ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “AA-” จาก “AA” โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ การลดอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ถดถอยลงและความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้อันเกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจสินค้าแฟชั่นที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ
อันดับเครดิตที่ระดับ “AA-” ยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำในเครือสหกรุ๊ปมาอย่างยาวนาน รวมถึงสถานะในการเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มสินค้าชุดชั้นใน และการมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ในการประเมินอันดับเครดิตนั้น ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงจุดแข็งทางการเงินของบริษัทที่มีหนี้สินทางการเงินในระดับต่ำจากการมีนโยบายทางการเงินที่มีความระมัดระวัง รวมถึงการมีสภาพคล่องที่เพียงพอและมีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับสูงอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
รายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและกำไรต่ำกว่าที่คาดไว้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่าน ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ บริษัทยังต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งจากสินค้าภายใต้ตราสัญลักษณ์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและจากผู้ผลิตรายย่อยในท้องถิ่นที่จำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย บริษัทมียอดขายรวมในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 1.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.4% จากระดับประมาณ 1.24 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2561 และปี 2560 นอกจากนี้ รายได้ของบริษัทก็ปรับลดลงไปอีกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยลดลง 27.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 2.14 พันล้านบาท
ยอดขายสินค้าแฟชั่นได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2563 นั้น ยอดขายสินค้าในทุกสายผลิตภัณฑ์ของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยยอดขายผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในลดลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดขายเสื้อผ้าบุรุษลดลง 29% และสินค้าเครื่องสำอางลดลง 20%
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายของบริษัทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 จะลดลงไปอีกเนื่องจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปบางแห่งซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายหลักของบริษัทจำเป็นต้องปิดดำเนินการชั่วคราวเป็นระยะเวลานานประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงน่าจะส่งผลทำให้ธุรกิจสินค้าแฟชั่นฟื้นตัวช้าและจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทตามไปด้วย
กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงยิ่งขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาด โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานในปี 2562 อยู่ที่ 71 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากระดับ 244 ล้านบาทในปี 2561 และ 124 ล้านบาทในปี 2560 ในขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 114 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของระดับกำไรที่เคยทำได้ที่ 330-430 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2559 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 2.7% ในปี 2562 และ -0.3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีรายได้ลดลงในขณะที่ยังมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในระดับสูง
ในช่วงปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไป ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2563 จะลดลงไปประมาณ 35% และจะค่อย ๆ เพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2564-2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของรายได้อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะกลับไปยังระดับที่เคยทำได้ในอดีต เมื่อพิจารณาจากรายได้ที่คาดว่าจะปรับลดลงแล้ว ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะติดลบในปี 2563 และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นมาอยู่ในช่วงระดับ 2.6%-3.0% นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้บริษัทมุ่งเน้นการบริหารจัดการสินค้าคงคลังเพื่อลดระดับสต๊อคสินค้าส่วนเกินในช่วงที่สภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย
การใช้จ่ายของภาคเอกชนจะหดตัว
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 หดตัวลง 1.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนถึงการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกสินค้าและบริการ ถึงแม้ว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้น 3% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่อัตรา 4.8% จากประมาณการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนในปี 2563 จะหดตัว -1.7% ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมากจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index -- CCI) ของไทยในเดือนเมษายนลดลงต่ำสุดมาอยู่ที่ระดับ 47.2 จากระดับ 50.3 ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งดัชนีดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 14 เดือนติดต่อกันจากระดับ 75-85 ในช่วงปี 2562 นอกจากนี้ ดัชนียอดขายปลีก (Retail Sales Index -- RSI) ก็หดตัวลง 8.3% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 โดยคาดว่าดัชนียอดขายปลีกที่ไม่รวมการจำหน่ายสินค้าออนไลน์และ/หรือจำหน่ายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะลดลงในปี 2563
ยอดขายสินค้าแฟชั่นมีความผันแปรไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในปี 2562 มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าลดลง 11.7% ในขณะเดียวกัน มูลค่าตลอดของเสื้อผ้าบุรุษที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าก็หดตัว 6.3% ในปี 2562 และลดลงอีก 24.7% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อนึ่ง สศช. ระบุว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนในส่วนของสินค้าประเภทเสื้อผ้าในไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นหดตัวลง 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ายอดขายสินค้าแฟชั่นในปี 2563 จะได้ผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่ามูลค่าตลาดของเสื้อผ้าบุรุษและชุดชั้นในสตรีน่าจะหดตัวลง นอกจากนี้ แม้แต่ยอดขายเครื่องสำอางที่ตามปกตินั้นถือว่าทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้นั้นก็อาจจะเห็นการลดลงได้ด้วยเช่นกัน
ยอดขายผ่านช่องทางห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปลดลงอย่างมาก
บริษัทมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายจำนวนประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ณ เดือนมีนาคม 2563 โดยสินค้าของบริษัทมีวางจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าทั่วไป และร้านค้าของบริษัทเองครอบคลุมทั่วประเทศ ร้านค้าทั่วไปและห้างสรรพสินค้านั้นถือว่าเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 48% และ 32% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2562 ตามลำดับ
ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปบางแห่งจำเป็นต้องปิดดำเนินการชั่วคราวตั้งแต่ช่วงวันที่ 22 มีนาคมจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาสแรกของปี 2563 ยอดขายสินค้าของบริษัทในห้างสรรพสินค้าหดตัวลงถึง 35% ในขณะที่ยอดขายผ่านร้านค้าทั่วไปลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากการเปิดเมืองเพื่อเป็นการผ่อนคลายมาตรการ ทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการซื้อสินค้าแฟชั่นในห้างสรรพสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกในสภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางเช่นนี้ ส่วนการที่สินค้าแฟชั่นจะฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่งเช่นเดิมหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่นั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ากลุ่มสินค้าแฟชั่นจะฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ เนื่องจากอุปสงค์อาจลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย
ช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ เช่น ช่องทางออนไลน์และการจำหน่ายผ่านสื่อโทรทัศน์ได้กลายมาเป็นช่องทางที่เป็นทางเลือกสำคัญเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในช่วงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม บริษัทได้มุ่งเน้นการขยายรายได้จากการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้เติบโตยิ่งขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ในช่องทางนี้ที่เติบโตมากขึ้น ในไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทมียอดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และผ่านสื่อโทรทัศน์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของยอดขายรวมและเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงการปิดประเทศ โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6% ของยอดขายรวมในปี 2563 ในการนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากช่องทางการจัดจำหน่ายดังกล่าวเพิ่มขึ้นให้ได้ประมาณ 10% ของรายได้รวมในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์และผ่านสื่อโทรทัศน์ยังคงมีมูลค่าไม่สูงมากและยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนรายได้ที่ลดลงจากการจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปได้
เป็นผู้นำในตลาดชุดชั้นในสตรี
บริษัทเป็นผู้นำในตลาดชุดชั้นในสตรีโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าในตลาดระดับกลางถึงระดับบน โดยในปี 2562 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น 60.4% ของกลุ่มสินค้าชุดชั้นในสตรีที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในประเทศไทย ชุดชั้นในสตรีที่บริษัทจัดจำหน่ายครอบคลุมหลากหลายตราสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย เช่น “Wacoal” “BSC” “ELLE” และ “กุลสตรี” สินค้าประเภทชุดชั้นในสตรีเป็นกลุ่มสินค้าที่สร้างยอดขายสูงที่สุดของบริษัทโดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32% ของยอดขายรวมในปี 2562 ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสัญลักษณ์ Wacoal สร้างรายได้ประมาณ 90% ของยอดขายในแผนกผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในสตรีของบริษัท
Wacoal ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์หลักของผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในที่บริษัทจัดจำหน่ายถือว่าเป็นผู้นำตลาดในประเทศไทย ทั้งนี้ Wacoal มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 54.4% ในปี 2562 ลดลงจาก 56.2% ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งทางการตลาดของ Wacoal ยังสูงกว่าบริษัทคู่แข่งที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ตราสัญลักษณ์ Wacoal เป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนานประมาณ 5 ทศวรรษในตลาดผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในในประเทศไทยโดยเป็นที่ยอมรับในเรื่องการสวมใส่สบายซึ่งกระชับกับสรีระและการมีนวัตกรรม Wacoal มีตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าสตรีวัยทำงาน ในอนาคต บริษัทมีแผนจะออกสินค้าใหม่โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการตลาด ในขณะเดียวกันก็จะขยายการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีกใหม่ ๆ ทั้งทางออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ นอกจากนี้ ยังจะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้นอีกด้วย
มีหนี้สินทางการเงินในระดับต่ำจากการมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง
บริษัทมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเป็นอย่างมากโดยสามารถคงสถานะปลอดภาระหนี้มาได้เป็นเวลานาน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทมียอดเงินกู้คงค้างรวมอยู่เพียง 40 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินกู้ของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เนื่องจากบริษัทไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เป็นระยะเวลานาน บริษัทจึงมีสถานะทางการเงินเป็นเงินสดสุทธิ (Net Cash Position) โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนภาระหนี้ตามกำหนดและใช้เป็นเงินลงทุนในกรณีที่มีความจำเป็น
บริษัทคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนโดยรวมประมาณ 290-320 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 ในการนี้
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีข้างหน้า
มีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับสูง
บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 24 แห่งและยังลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์อีกหลายแห่ง ในปี 2562 บริษัทได้รับเงินปันผลรับจากการลงทุนประมาณ 570 ล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัท การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยอาจส่งผลกระทบต่อเงินปันผลรับของบริษัทในปี 2563 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินปันผลรับจากธุรกิจแฟชั่นและเครื่องสำอาง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินปันผลรับของบริษัทจะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในช่วงปี 2564-2565
บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับที่ดีจากการมีเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องสูง ทั้งนี้ เงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 8.16 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 และมีมูลค่ามากกว่าหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทรวมถึงภาระค้ำประกันในบริษัทที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่ร่วมลงทุน ตลอดจนหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงินถึงประมาณ 8.8 เท่า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
• อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะติดลบในปี 2563 และหลังจากนั้นจะอยู่ในช่วง 2.6%-3.0% ในระหว่างปี 2564-2565
• บริษัทมีแผนการใช้เงินเพื่อลงทุนโดยรวมประมาณ 860 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นของเครือสหกรุ๊ปและยังคงรักษาความเป็นผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและรักษาสถานะสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอและมีความยืดหยุ่นทางการเงินในระดับสูงได้ต่อไปอีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินที่เป็นไปในเชิงรุกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้อีกเช่นกันหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะที่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (ICC)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html