ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ “A-” โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่”
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนลักษณะของธุรกิจที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยากเนื่องจากมีโควต้าการจับปลาและต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความเสี่ยงของอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ด้านอันได้แก่ ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก และความ
ผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอยยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลประกอบการที่ดีจากธุรกิจหลักของบริษัท
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อันเป็นผลมาจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปและธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ในขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งมีรายได้และกำไรที่ลดลง
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลักของบริษัทเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ยอดขายอาหารทะเลแปรรูปของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการกักตุนสินค้าอาหารในช่วงที่ไวรัสระบาดอย่างรุนแรงซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าการลดลงของยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งที่ได้รับผลกระทบจากการปิดร้านอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปิดเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาด ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 6.42 หมื่นล้านบาท ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากยอดขายอาหารทะเลแปรรูปที่เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ยอดขายอาหารทะเลแช่แข็งลดลง 9.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน
บริษัทยังมีอัตรากำไรที่ดีขึ้นด้วยเนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของสินค้าภายใต้ตราสัญลักษณ์ของบริษัทที่มีอัตรากำไรที่ดี ตลอดจนราคาวัตถุดิบที่ค่อนข้างคงที่ รวมถึงการไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการจ่ายค่าชดเชยคดีความ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.7 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เทียบกับระดับ 3.8 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และระดับ 9.8 พันล้านบาทถึง 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2560-2562 ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 10.4% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 จากระดับ 7.3%-8.7% ในปี 2560-2562
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลประกอบการที่ดีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้ว่ายอดขายอาหารทะเลแปรรูปจะลดลง แต่ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งจะได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานตลอดจนสายการผลิตของบริษัทได้เป็นอย่างดีต่อไปตลอดช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส
ผลขาดทุนจากการลงทุนใน “Red Lobster”
“Red Lobster” เป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งบริษัทมีสัดส่วนการลงทุน 25% ในหุ้นสามัญและลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิที่แปลงสภาพได้มูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ Red Lobster ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมาตรการปิดเมือง ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัส ร้านอาหารทุกแห่งของบริษัทได้หยุดให้บริการภายในร้านและได้ปรับตัวไปเป็นให้บริการส่งอาหารแทน แม้ว่ารายได้จากการให้บริการส่งอาหารจะเติบโตมากแต่ก็ไม่สามารถชดเชยกับการหดตัวของรายได้จากการให้บริการอาหารภายในร้านได้ บริษัทมียอดขายลดลงเป็นอย่างมากในขณะที่ยังคงมีค่าจ่ายคงที่ในระดับสูง ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 597 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เทียบกับยอดกำไรจำนวน 457 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2562
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้ประกาศเรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของ Red Lobster โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่นั้นมีผลงานเป็นที่ยอมรับและมีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารจากกลุ่ม ไมเนอร์ ฟู้ด และ เอ็มเค เรสโตรองต์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Red Lobster จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ ตลอดจน กลยุทธ์ในการลดรายจ่ายจำนวนมาก แต่ทริสเรทติ้งยังมองว่าผลประกอบการของ Red Lobster จะยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะชะลอตัวของการบริโภคภายหลังวิกฤติโควิด 19 และการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจร้านอาหารต่อไป ภายใต้สมมติฐานขั้นพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า Red Lobster จะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จนถึงปี 2564 และผลประกอบการจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปจากกลยุทธ์ของบริษัทและภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น
ภาระหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น
การใช้เงินลงทุนจำนวนมากใน Red Lobster ตลอดจนการเติบโตของกำไรในระดับต่ำส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงมาเหลือ 5.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.4 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากระดับ 6-7 เท่าในช่วงปี 2559-2562
ในอนาคตข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงตามผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นและค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปรับปรุงสถานะทางการเงินโดยจะนำ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมอลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2564 อีกด้วย โดยภายหลังจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว บริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทไทยยูเนี่ยนฟีดมอลล์ลดลงมาอยู่ที่ 51% จาก 66.9% และบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) บางส่วนมาใช้ในการชำระหนี้ของบริษัท
การมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่หลากหลาย
บริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกโดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 0.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลกอีกด้วย โดยนอกเหนือจากปลาทูน่าซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักในสัดส่วน 33% ของยอดขายรวมของบริษัทในปี 2562 แล้ว สินค้าอาหารทะเลของบริษัทยังประกอบไปด้วย กุ้งและสินค้าที่เกี่ยวข้อง (30%) อาหารสัตว์ (9%) ปลาแซลมอน (8%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอร์เรล (7%) รวมทั้งสินค้าเพิ่มมูลค่าและสินค้าอื่น ๆ (13%) ด้วย
การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่เหนือกว่าผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งนี้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการใช้ผลผลิตพลอยได้ เช่น การนำก้าง หนัง และน้ำมันปลามาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารกุ้ง และน้ำมันปลาอีกด้วย
การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์
การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ทั้งในด้านฐานการผลิตและตลาดช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทลงได้บางส่วน โดยบริษัทมีฐานการผลิตที่กระจายตัวอยู่ใน 13 ประเทศซึ่งครอบคลุม 4 ทวีป นอกจากนี้ บริษัทยังมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ด้วยเช่นกัน โดยรายได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้รวมในปี 2562 รองลงมาคือตลาดยุโรป 28% ประเทศไทย 12% และประเทศญี่ปุ่น 5% ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า และกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกได้ในระดับหนึ่ง
สถานะที่แข็งแกร่งและตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป Thai Union Europe (TUE) ซึ่งเดิมชื่อ MW Brands SAS เป็นเจ้าของตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในยุโรปจำนวนมาก ได้แก่ “John West“ “Petit Navire“ “Mareblu“ และ “Parmentier“ ปัจจุบัน John West มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักร (38%) ในประเทศไอร์แลนด์ (51%) และในประเทศเนเธอร์แลนด์ (29%) โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ AC Neilsen และ IRI Report ที่ทริสเรทติ้งได้รับจากผู้บริหารของบริษัท นอกจากนี้ Petit Navire ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดียังมีส่วนแบ่งทางการตลาด 47% ในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย
ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น “Chicken of the Sea“ เป็นปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 9% ในด้านของยอดขายในปี 2562 ในขณะที่ Starkist เป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุด (47%) รองลงมาคือ Bumble Bee (25%)
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ครบกำหนดชำระประมาณ 6.1 พันล้านบาท แหล่งที่มาของเงินทุนในการชำระหนี้โดยหลัก ๆ จะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทประมาณปีละ 7-8 พันล้านบาท นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมาจากเงินสดประมาณ 5.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ตลอดจนวงเงินกู้ที่บริษัทมีกับสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่งด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 0.6% ในปี 2563 และเติบโต 3%ในช่วงปี 2564-2565
• อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในช่วงระหว่าง 16%-17% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 8%-9%
• ค่าใช้จ่ายลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 3.8-4.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและการมีประสิทธิภาพในการผลิต
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงกว่าที่คาด
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Hybrid Securities), 12 กันยายน 2561
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TU212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
TU217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
TU217B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
TU221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
TU237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
TU241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
TU242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
TU26NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
TU271A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A+
TU29NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A+
TU19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 6,000 ล้านบาท A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable