ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กร “บ. แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้” เป็น “BB-” จาก “BB” แนวโน้ม “Negative”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 24, 2020 09:05 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทเป็น “BB-” จากระดับ “BB” ในขณะเดียวกันยังกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” ด้วย

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนความกังวลถึงการที่บริษัทยังคงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง ระดับหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ต่อการสร้างรายได้ของบริษัทในอนาคต รวมถึงยอดขายที่ล่าช้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะเครดิตของบริษัทที่จะยังคงได้รับความกดดันในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากความวิตกในการกลับมาแพร่ระบาดของไว้รัสจะยังคงขัดขวางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกจะลดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินานกว่าที่คาดการณ์ไว้

อันดับเครดิตพิจารณารวมถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งที่บริษัทจะขาย บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ตามแผน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางลบต่องบดุลของบริษัทจากการคาดการณ์ถึงผลขาดทุนในปีนี้ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนคุณภาพที่ดีของโรงแรมของบริษัทและประสบการณ์ของบริษัทในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยธุรกิจโรงแรมมีการแข่งขันสูงและอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้รวมถึงความผันผวนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังส่งผลต่ออันดับเครดิตด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้จากธุรกิจโรงแรมจะลดลงอย่างมากในปี 2563

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของโรงแรมของบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2563 แต่จะฟื้นตัวในปี 2564-2565 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับผละกระทบอย่างมากจากการแพร่ะระบาดของโรคโควิด 19 โดยมาตรการการควบคุมการเดินทางและการปิดพื้นที่ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของโรงแรมของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 หลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ในเดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการปิดพื้นที่และมีแผนจะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโรงแรมของบริษัทโดยเฉพาะในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วในการฟื้นฟูของการดำเนินงานยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงต้องใช้เวลา ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดโรคโควิด 19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้การจำกัดการเดินทางจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกจะยังคงขัดขวางความต้องการการเดินทางท่องเที่ยวแม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้เป็นส่วนใหญ่แล้ว

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมแต่ละแห่งของบริษัทจะลดลงประมาณ 60% ในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 โดยจะอยู่ที่ระดับประมาณ 30% ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 และปี 2565 จะอยู่ระดับที่ระดับประมาณ 5%-8% ซึ่งต่ำกว่าปี 2562 เช่นกัน

โรงแรมของบริษัทได้รับการดูแลอย่างดีและตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โดยบริษัทมีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจโรงแรมโดยการลงทุนในโรงแรมที่อยู่ในทำเลที่ดี และจ้างเครือข่ายโรงแรมระดับสากลให้เป็นผู้บริหารและดำเนินงาน โดยเครือข่ายโรงแรมมีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีระบบการบริหารจัดการโรงแรมที่ดี และมีช่องทางการขายที่ครอบคลุม

ยอดขายจากโครงการอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง

บริษัทดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์เอง 2 โครงการได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมไฮด์ สุขุมวิท 11 และโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-used) ในจังหวัดระยอง

โครงการไฮด์ สุขุมวิท 11 มียอดขายที่ค่อนข้างช้า โดยโครงการได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอนให้กับลูกค้าในปี 2560 ณ เดือนมีนาคม 2563 โครงการดังกล่าวมีห้องชุดเหลือขายมูลค่าประมาณ 1.42 พันล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 32.5% ของมูลค่าโครงการ โดยบริษัทมียอดขายเพียง 413 ล้านในปี 2562 และ 87 ล้านบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 แม้ว่าจะมีการออกมาตรการส่งเสริมการขายอย่างมากแต่บริษัทจะต้องใช้เวลาสักพักในการขายห้องชุดที่เหลือเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยของลูกค้าชาวไทยชะลอตัว นอกจากนี้ โอกาสในการขายห้องชุดให้แก่ผู้ชื้อชาวต่างชาติก็หยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลทำให้เกิดมาตรการจำกัดการเดินทาง

สำหรับโครงการ Mixed-use ที่จังหวัดระยองประกอบไปด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์ 3 ประเภท ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิลล่าเพื่อขายจำนวน 61 หลัง โรมแรมขนาด 205 ห้อง และคอนโดมิเนียม โดยคาดว่าต้นทุนในการพัฒนาโครงการสำหรับวิลล่าจะอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาทและสำหรับโรงแรมอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทจะทยอยลงทุนในช่วงปี 2562-2565 ในส่วนคอนโดมิเนียมบริษัทมีแผนจะเริ่มก่อสร้างหลังจากวิลล่าและโรงแรมสร้างแล้วเสร็จ

ภายใต้สมมุติฐานพื้นฐาน คาดว่ารายได้จากจากการโอนห้องชุดในโครงการไฮด์ สุขุมวิท 11 และวิลล่าในจังหวัดระยองจะอยู่ที่ 200 ล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 800 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้า 2 แห่งเพื่อพัฒนาโครงการคอนมิเนียมจำนวน 2 โครงการ โดยเป็นการร่วมทุนกับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท และ บริษัท ซูมิโตโม ฟอเรสทรี ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจป่าไม้และก่อสร้างที่พักอาศัยในประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการแรกคือ “ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ” ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทใกล้กับซอยสุขุทวิท 59 มีมูลค่าโครงการประมาณ 6 พันล้านบาท และอีกโครงการคือ “ไฮด์ ริเวอร์ เบย์” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีมูลค่าโครงการประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทถือหุ้น 40% และ 42% ในแต่ละโครงการตามลำดับ เงินลงทุนสำหรับทั้ง 2 โครงการที่ระดับกิจการร่วมค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.0 หมื่นล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าโครงการ “ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ” จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 ในขณะที่ โครงการ “ไฮด์ ริเวอร์ เบย์” จะแล้วเสร็จในปี 2566

ปัจจุบัน ยอดขายล่วงหน้าของโครงการ “ไฮด์ เฮอริเทจ ทองหล่อ” ล่าช้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานคาดว่าโครงการ “ไฮด์ ริเวอร์ เบย์” จะล่าช้าออกไปจนกว่าสภาวะทางการตลาดจะปรับดีขึ้น

ระดับหนี้สินอยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะมีผลขาดทุนจำนวนมากในปี 2563

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ในระดับสูงที่ 11.5 เท่าในปี 2562 โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะปรับตัวเป็นลบในปี 2563 และในปี 2564 จะปรับตัวเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของปี 2562 ในขณะเดียวกัน ภาระหนี้สินจะปรับเพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดออกจากการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรท ติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถขายบริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) ได้ตามแผน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 18 เท่าในปี 2564 และ 10 เท่าในปี 2565 โดยบริษัทมีแผนจะลงทุนในธุรกิจโรงแรมและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่มูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาทสำหรับ 3 ปีข้างหน้า

บริษัทมีเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินซึ่งมีเงื่อนไขให้บริษัทรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อทุนที่ระดับไม่เกิน 2.50 เท่า โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้โดยมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.58 เท่า อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินอ่อนแอเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อาจจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อทุนเพิ่มสูงขึ้นใกล้หรือเกินระดับของเงื่อนไขที่ 2.50 เท่า ยกเว้นว่าบริษัทสามารถขายบริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) ได้ตามแผน

สภาพคล่องตึงตัว

บริษัทมีสภาพคล่องที่ตึงตัว ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบไปด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.17 พันล้านบาท และมีเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 480 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารจำนวน 1.74 พันล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนดังกล่าวคาดว่าจะเพียงพอต่อการใช้เงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระใน 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วยภาระหนี้ระยะยาวจำนวน 1.55 พันล้านบาทและภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 290 ล้านบาท ในปี 2563 คาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดออกจากการดำเนินงานประมาณ 1 พันล้านบาท ประกอบกับแผนในการลงทุนประมาณ 383 ล้านบาท ในปี 2564 การใช้เงินทุนของบริษัทจะประกอบด้วยการชำระคืนหนี้จำนวน 2.9 พันล้านบาทและงบลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• รายได้จากธุรกิจโรงแรมจะลดลงที่ระดับ 1 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2564 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านบาทในปี 2565

• รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะลดลงที่ระดับ 200 ล้านบาทในปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านบาทต่อปี ในปีช่วงปี 2564-2565

• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายปรับลดลงเป็น 25% ในปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2564 และ 33% ในปี 2565

• เงินลงทุนรวมประมาณ 3 พันล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี

• บริษัทสามารถขายเงินลงทุนทั้งหมดของบริษัทโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) ในช่วง 6-9 เดือน

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะเครดิตของบริษัทที่จะยังคงได้รับความกดดันในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากความวิตกในการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสจะยังคงขัดขวางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกจะลดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินานกว่าที่คาดการณ์ไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับให้เป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากทริสเรทติ้งเห็นความชัดเจนในการฟื้นตัวของการดำเนินงานของบริษัทหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสสามารถควบคุมได้และข้อจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยวข้ามประเทศถูกยกเลิก ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลกระทบจากโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้หรือสภาพคล่องของบริษัทปรับลดลงเร็วกว่าที่คาด

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (GRAND)

อันดับเครดิตองค์กร: BB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ