ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “A” รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน (MINT18PA) ของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” ด้วย
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทยังคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานต่อไปในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจโรงแรมจะยังคงได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องการเดินทางต่อไปอีกระยะหนึ่ง แนวทางการดำเนินชีวิตด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมซึ่งเกิดจากความกลัวการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ก็อาจเป็นปัจจัยด้านลบอีกประการหนึ่งที่ขัดขวางการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม ดังนั้น ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางธุรกิจจึงเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าสถานะเครดิตของบริษัทจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันในระยะปานกลางต่อไป
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็งของบริษัทจากการมีแบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่งและทำเลที่ตั้งของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารที่ครอบคลุม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะอ่อนแอลงเป็นอย่างมากในปี 2563 ก่อนที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2565 สู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทได้ดำเนินนโยบายลดต้นทุนที่เข้มงวดหลายวิธีเพื่อลดผลขาดทุนในช่วงเวลาที่อุปสงค์อ่อนแอยาวนาน บริษัทยังตัดสินใจงดการหยุดจ่ายเงินปันผลและการเพิ่มทุนจำนวน 1 หมื่นล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้น ช่วยบรรเทาผลกระทบจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2563 ที่คาดว่าจะรุนแรง นอกจากนี้ บริษัทยังได้เตรียมความพร้อมในด้านแหล่งเงินทุนไว้หลายแหล่งเพื่อเสริมสถานะสภาพคล่องและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด-19 ต้องใช้เวลา
ธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและเริ่มเปิดประเทศในระดับหนึ่งแล้ว แต่มาตรการจำกัดการเดินทางในหลายรูปแบบก็ยังคงมีอยู่และจะเป็นปัจจัยจำกัดการเดินทางในหลายไตรมาสข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางระหว่างประเทศที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมง นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็นที่ปริมาณเที่ยวบินจะลดลงอย่างมากจากการที่หลาย ๆ สายการบินประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งอาจเป็นปัจจัยขัดขวางการฟื้นตัวอีกด้วยเช่นกัน และเมื่อพิจารณาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ในการเดินทางแล้ว ทริสเรทติ้งประเมินว่าธุรกิจโรงแรมจะใช้เวลาอย่างน้อย 24 เดือนในการที่จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของจะลดลงประมาณ 60% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณ 30% ส่วนในปี 2565 นั้น รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 10% ทั้งนี้ สมมติฐานดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานที่บริษัทจะกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมทั้งหมดอย่างเต็มรูปแบบได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้หรือในไตรมาสแรกของปีหน้า โดยที่อุปสงค์ต่อโรงแรมจะมาจากการเดินทางภายในประเทศหรือในภูมิภาคเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมของ NH Hotels Group SA (NHH) ในยุโรป สำหรับโรงแรมของบริษัทในประเทศไทยหรือในเอเชียนั้น ทริสเรทติ้งมองว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปได้ช้ากว่าในยุโรปเนื่องจากโรงแรมของบริษัทในภูมิภาคดังกล่าวเป็นโรงแรมในระดับหรูที่เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวในท้องที่ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของธุรกิจโรงแรมแบบ Management Letting Rights (MLR) จะยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ก็จะอยู่ในอัตราที่เร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก
ธุรกิจร้านอาหารยังคงเผชิญกับความท้าทาย
ธุรกิจร้านอาหารของบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และมาตรการปิดเมืองในตลาดหลัก ๆ ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ประเทศไทย ออสเตรเลีย และจีนด้วยเช่นกัน บริษัทได้มีการพัฒนาระบบให้บริการส่งอาหารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีส่วนสำคัญในการบรรเทาผลกระทบดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการดำเนินธุรกิจร้านอาหารของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 และการแข่งขันที่รุนแรงตามธรรมชาติของธุรกิจต่อไป
ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้ของบริษัทจากธุรกิจร้านอาหารจะลดลงประมาณ 20% ในปี 2563 และจะลดลงประมาณ 10% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะกลับสู่ภาวะปกติในปี 2565 โดยที่การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ยอดขายจากร้านเดิมของบริษัทจะยังคงอ่อนตัวและอาจต้องมีการปิดสาขาบางแห่งลง ในขณะที่การขยายสาขาใหม่ก็ยังเป็นไปได้ไม่เต็มที่นักจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
การลดต้นทุนจะช่วยสนับสนุนกระแสเงินสด
ด้วยรายได้ที่ลดลงอย่างมากทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องพยายามลดต้นทุนเพื่อที่จะลดผลกระทบจากการหดตัวของรายได้บางส่วน แม้บริษัทจะมีความพยายามในการลดต้นทุนลง 25%-30% ในปี 2563 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจโรงแรม แต่บริษัทก็มีสัดส่วนโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในภาวะที่อุปสงค์ยังคงชะลอตัวเช่นนี้
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทในปี 2563 จะลดลงราว ๆ 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งก็ยังถือว่าต่ำกว่าในปี 2562 ประมาณ 20% และประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับในปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงมากกว่ารายได้ที่ลดลงในปี 2563 อันเนื่องมาจากการมีภาระค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 70% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังคงน้อยกว่าในปี 2562 ประมาณ 20% และคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อันเป็นผลจากการที่ธุรกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการควบคุมต้นทุนที่เข้มงวดของบริษัท
สถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงได้รับการบรรเทาจากการเพิ่มทุน
การลดลงที่รุนแรงของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเป็นอย่างมากและทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการลดภาระหนี้ของบริษัทยาวนานขึ้น อย่างไรก็ดี แผนการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและการออกหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและมีประกันลักษณะคล้ายทุนจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินและสนับสนุนโครงสร้างเงินทุน รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่บริษัทภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดทางการเงินต่าง ๆ
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2663 และจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 7 เท่าในปี 2564 และหลังจากนั้นจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 6.5 เท่าในปี 2565 โดยที่ทริสเรทติ้งได้รวมการคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไปตามแผนการปรับงบดุลของบริษัท ทั้งนี้ หนี้สินทางการเงินได้รับการปรับปรุงด้วยภาระค้ำประกัน รวมทั้งภาระผูกพันที่มีกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในสัญญาเช่าดำเนินงาน และหนี้สินอันเกิดจากตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (Perpetual Securities) ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งพิจารณาให้เงินต้นคงค้างของหุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นทุน 50% และอีก 50% เป็นหนี้สินทางการเงิน ในขณะที่หุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและมีประกันลักษณะคล้ายทุนจำนวนรวม 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น ทริสเรทติ้งถือว่าเป็นหนี้สินทางการเงินทั้งจำนวน
การรักษาเงินสดสนับสนุนสถานะสภาพคล่อง
นอกเหนือจากการเพิ่มทุนและการออกหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิและมีประกันลักษณะคล้ายทุนแล้ว บริษัทยังมีความพยายามในการรักษาเงินสดและเสริมสถานะสภาพคล่องให้เข้มแข็งอีกด้วย และคาดว่าเสริมให้บริษัทมีเงินสำรองเพียงพอที่จะสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระยะสั้นไปจนตลอดปี 2564 ได้
ณ เดือนเมษายน 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือจำนวนประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนอีกจำนวนประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ NHH ก็เพิ่งได้รับเงินกู้จำนวน 250 ล้านยูโรเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานติดลบเล็กน้อยในปี 2563 นี้ และจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564
สำหรับในปี 2563 นั้น บริษัทได้ลดแผนลงทุนลงประมาณ 7 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทและได้ยกเลิกการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.3 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระในช่วงที่เหลือของปี 2563 รวมประมาณ 9.6 พันล้านบาท รวมทั้งยังมีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานประมาณ 5-6 พันล้านบาท และมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 6-7 พันล้านบาท ส่วนในปี 2564 นั้น บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท มีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท และมีแผนการลงทุนประมาณ 1.0-1.2 หมื่นล้านบาท
หากการฟื้นตัวของธุรกิจเป็นไปตามที่คาดการณ์ ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะสามารถยืนหยัดผ่านพ้นช่วงภาวะที่ธุรกิจถดถอยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563-2564 ไปได้ นอกจากนี้ การที่บริษัทเป็นเจ้าของสินทรัพย์ประเภทโรงแรมจำนวนมากนั้นยังจะช่วยให้บริษัทสามารถขายสินทรัพย์บางส่วนออกไปเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องในยามจำเป็นได้อีกด้วย ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทสำรองเงินสดและรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูงและหวังให้บริษัทมีโอกาสในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้เพียงพอด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของและเช่าจะลดลงประมาณ 60% ในปี 2563 และจะปรับดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณ 30% หลังจากนั้นในปี 2565 จะอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 ประมาณ 10%
• รายได้จากธุรกิจร้านอาหารจะลดลงประมาณ 20% ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นในปี 2564 แต่ยังคงต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 10% ก่อนที่จะกลับสู่ภาวะปกติในปี 2565
• รายได้รวมของบริษัทในปี 2563 จะลดลง 50% จากในช่วงเดียวกันในปี 2562 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 1.2 แสนล้านบาทในปี 2565
• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2563 จะลดลงจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 70% และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังคงน้อยกว่าในปี 2562 ประมาณ 20% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2565
• ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ 1.0-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทยังคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานต่อไปในปี 2563-2564 เนื่องจากยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูงที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจอันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเปลี่ยนมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบริษัทสามารถดำรงสถานะสภาพคล่องเอาไว้ได้อย่างเพียงพอที่จะรองรับภาวะผันผวนใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือคุณภาพเครดิตของบริษัทเสื่อมถอยลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ หรือสถานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 12 กันยายน 2561
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MINT213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 2,800.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
MINT213B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 480.90 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
MINT213C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,019.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
MINT21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 300.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
MINT223A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 4,079.70 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
MINT223B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 3,620.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
MINT228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 2,700.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
MINT243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 4,635.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
MINT243B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 2,165.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
MINT249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,000.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A
MINT255A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 4,000.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A
MINT283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,000.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A
MINT293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,815.40 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
MINT293B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 5,684.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A
MINT313A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,200.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
MINT313B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,570.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
MINT313C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 2,430.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2574 A
MINT329A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 1,000.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 A
MINT343A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 3,070.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 A
MINT343B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกัน 2,430.00 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2577 A
MINT18PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 15,000.00 ล้านบาท BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative