ของรายได้รวม มีรายได้จากค่าบริการติดตามเร่งรัดหนี้สิน 15% และมีรายได้จากธุรกิจประกันภัย 9%
ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
การขยายการลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อพิจารณาภายใต้สมมุติฐานที่เงินลงทุนนั้นมาจากการกู้ยืม ในปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่าจาก 1.1 เท่าในปี 2561 ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะลงทุนซื้อหนี้เข้ามาบริหารประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 3 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ของบริษัทได้ ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายก็เพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่าในปี 2562 จาก 1.7 เท่าในปี 2561 ในการนี้ หากความสามารถในการจัดเก็บหนี้ของบริษัทลดลงก็อาจจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจส่งผลในแง่ลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระยะ 3 ปีข้างหน้าดังต่อไปนี้
• ลูกหนี้คงค้างที่บริษัทได้รับมอบหมายให้ติดตามจากผู้ว่าจ้างจะมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี
• เงินลงทุนในหนี้ที่บริษัทซื้อเข้ามาบริหารจะคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.5-5 พันล้านบาทต่อปี
• อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 45%-50%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีสถานะเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเจมาร์ทและยังคงมีบทบาทสำคัญในการติดตามและจัดเก็บหนี้ที่สอดคล้องกับนโยบายโดยรวมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและยังคงสร้างผลการดำเนินงานที่น่าพอใจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป อีกทั้งการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารและการติดตามหนี้จะยังคงเติบโตในอัตราที่สม่ำเสมอโดยมีผลพิสูจน์ความสำเร็จจากการมีผลการดำเนินงานทั้งในด้านการดำเนินงานและการเงินที่อยู่ในระดับน่าพอใจ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้หากสถานะเครดิตของบริษัทเจมาร์ทมีการเปลี่ยนแปลง หรือสถานะของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเจมาร์ทนั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable