ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในการประกอบธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว ตลอดจนสถานะผู้นำในอุตสาหกรรม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับลูกค้า ความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอ และการกระจายความหลากหลายไปในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและการกระจุกตัวของลูกค้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีผลงานเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน
จุดแข็งของบริษัทเกิดจากประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 40 ปีในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,495 ตันต่อวัน ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเตาหลอมแก้วจำนวน 11 เตา ซึ่งติดตั้งอยู่ที่โรงงาน 5 แห่งในหลายจังหวัด ทั้งบริษัทและพนักงานได้สั่งสมประสบการณ์และความรู้ในด้านนี้มาตั้งแต่โรงงานแห่งแรกเริ่มดำเนินงานในปี 2523 บริษัทมีอัตราประสิทธิภาพในการผลิตอยู่ระหว่าง 85%-88% ในช่วงปี 2558-2562 นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงด้วยต้นทุนที่ต่ำอีกด้วย
อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดอยู่ในระดับสูง
การที่ธุรกิจมีต้นทุนในการลงทุนและการซ่อมบำรุงที่สูง อีกทั้งยังต้องการความเชี่ยวชาญในการดำเนินงาน และสถานะในการเป็นเจ้าตลาดของผู้ประกอบการรายเก่าซึ่งได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าจากผู้นำตลาดเหล่านี้เท่านั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ได้ยาก
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยต่างก็มีความสัมพันธ์กับบริษัทที่เป็นผู้นำในด้านเครื่องดื่มภายในประเทศซึ่งเป็นผู้ซื้อบรรจุภัณฑ์แก้วรายสำคัญ ปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วมีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ 3 ราย คือ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มบุญรอด บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น และ บริษัท สยามกลาส อินดัสทรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มโอสถสภา
นอกจากนี้ ยังเป็นการยากสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะสามารถใช้เตาหลอมแก้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเตาหลอมแก้วนี้ต้องมีการเปิดใช้งานอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ยังเป็นข้อจำกัดอีกประการหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดนี้
อัตรากำไรที่สม่ำเสมอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสม่ำเสมอของอัตรากำไรเอาไว้ได้ การผลิตในปริมาณมากที่ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดและการลดจำนวนการเปลี่ยนรอบงานในการเดินเครื่องการผลิตทำให้บริษัทมีการผลิตที่เกิดประสิทธิภาพ การมีโรงงานจำนวน 5 แห่งในเขตพื้นที่ 3 ภาคของประเทศทำให้บริษัทสามารถหาวัตถุดิบในท้องถิ่นใกล้โรงงานได้เป็นอย่างดีโดยที่บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับผู้จัดหาวัตถุดิบอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะรักษาฐานวัตถุดิบให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในปี 2562 บริษัทจึงได้เข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนประมาณ 25% ของบริษัทจำหน่ายเศษแก้ว 2 ราย คือ บริษัท บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด และ บริษัท ทวีทรัพย์ (จิวแจ๊ะเฮง) จำกัด ทั้งนี้ การประหยัดค่าขนส่งก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่บริษัทใช้ในการพิจารณาหาที่ตั้งโรงงานให้อยู่ใกล้กับทั้งผู้จัดหาวัตถุดิบและลูกค้าเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งด้วย
นอกจากการประหยัดต้นทุนแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นไปที่สินค้าบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอีกทางหนึ่งด้วย ในการนี้ บริษัทมีประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 2.2-2.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีประมาณการระหว่างปี 2563-2565
มีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
บริษัทมีการดำเนินกลยุทธ์ที่จะกระจายแหล่งที่มาของรายได้ให้มีความหลากหลายเพื่อที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่กระแสรายได้ในอนาคต ในปี 2562 บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 67% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 2 แห่งในประเทศเวียดนาม โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2562 และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) เป็นระยะเวลา 20 ปีโดยได้รับอัตราซื้อไฟฟ้าที่ 9.35 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง บริษัทคาดว่าโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ทั้ง 2 โครงการนี้จะสร้างรายได้ประมาณ 450 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำการศึกษาโครงการอื่น ๆ อีกหลายโครงการเพื่อที่จะแสวงหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกอีกด้วย
ภาระหนี้อยู่ในระดับสูง แต่กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงในช่วงปีประมาณการ ทั้งนี้ แผนการลงทุนในระหว่งปี 2563-2565 จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 พันล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายในการลงทุนจะนำไปใช้เพื่อการบำรุงรักษาตามปกติและการซ่อมบำรุงใหญ่สำหรับเตาหลอมแก้วเป็นหลัก ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 65% ตลอดช่วงประมาณการ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนในช่วงดังกล่าวสำหรับการจ่ายคืนหนี้จำนวน 1.4 พันล้านบาทและแผนการลงทุนจำนวน 1 พันล้านบาทจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 1.8 พันล้านบาท เงินสดในมือจำนวน 260 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินในส่วนที่เหลือ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 20% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 7 เท่าและ 4.5 เท่าตามลำดับในระหว่างปี 2563-2565
การกระจุกตัวของตลาดที่ขึ้นอยู่กับตลาดเครื่องดื่มภายในประเทศเป็นหลัก
บริษัทมียอดขายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มคิดเป็น 80% ของยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งหมดของบริษัท ในปี 2562 ขวดเบียร์และขวดน้ำอัดลมคิดเป็นสัดส่วน 43% และ 35% ของยอดขายขวดทั้งหมดของบริษัทตามลำดับ การลดลงของยอดขายเครื่องดื่มทั้งประเภทที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายบรรจุภัณฑ์ของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทพยายามที่จะลดความเสี่ยงในส่วนนี้โดยการเพิ่มยอดขายสินค้าให้แก่ธุรกิจกลุ่มอื่นๆ ซึ่งสร้างอัตรากำไรที่มากกว่า ได้แก่ ธุรกิจอาหารและยาที่ต้องการบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีความพิเศษเฉพาะตัว
ในปี 2562 สินค้าของบริษัทจำนวน 90% ส่งจำหน่ายภายในประเทศ บริษัทได้พยายามบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการชะลอตัวของความต้องการสินค้าภายในประเทศด้วยการเพิ่มยอดขายในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น โดยสัดส่วนยอดขายในตลาดต่างประเทศของบริษัทเมื่อเทียบกับยอดขายรวมได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10% ในปี 2562 จากระดับ 5% ในปี 2558
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้จะลดลง 15% ในปี 2563 เนื่องจากการลดลงของการบริโภคเครื่องดื่มโดยภาพรวมและการห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงเดือนเมษายน 2563 จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) แต่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% ในปี 2564 และ 3% ในปี 2565
• อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับ 17% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 22% ในช่วงปี 2563-2565
• งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 530 ล้านบาทในปี 2563 ระดับ 2.2 พันล้านบาทในปี 2564 และระดับ 1.5 พันล้านบาทในปี 2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วเอาไว้ได้โดยมีธุรกิจในกลุ่มพลังงานซึ่งสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอช่วยสนับสนุนรายได้ให้แก่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมากและคงอัตรากำไรได้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ทำให้ฐานะการเงินอ่อนแอลง ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดจากการที่ความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดลงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การลงทุนเชิงรุกมากเกินไปจนทำให้เกิดภาระหนี้ที่สูงขึ้นจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 6 เท่าหรือมากกว่าติดต่อกันในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตได้เช่นเดียวกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (BGC)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable