ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท ตลอดจนสถานะทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของบริษัท
บริษัทมีข้อจำกัดสำคัญที่มีผลต่ออันดับเครดิตซึ่งประกอบด้วยหนี้เสียที่อยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาระหนี้ระยะสั้นที่มีจำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังมีปัจจัยด้านลบที่เกิดจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งอาจทำให้การปรับเพิ่มของอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับเป็นไปได้อย่างจำกัด ในขณะที่สถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทนั้นยังบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ฐานทุนที่แข็งแกร่ง
ฐานทุนที่แข็งแกร่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการเติบโตของสินเชื่อรวมที่เข้มแข็งอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่บริษัทก็สามารถคงฐานทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้จากการสะสมผลกำไรอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ในระดับ 20.6% โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาและอยู่ในระดับ 1.58 เท่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาฐานทุนที่แข็งแกร่งและภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำไว้ได้ แต่หากบริษัทมีการขยายสินเชื่อในปริมาณที่มากเกินไปจนทำให้ฐานทุนอ่อนแอลงและภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นก็อาจทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อสถานะเครดิตของบริษัทได้
การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แข็งแกร่ง
ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทเป็นผลมาจากความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ดีนั้นมาจากการบริหารและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีสินเชื่อรวมต่อจำนวนพนักงานคิดเป็น 12.8 ล้านบาทต่อคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 12.6 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 โดยสัดส่วนนี้เป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สูงน่าจะช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพื่อใช้รองรับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยรับที่ลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2562 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 30.8% ซึ่งต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่มากกว่า 50%
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการทำกำไรในระดับที่เป็นที่น่าพอใจได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 8.4% เพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีความสามารถในการทำกำไรลดลงในปี 2563 โดยประมาณการอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 4.6% ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในระดับมากกว่า 7% ในปี 2564-2565 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารรายอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้แม้จะมีภาระหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับสูง
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ปัจจัยด้านเครดิตที่น่ากังวลสำหรับบริษัทคือสัดส่วนภาระหนี้ระยะสั้นที่อยู่ในระดับสูง โดยแม้ว่าภาระหนี้จะมีระดับที่ลดลง แต่ก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งโดยตรง ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้น อยู่ที่ระดับ 65.6% ของเงินกู้ยืมรวม ลดลงจากระดับ 71.4% ในปี 2561 จากสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ระดับ 65.6% นั้นคิดเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีอยู่ในสัดส่วน 46.4% และเงินกู้ยืมระยะสั้น 19.3% เงินกู้ยืมระยะสั้นที่ลดลงนั้นเป็นผลมาจากนโยบายของผู้บริหารของบริษัทที่ต้องการให้สัดส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 50% ของเงินกู้ยืมรวมหรือมากกว่า
แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับสูง แต่ทริสเรทติ้งก็มองว่าบริษัทจะยังคงมีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องได้จากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน และการมีวงเงินสินเชื่อที่มากพอจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องลงไปได้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีส่วนต่างทางด้านระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินภายในระยะเวลา 1 ปีที่เป็นบวก โดยบริษัทประมาณการว่ากระแสเงินที่จะได้รับจากการชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 5.4 พันล้านบาท ในขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่สามารถเบิกใช้ได้ประมาณ 2.4 พันล้านบาทซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องให้แก่บริษัทได้
ความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ
คุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างอ่อนแอของบริษัทยังคงเป็นข้อจำกัดสำคัญต่ออันดับเครดิตจากการที่คุณภาพสินทรัพย์ยังคงปรับตัวแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระตั้งแต่ 4 งวดขึ้นไป) ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 10.26% จาก 10.96% ณ สิ้นปี 2561 โดยถ้ารวมหนี้สูญตัดบัญชีด้วยแล้ว อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 17.9% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งลดลงจากระดับ 18.2% ณ สิ้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม การก่อตัวของหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมยังมีปริมาณที่สูงขึ้นโดย เฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.01% จาก 7.69% ในปี 2562 และ 7.57% ในปี 2561
ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทจะยังคงอ่อนแอต่อไปในปี 2563 จากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงจากผลของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยที่ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจส่งผลกดดันต่อการขยายสินเชื่อของบริษัทและยิ่งซ้ำเติมให้คุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอลงยิ่งขึ้นในปี 2563 และปี 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่ต่ำและฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแรงจะยังคงช่วยสนับสนุนความสามารถในการทำกำไรและสถานะเครดิตของบริษัทให้ผ่านช่วงที่ท้าทายไปได้
บริษัทยังคงตั้งสำรองให้อยู่ในระดับที่สูงเพียงพอเพื่อชดเชยกับคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 121.1% ในการตั้งสำรองหนี้สูญนั้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยมักจะอยู่ที่ระดับ 7%-8% ในสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายตั้งสำรองของบริษัทอาจเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% ของเงินให้สินเชื่อโดยเฉลี่ยในปี 2563 จากเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หลังจากนั้นค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะลดลงกลับไปสู่ระดับปกติในปี 2564-2565 ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับ 12.5% ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มคู่แข่งที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัท เอส 11 กรุ๊ป ในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้
• พอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะเท่าเดิมในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 5%-10% ต่อปีหลังจากนั้น
• อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับมากกว่า 15%
• อัตรารายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 26%
• ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ในระดับมากกว่า 10% ในปี 2563 และจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8% ต่อปีหลังจากนั้น
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ในระดับ 32%-34%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ตั้งอยู่บนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าอย่างน้อยบริษัทจะยังคงสถานะทางการตลาดของบริษัทได้อย่างต่อเนื่องในขณะเดียวกันก็จะยังคงผลประกอบการทางเงิน ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ และการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้ปรับตัวดีขึ้นในขณะที่ยังคงสามารถดำรงสถานะทางด้านการเงินโดยรวมเอาไว้ได้ซึ่งสะท้อนจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และฐานทุนที่เข้มแข็ง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจนอาจจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างเงินทุนอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (S11)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable