ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง ตลอดจนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจหลักของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดบางประการจากการที่บริษัทมีภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีก และสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแออันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงแนวโน้มที่บริษัทจะไม่สามารถปรับลดภาระหนี้สินลงได้ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีความตั้งใจอย่างมากในการลดภาระหนี้สิน
ภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงอันเป็นผลมาจากการซื้อกิจการของ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (บิ๊กซี) ในปี 2559 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระการลงทุนต่อปีในการขยายสาขาร้านค้าปลีกและขยายกำลังการผลิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับประมาณ 7.8 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.8 เท่า
ณ ปลายปี 2563 และจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า
บริษัทมีความตั้งใจที่จะลดระดับภาระหนี้สินลงและปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนด้วยการลดระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้อยู่ต่ำกว่า 5 เท่าภายในสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินมาตรการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งมีการใช้จ่ายดำเนินงานและลงทุนอย่างระมัดระวัง อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ และหาแนวทางการลดภาระหนี้สินเพื่อปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนด้วย
เมื่อพิจารณาถึงความตั้งใจที่ชัดเจนของบริษัทที่จะปรับปรุงโครงสร้างเงินทุนให้ดีขึ้นแล้ว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าระดับภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่มีอยู่สูงในปัจจุบันจะไม่คงอยู่เช่นนี้ตลอดไป อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในการดำเนินงานในช่วงที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่สามารถลดระดับหนี้สินลงได้ตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 12-16 เดือนข้างหน้า
ผลกระทบจากโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงในปี 2563 และจะกลับมาเติบโตในระดับ 5%-7% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยคาดว่ายอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีจะลดลงอย่างมากในปี 2563 และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นในเวลา 2 ปีถัดมา สำหรับในปี 2563 นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าการจำกัดการเดินทางเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะส่งผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของบิ๊กซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้ง เศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีหดตัวลงในปี 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์รวมถึงสินค้าทางเวชภัณฑ์และเทคนิคของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทกระดาษชำระและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอาจได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าในช่วงมาตรการปิดประเทศ
ส่วนรายได้จากค่าเช่านั้น ถึงแม้ว่าบิ๊กซีจะสามารถเปิดดำเนินการจำหน่ายสินค้าได้ในช่วงบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมก็ตาม แต่ร้านค้าที่เปิดในพื้นที่เช่าของบิ๊กซีหลายร้านมีการปิดดำเนินการชั่วคราวในช่วงเวลาดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าการปิดร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่เช่าและการผ่อนผันค่าเช่าให้แก่ ผู้เช่าในช่วงมาตรการปิดประเทศในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม 2563 นั้นจะส่งผลกระทบต่อรายได้จากค่าเช่าของบิ๊กซีอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 8.07 หมื่นล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ยอดขายจากสาขาเดิมของบิ๊กซีลดลง 11.3% เนื่องจากมีการปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงมีการปรับลดเวลาเปิดให้บริการในช่วงจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน ทั้งนี้
ทริสเรทติ้งมองว่าผลประกอบการของบริษัทได้ถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แล้วและมองว่ารายได้โดยรวมของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
ร้านค้าปลีกขนาดเล็กจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีก
บิ๊กซีเป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) โดยมีจำนวนสาขามากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บิ๊กซีบริหารไฮเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 150 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดในประเทศไทย
ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกในประเทศไทยจะมีร้านค้าปลีกขนาดเล็กหรือร้านค้าสะดวกซื้อเป็นปัจจัยขับเคลื่อน โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 บิ๊กซีมีจำนวนสาขาร้านค้าสะดวกซื้อจำนวน 1,094 แห่ง เพิ่มขึ้นจาก 1,016 แห่ง ณ ปลายปี 2562 และ 793 แห่งในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่าบิ๊กซีจะยังคงขยายเครือข่ายสาขาร้านค้าปลีกขนาดเล็กไปทั่วประเทศเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในชุมชนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกขนาดเล็กยังใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่าแต่สามารถสร้างยอดขายต่อตารางเมตรได้สูงกว่าสาขาขนาดใหญ่อีกด้วย
ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า บิ๊กซีมีแผนจะขยายสาขาร้านค้าสะดวกซื้ออีกประมาณ 240-300 แห่งต่อปี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเงินลงทุนโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประมาณ 15%
ลูกค้าและสินค้าใหม่ในธุรกิจสินค้าบรรจุภัณฑ์
บริษัทได้รับคำสั่งซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ในปริมาณมากจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทเครื่องดื่มรายสำคัญของ บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทในเครือ (กลุ่มบริษัททีซีซี) โดยยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้แก่บริษัทไทยเบฟเวอเรจคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายขวดแก้วรวมที่บริษัทจัดจำหน่าย และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของยอดขายกระป๋องอลูมิเนียม นอกจากจะจัดจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มบริษัททีซีซีแล้ว บริษัทยังมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าอื่น ๆ จำนวนมากนอกกลุ่มบริษัททีซีซีอีกด้วยซึ่งช่วยรักษาอัตราการใช้กำลังการผลิตให้อยู่ในระดับสูงสุด
บริษัทได้พยายามขยายยอดขายสินค้าบรรจุภัณฑ์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม และยังได้ออกผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่สินค้าใหม่ ๆ เช่น ขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กระป๋องอลูมิเนียมสำหรับกาแฟและน้ำผลไม้ รวมทั้งกระป๋องอลูมิเนียมขนาดใหม่ ๆ อีกด้วย โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายสินค้าไปยังหมวดสินค้าใหม่ ๆ และการขยายพื้นที่จำหน่ายให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้นจะช่วยสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของบริษัทได้
พฤติกรรมการกักตุนและซื้อสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่เกิดความตื่นกลัวของผู้บริโภคบางส่วนในระยะเริ่มการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สร้างการเติบโตด้านรายได้ในกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์ให้แก่บริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 อย่างไรก็ตาม รายได้สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ปรับลดลง 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงบังคับใช้มาตรการปิดประเทศ ทั้งนี้ เมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว บริษัทคาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จะฟื้นกลับมาใกล้เคียงกับระดับปกติได้ นอกจากนี้ การที่สัญญาระหว่างลูกค้ากับบริษัทส่วนใหญ่เป็นสัญญาระยะยาว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าสินค้าบรรจุภัณฑ์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในปี 2563 ไม่มากนัก
อัตรากำไรอยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงเป็นที่น่าพอใจ โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 2.12 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอยู่ที่ 9.3 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 12.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 13%-13.5% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการพิเศษแล้ว อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปกติของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 13.2% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทในปี 2563 จะลดลงเนื่องจากยอดขายหดตัวลงอันเป็นผลจากโรคโควิด 19 แต่จะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นมาอยู่ในช่วงประมาณ 13% ในช่วงปี 2564-2565 บริษัทได้ดำเนินมาตรการลดต้นทุนในทุกกลุ่มธุรกิจและตั้งเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นการเลือกจัดสรรสินค้าให้เหมาะสมกับช่วงที่ตลาดซบเซาอีกด้วย โดยคาดหวังว่าประสิทธิผลจากการลดต้นทุนจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับดีขึ้นได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
สภาพคล่องที่ตึงตัวแต่บริหารจัดการได้
บริษัทมีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมใหม่เพื่อชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และเงินลงทุนระยะสั้นรวมประมาณ 4.5 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอีกจำนวน 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนตามแผนทั้งสิ้นประมาณ 1.93 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอยู่ที่ประมาณ 2.01 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และอีกประมาณ 2.07 หมื่นล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนตามแผนดังกล่าว
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 1.3 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในปี 2563 และจะกลับมาเติบโตที่ระดับ 1.72-1.79 แสนล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะลดลงในปี 2563 และจะกลับขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 13% ในช่วงปี 2564-2565
• บริษัทจะใช้เงินลงทุนโดยรวมประมาณ 1.93 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงภาระหนี้สินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและแนวโน้มที่บริษัทจะไม่สามารถปรับลดภาระหนี้สินลงได้ตามเป้าหมาย กล่าวคือ บริษัทจะไม่สามารถลดระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่า 5 เท่าภายในปี 2564 ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดจากการที่บริษัทไม่สามารถลดภาระหนี้สินลงได้และมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 เท่าภายในสิ้นปี 2564 แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการเปลี่ยนมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้หากบริษัทสามารถลดภาระหนี้สินลงและทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายให้ต่ำกว่า 5 เท่าได้เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
อันดับเครดิตองค์กร: A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: BJC213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+ BJC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+ BJC21DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+ BJC223A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ BJC223B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ BJC226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,740 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+ BJC233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ BJC233B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ BJC239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ BJC239B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ BJC23DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+ BJC243A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+ BJC246A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,256.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+ BJC249A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+ BJC253A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+ BJC259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+ BJC25DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+ BJC269A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+ BJC26DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,730 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+ BJC273A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+ BJC273B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+ BJC279A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+ BJC283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+ BJC293A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+ BJC299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+ BJC303A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+ BJC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,003.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html