ทริสเรทติ้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” โดยเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวเพื่อสะท้อนสถานะทางการตลาดที่ถดถอยลงในตลาดหลักภายในประเทศของบริษัทคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ในขณะที่อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และสภาพคล่องที่ดีของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดสำคัญต่ออันดับเครดิตของบริษัทคือคุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มลดลงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ในขณะเดียวกัน การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดภายในประเทศที่อาจส่งผลกดดันต่อการปรับเพิ่มขึ้นของอัตรารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของบริษัทในระยะปานกลางอีกด้วย ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเครดิตอย่างมีนัยสำคัญของสินเชื่อในประเทศอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงมากกว่าประเทศไทยนั้นอาจจะส่งผลในด้านลบต่อสถานะเครดิตของบริษัทได้หากไม่มีการควบคุมความเสี่ยงให้ดี
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดภายในประเทศที่ถดถอยลง
สถานะทางการตลาดภายในประเทศของบริษัทค่อย ๆ ถดถอยลงในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 สินเชื่อรวมของบริษัทอยู่ที่ 8.2 พันล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 สินเชื่อรวมของบริษัทลดลงยิ่งขึ้นโดยอยู่ที่ 7.7 พันล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากแผนกลยุทธ์การเติบโตที่ระมัดระวังของบริษัทจากความกังวลในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ในสภาวะที่เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกขยายตัวอย่างเชื่องช้า แม้ทริสเรทติ้งจะมองว่าแผนกลยุทธ์ที่จะขยายตัวอย่างระมัดระวังนั้นเป็นข้อดี แต่การหดตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อรวมกลับส่งผลทำให้สถานะทางการตลาดและฐานลูกค้าของบริษัทอ่อนแอลง ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 ประการดังกล่าวเป็นสิ่งค้ำจุนสถานะทางธุรกิจของบริษัท กรณีดังกล่าวจึงทำให้ทริสเรทติ้งต้องทำการปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” ในการนี้ หากปัจจัยทั้ง 2 ประการถดถอยลงยิ่งขึ้นก็จะส่งผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อใหม่ของบริษัทนั้นจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ กลับมาขยายตัวใหม่ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ไปจนตลอดปี 2564
บริษัทมีการกระจายตัวของสินเชื่อในด้านพื้นที่ในระดับที่ดีทั่วประเทศรวมถึงประเทศในกลุ่ม CLMV บางประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และเมียนมา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคาดว่าสินเชื่อภายในประเทศจะยังคงเป็นธุรกิจหลักของบริษัทในระยะยาว
มีระดับการก่อหนี้ที่ต่ำและมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งประเมินฐานทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก โดย ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 34.7% ฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากกว่าของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมและเพียงพอสำหรับรองรับต้นทุนทางเครดิตที่ค่อนข้างสูงของลูกค้าที่เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ในขณะเดียวกัน ระดับการก่อหนี้ของบริษัทก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.72 เท่าในปี 2562 โดยลดลงจาก 1.08 เท่าในปี 2561 การปรับตัวดีขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นมาจากการลดลงของเงินกู้ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อรวมที่หดตัวลงและกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในระยะปานกลางจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ลดลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัว โดยระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งนี้จะช่วยรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่ถดถอยอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
การขยายธุรกิจในต่างประเทศเป็นแรงกระตุ้นการเติบโต
ในระยะปานกลางทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศจะเป็นตัวเร่งในการเติบโตของบริษัทเมื่อพิจารณาจากการที่บริษัทมีแผนขยายธุรกิจภายในประเทศที่ระมัดระวังจากปัจจัยการแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงด้านเครดิตที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าสินเชื่อต่างประเทศจะมีสัดส่วน 30%-40% ของสินเชื่อรวมของบริษัทภายในปี 2566 ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานที่การเติบโตจะยังคงเท่ากับในช่วงปี 2562 โดยสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของบริษัท เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 18% ในปี 2562 จากระดับ 10% ณ สิ้นปี 2561 โดยแยกออกเป็น 14% จากประเทศกัมพูชาและ 4% จาก สปป. ลาว สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยอยู่ที่ระดับ 21% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยมาจากประเทศกัมพูชาเป็นหลักที่ระดับ 17%
ทริสเรทติ้งยังเชื่อด้วยว่าธุรกิจในต่างประเทศนั้นจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการช่วยยกระดับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคตเนื่องจากผลตอบแทนของสินเชื่อในต่างประเทศโดยรวมนั้นสูงกว่าสินเชื่อภายในประเทศมาโดยตลอด ทั้งนี้ ปัจจัยบวกของธุรกิจในต่างประเทศนั้นมาจากการแข่งขันและความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 90 วัน) ของบริษัทลูกในต่างประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นในปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3% จาก 1% ในปี 2561 แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปตามที่
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้จากการที่สินเชื่อเริ่มที่มีอายุยาวขึ้น แต่ก็ต้องยังคงต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิดในส่วนนี้ ในส่วนของการกระจายตัวในด้านพื้นที่นั้นจะต้องช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่บริษัทโดยที่บริษัทจะต้องควบคุมคุณภาพสินเชื่อโดยรวมให้อยู่ในระดับเข้มแข็งเอาไว้ให้ได้จึงจะถือว่าเป็นผลบวกต่ออันดับเครดิต
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งอาจจะต้องนำปัจจัยความเสี่ยงของประเทศทั้งของประเทศกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมามาประกอบในการพิจารณาอันดับเครดิตด้วยหากสัดส่วนของสินเชื่อต่างประเทศเหล่านี้มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับสินเชื่อโดยรวมของบริษัท ทั้งนี้ เนื่องจากความเสี่ยงของประเทศดังกล่าวเหล่านี้ถือว่ามีมากกว่าความเสี่ยงของประเทศไทย
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
สภาพคล่องเป็นปัจจัยในด้านบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าสภาพคล่องของบริษัทจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากการมีนโยบายขยายธุรกิจที่ระมัดระวังของบริษัท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีเงินสดอยู่ที่ 941 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2561 ที่บริษัทมีเงินสดเฉลี่ยอยู่ราว ๆ 100-200 ล้านบาท
บริษัทค่อนข้างมีการพึ่งพาเงินทุนระยะยาวมากกว่าคู่แข่ง แต่จากการขยายธุรกิจที่ช้าลงทำให้ความจำเป็นในการกู้ยืมสินเชื่อระยะยาวลดลงมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ ในปี 2562 สัดส่วนโครงสร้างเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 33.7% หนี้สินระยะสั้นจำนวน 6.2% และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีอีกจำนวน 60.1%
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีส่วนต่างทางด้านระยะเวลาระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินเป็นบวก ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างดังกล่าวจะยังคงเป็นบวกต่อไปในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดรับสุทธิจากการชำระคืนหนี้ของลูกค้าอยู่ที่ประมาณ 200-230 ล้านบาทต่อเดือนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
การตั้งสำรองที่เพียงพอกับมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทแม้จะอ่อนแอแต่ก็อยู่ในระดับใกล้เคียงกับของคู่แข่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอของบริษัทส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพเครดิตที่ต่ำของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรหรือพนักงานโรงงานซึ่งอยู่นอกระบบการเงินหรือไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ยิ่งกว่านั้น การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมยังเป็นเหตุที่ทำให้มาตรฐานเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อผ่อนปรนขึ้นโดยมุ่งเน้นอัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาสินทรัพย์ (LTV) ที่สูงขึ้นเพื่อเพิ่มยอดขายรถ และเพื่อให้ได้รับอนุมัติสินเชื่อได้มากขึ้นแต่กลับเป็นการเพิ่มภาระและลดความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกค้าลง การที่บริษัทดำเนินกลยุทธ์การเติบโตที่ระมัดระวังจึงทำให้บริษัทสามารถคงระดับอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับ 9%-10% ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาเอาไว้ได้ แต่ถึงแม้ในช่วงดังกล่าวบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ได้ แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้คงอยู่ในระดับ 10%-11% เอาไว้ได้ในภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอเช่นนี้
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 สำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทมีจำนวน 710 ล้านบาท โดยสำรองดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าสำรองที่กำหนดตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) ซึ่งทำให้บริษัทมีการกลับรายการสำรองส่วนเกินจำนวน 16 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับ 194% ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการต้นทุนทางเครดิตของบริษัทว่าจะอยู่ที่ระดับ 10%-11% ของสินเชื่อรวมในระหว่างปี 2563-2565
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทฐิติกรในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้
• พอร์ตสินเชื่อคงค้างจะหดตัวในปี 2563 และจะเติบโตโดยเฉลี่ยประมาน 10%-15% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
• อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับมากกว่า 30%
• อัตรารายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะคงอยู่ในระดับเกินกว่า 31%-33%
• ต้นทุนทางเครดิตจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 10%-11% ต่อปี
• อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ในระดับ 50%-55%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากการหดตัวอย่างสม่ำเสมอของธุรกิจหลักของบริษัทคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ภายในประเทศ โดยหากกรณีดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในระยะที่นานขึ้นก็อาจจะส่งผลบั่นทอนสถานะทางธุรกิจของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงสถานะทางการตลาดและรายได้ในธุรกิจหลักให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางธุรกิจของบริษัทยังคงอ่อนแอลงมากยิ่งขึ้น หรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงจนถึงระดับที่อาจจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลง หรือระดับการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงที่ลดลงต่ำกว่าระดับ 25%
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative