ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศและการมีโรงไฟฟ้าที่หลากหลาย ในการประเมินอันดับเครดิตดังกล่าว ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ได้รับอันดับเครดิตระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง) รวมถึงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทและ กฟผ. ด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ
บริษัทมีสถานะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดย ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า (กำลังการผลิตตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของในแต่ละโรงไฟฟ้า) ที่ดำเนินงานแล้วทั้งสิ้น 6,439 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เมื่อรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างแล้ว กำลังการผลิตของบริษัทมีทั้งสิ้น 8,011 เมกะวัตต์ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 กำลังการผลิตของบริษัทที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบไฟฟ้าของ กฟผ.จำนวน 5,120 เมกะวัตต์คิดเป็น 11% ของกำลังการผลิตของประเทศไทย
โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ดำเนินงานแล้วประมาณ 80% มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยทั้ง กฟผ. และ กฟภ. ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือนั้นมาจากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศที่ดำเนินงานภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับหน่วยงานสาธารณูปโภคที่สำคัญในประเทศนั้น ๆ ซึ่งรวมถึงโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสาธารณูปโภคภูมิภาคในประเทศออสเตรเลียที่ระดับ 13% ของกำลังการผลิตที่ดำเนินงานแล้วของบริษัท ตลอดจน Electricite du Laos (EDL) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) (3%) และ Perusahaan Listrik Negara (PLN) ซึ่งเป็นหน่วยงานการไฟฟ้าของประเทศอินโดนีเซีย (1%)
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.
กระแสเงินสดของบริษัทสามารถคาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดยสัญญาดังกล่าวมีโครงสร้างราคาไฟฟ้าบนพื้นฐานของความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านการตลาด นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวยังมีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไปให้แก่ กฟผ. อีกด้วย ดังนั้น กระแสเงินสดของบริษัทจึงมีความแน่นอนสูงตราบเท่าที่บริษัทดำรงความพร้อมของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามเป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าตามคำสั่งของ กฟผ.
ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัทบรรลุเป้าหมายความพร้อมจ่ายทุกปี โดยโรงไฟฟ้าหงสาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของบริษัทก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการดำเนินงานที่ดีขึ้นหลังจากที่มีการแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าที่บริษัทลงทุนในประเทศออสเตรเลียนั้นก็สามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายให้แก่บริษัทได้อย่างสม่ำเสมอที่ประมาณ 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.5-3 พันล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปเมื่อโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเริ่มดำเนินงาน ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กลุ่มโรงไฟฟ้าในประเทศออสเตรเลียที่ดำเนินงานแล้วของบริษัทมีกำลังการผลิตรวม 873 เมกะวัตต์ โดยประมาณ 90%-95% ของกำลังการผลิตดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทสาธารณูปโภคหลายแห่งในประเทศออสเตรเลีย
มีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ กฟผ.
บริษัทมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับ กฟผ. ทั้งในด้านโครงสร้างการถือหุ้นและการดำเนินงานโรงไฟฟ้า กล่าวคือ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 45% นับตั้งแต่บริษัทก่อตั้งในปี 2543 นอกจากนี้ กฟผ. ยังเป็นผู้ให้บริการดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่สำคัญของบริษัทภายใต้สัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุง เช่น โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าหงสา และโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน กฟผ. ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของโรงไฟฟ้าของบริษัทที่อยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) อีกด้วย ทั้งนี้ สถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของ กฟผ. ช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านคู่ค้าให้แก่บริษัทได้เป็นอย่างดี
แสวงหาการเติบโตเพื่อชดเชยโรงไฟฟ้าเดิมที่ทยอยครบอายุ
การลดลงของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าสำคัญของบริษัทได้เพิ่มแรงกดดันต่อการลงทุนให้แก่บริษัท โดยปัจจุบันกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีนั้นคิดเป็นประมาณ 60% ของบริษัท และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีมีกับ กฟผ. นั้นจะทยอยหมดอายุในปี 2568 และปี 2570 ดังนั้น เพื่อชดเชยกำไรที่ลดลง บริษัทจึงมีการลงทุนและซื้อกิจการจำนวนหลายแห่ง โดยในช่วงปี 2561-2562 บริษัทใช้เงินไปประมาณ 7.2 พันล้านบาทเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนอีกจำนวน 362 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการซื้อสัดส่วนการลงทุน 26.61% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Asahan-1 (180 เมกะวัตต์) ในประเทศอินโดนีเซีย การลงทุนในสัดส่วน 70% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังลม Yandin (214 เมกะวัตต์) ในประเทศออสเตรเลีย การซื้อหุ้นเกือบ 100% ใน บริษัท ราช โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (119 เมกะวัตต์) การลงทุนในสัดส่วน 49% ใน บริษัท เน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง จำกัด (92 เมกะวัตต์) และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 บริษัทยังได้ประกาศแผนการที่จะลงทุนเบื้องต้นจำนวน 2.5 พันล้านบาทในการซื้อหุ้น 49% ใน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) ซึ่งเป็นกองทุนเวียดนามที่เน้นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าอีกด้วย โดย ABEIF ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน Thang Long ขนาด 620 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ การลงทุนภายใต้ ABEIF ยังรวมไปถึงโครงการที่มีศักยภาพอื่น ๆ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 650 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 150 เมกะวัตต์ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งโครงการทั้งหมดเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา ทั้งนี้ การลงทุนและซื้อกิจการของบริษัทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามุ่งเน้นไปกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินงานแล้วซึ่งช่วยให้บริษัทรับรู้ผลตอบแทนการลงทุนได้ทันที
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าหินกองซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ด้วย ซึ่งบริษัทถือหุ้น 51% ในโครงการนี้ โดยโรงไฟฟ้าใหม่แห่งนี้จะสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ซึ่งบริษัทได้ปลดออกจากระบบไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังลม Collector ขนาด 227 เมกะวัตต์ในประเทศออสเตรเลียและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau ขนาด 296 เมกะวัตต์ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทลงทุนในสัดส่วน 49%
การลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทสามารถรักษากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายได้ประมาณ 9-9.4 พันล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า และสามารถชดเชยกำไรของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีที่ลดลง
ขยายการลงทุนไปสู่โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทได้ขยายขอบเขตการลงทุนไปยังโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ หลายโครงการ โดยบริษัทมีการลงทุนประมาณ 2.7 พันล้านบาทในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองในกรุงเทพมหานคร โครงการผลิตน้ำประปาใน สปป. ลาว และโครงการสาธารณูปโภคขนาดเล็กอื่น ๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2563-2565 บริษัทได้เตรียมงบประมาณสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกประมาณ 970 ล้านบาท
ภาระหนี้เพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นตามแผนการลงทุนของบริษัท บริษัทมีแผนลงทุนในปี 2563 ประมาณ 1.55 หมื่นล้านบาทสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่รอดำเนินการรวมถึงการซื้อกิจการด้วย สำหรับปี 2564-2565 บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 2.7 พันล้านบาทในโครงการที่มีข้อผูกพันแต่ไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศจีน เมื่อพิจารณาจากแผนการลงทุนเหล่านี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 37% ณ สิ้นปี 2563 จาก 29.1% ณ สิ้นปี 2562 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 30%-35% ในปี 2564-2565
จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนที่ประมาณ 1.7-2 พันล้านบาทต่อปีในปี 2563 และปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2.5 พันล้านบาทในปี 2565 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 9-9.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 เท่าในช่วงเดียวกัน จากที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
มีสภาพคล่องที่มากเพียงพอ
บริษัทมีสภาพคล่องที่มากเพียงพอโดยมีแหล่งที่มาของเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 8 พันล้านบาทและเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7-8 พันล้านบาท แหล่งเงินทุนเหล่านี้ถือว่าเพียงพอสำหรับการลงทุนและการใช้จ่ายของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ที่จะต้องชำระคืนจำนวน 1.3 พันล้านบาท รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในบริษัทร่วมอีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 9-9.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2563-2565
• เงินปันผลที่จะได้รับจากการลงทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7-2.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
• ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนในโครงการที่มีศักยภาพสูงจะอยู่ที่ประมาณ 1.82 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว และทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในช่วง 3-4 เท่าในระยะ 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับลดลงในกรณีที่บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่จนเป็นผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3.5 เท่าเป็นระยะเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable