ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นด้านการเงินที่อยู่ในระดับสูงซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564-2565 โดยที่อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มธนชาต
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
แหล่งรายได้ที่หลากหลายช่วยบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด 19
แหล่งรายได้ที่มีความหลากหลายของบริษัทช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด 19 ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว บริษัทได้ปิดศูนย์การค้าทั้งหมดและโรงแรมจำนวน 5 แห่งของบริษัทในช่วงการออกมาตรการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาและเริ่มกลับมาเปิดศูนย์การค้าทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2563 และให้บริการโรงแรมในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งผลให้รายได้จากโรงแรมและศูนย์การค้าลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ลดลงจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับการชดเชยบางส่วนจากธุรกิจให้บริการทางการเงินของบริษัทที่ยังมีการเติบโตในระดับที่แข็งแกร่งที่ 8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินปันผลจากการลงทุนจำนวน 840 ล้านบาทซึ่งช่วยเสริมกระแสเงินสดและสภาพคล่องของบริษัทได้อีกด้วย
ผลการดำเนินงานของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2564-2565 โดยธุรกิจนี้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เนื่องจากบริษัทได้ยกเว้นค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าในช่วงที่มีการปิดศูนย์การค้า สำหรับศูนย์การค้า “เอ็มบีเค เซ็นเตอร์” ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาตินั้น บริษัทได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เช่าโดยการให้ส่วนลดค่าเช่าในช่วงที่เหลือของปี 2563 อย่างไรก็ตาม สำหรับศูนย์การค้าอื่น ๆ ที่อยู่รอบนอกรวมทั้งอาคารสำนักงานนั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวไทย โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จำนวนลูกค้าของศูนย์การค้ารอบนอกได้กลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงปกติ ดังนั้น บริษัทจึงได้กลับมาเก็บค่าเช่าในอัตราปกติ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะลดลง 35%-40% ในปี 2563 แต่จะฟื้นตัวขึ้นที่ระดับประมาณ 30% ในปี 2564 และ 7% ในปี 2565
บริษัทให้บริการศูนย์การค้าจำนวน 4 แห่งและอาคารสำนักงานจำนวน 4 แห่งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัดส่วนการลงทุนอีก 48% ใน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ ด้วย อสังหาริมทรัพย์ให้เช่าของบริษัทตั้งอยู่ในทำเลที่ดีโดยอยู่ในแหล่งจับจ่ายสินค้าย่านใจกลางเมืองและพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น ดังนั้น บริษัทจึงมีอัตราการเช่าพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90% และยังมีอัตราค่าเช่าอยู่ในระดับสูงด้วยเช่นกัน
อสังหาริมทรัพย์ให้เช่าสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัทจากรายได้ค่าเช่าและค่าบริการตามสัญญา ทั้งนี้ พื้นที่เช่าของบริษัทมากกว่า 80% เป็นการเช่าภายใต้สัญญาที่มีอัตราค่าเช่าคงที่ โดยในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานคิดเป็น 38% ของรายได้ทั้งหมด และคิดเป็น 59% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม
ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานโรงแรมของบริษัทจะอ่อนแอลงอย่างมากในปี 2563 แต่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาในปี 2564-2565 อนึ่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาตรการจำกัดการท่องเที่ยวและการปิดเมืองส่งผลให้ผลการดำเนินงานในธุรกิจโรงแรมของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโรงแรมของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมในต่างจังหวัดนั้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองหลังจากที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และภาครัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นดูเหมือนว่าจะยังไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งกระทบต่อความหวังที่จะยกเลิกมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศให้ได้ในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกน่าจะยังเป็นปัจจัยที่ขัดขวางความต้องการในการเดินทางอีกด้วยแม้ว่าการแพร่ระบาดจะสามารถควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทในปี 2563 จะลดลงประมาณ 60% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 โดยจะอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 ที่ประมาณ 35% และหลังจากนั้นในปี 2565 จะอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 ที่ประมาณ 10%
ความต้องการที่ลดลงส่งผลให้ยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ชะลอตัว
บริษัทคาดว่าจะก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ “ควิน สุขุมวิท 101” ให้แล้วเสร็จและพร้อมโอนให้แก่ลูกค้าได้ในช่วงปลายปี 2563 โดยโครงการตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสปุณณวิถี โครงการดังกล่าวเป็นอาคารสูงซึ่งมีห้องชุดจำนวน 347 ห้องและมีมูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทขายโครงการไปได้เพียง 32% จากมูลค่าโครงการทั้งหมดเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยลดลง ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ายอดขายโครงการคอนโดมิเนียมจะยังคงชะลอตัวต่อไปอีก 2-3 ปีตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยอื่น ๆ ของบริษัทตั้งอยู่ภายในบริเวณหรือใกล้กับสนามกอล์ฟของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการที่พักอาศัยที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การค้า “เดอะ ไนน์” ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอนให้แก่ลูกค้าได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทยังมีโครงการที่อยู่อาศัยในจังหวัดชลบุรีซึ่งมีกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงต่ำเป็นลูกค้าเป้าหมายอีกด้วย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีมูลค่าคงเหลือของโครงการเหล่านี้อยู่ประมาณ 4 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการที่อยู่อาศัยเหล่านี้ประมาณ 400 ล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 1.1-1.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
ธุรกิจให้บริการทางการเงินยังคงสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ
ธุรกิจให้บริการทางการเงินของบริษัทสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจำนวน 600-700 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 ยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คงค้างของบริษัทอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาทและยอดสินเชื่อคงค้างของการให้บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 8.31 พันล้านบาท
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศโดยทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวไทยลดลงและอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ของลูกค้าของบริษัทบางรายลดลงและอาจจะทำให้จำนวนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธุรกิจให้บริการทางการเงินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ณ เดือนมิถุนายน 2563 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 5.5% เมื่อเทียบกับระดับ 4.7% ในปี 2562 ส่วนอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.1% ณ เดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 11.1% ในปี 2562 ดังนั้น เพื่อบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงได้จำกัดวงเงินสินเชื่อลงและมีมาตรการในการอนุมัติสินเชื่อและมีวิธีการจัดเก็บหนี้ที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าพอร์ตสินเชื่อของบริษัทจะลดลงประมาณ 5%-10% ในปี 2563 และหลังจากนั้นจะขยายตัวที่ระดับ 5% ในปี 2564-2565
ผลการดำเนินงานจะอ่อนตัวลงในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอ่อนตัวลงในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564-2565 ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะอ่อนตัวลงสู่ระดับประมาณ 7 เท่าในปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 4-5 เท่าในช่วงปี 2564-2565 ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทคาดว่าจะคงอยู่ที่ระดับ 50%-55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าว บริษัทได้ตั้งงบลงทุนเอาไว้ทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 1.7 พันล้านบาท
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดจำนวน 6.69 พันล้านบาทและมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีก 4.07 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 2.8 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระในการชำระหนี้เงินต้นจำนวน 3.29 พันล้านบาทและหนี้ระยะสั้นคงค้างจำนวน 693 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่บริษัทมีงบลงทุนในปี 2563 จำนวนประมาณ 685 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่า 4.8 พันล้านบาทซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัทให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 0.68 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2 เท่า ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 9.49 เท่าซึ่งสูงกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4 เท่าด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานในระหว่างปี 2563-2565 ดังต่อไปนี้
• รายได้ของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 8 พันล้านบาทในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะลดลงสู่ระดับ 43% ในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 48% ในช่วงปี 2564-2565
• งบประมาณลงทุนรวมซึ่งไม่รวมธุรกิจให้บริการทางการเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
• ยอดสินเชื่อคงค้างของธุรกิจให้บริการทางการเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท
• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ระหว่าง 50%-55%
• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 7 เท่าในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 4-5 เท่าในช่วงปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการที่บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถของบริษัทในการรองรับผลกระทบจากการแพร่ะระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจให้บริการทางการเงินและจากเงินลงทุนจะช่วยลดผลกระทบจากรายได้จากธุรกิจศูนย์การค้าและธุรกิจโรงแรมของบริษัทที่ลดลงได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่มีในระยะอันใกล้นี้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ะระบาดที่ยาวนานของโรคโควิด 19 หรือบริษัทมีการลงทุนที่มีการก่อหนี้เป็นจำนวนมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MBK227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
MBK229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
MBK229B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
MBK27NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable