ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB-” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแรง มีสภาพคล่องทางการเงินและแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ รวมทั้งมีความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยรับภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงเอาไว้ได้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องและภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่มีแนวโน้มถดถอยลงในระยะปานกลางภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ภายใต้แรงกดดัน
ทริสเรทติ้งคาดว่าแรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงมีอยู่ต่อไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าโดยสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่สูงขึ้นและผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายรถยึด รวมถึงรายได้ดอกเบี้ยรับที่ลดลงจากนโยบายที่บริษัทจะลดขนาดของพอร์ตสินเชื่อลง ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2% ในปี 2563-2565 เมื่อเทียบกับระดับในอดีตที่ 3%-4%
ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงพอสมควรมาตั้งแต่ปี 2562 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 130 ล้านบาท ลดลง 8.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นั้น บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 0.75 ล้านบาท ลดลง 99% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนด้วยสาเหตุหลักที่มาจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) และผลขาดทุนจากการจำหน่ายรถยึดที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้รวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจากการมีรายได้ดอกเบี้ยที่แข็งแรงและรายได้หนี้สูญรับคืน
คุณภาพสินเชื่ออ่อนแอลงแต่มีแนวโน้มจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
ทริสเรทติ้งมองว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอ่อนแอลงจากปี 2561 โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) เพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จาก 3.5% ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และอัตราส่วนดังกล่าวยังคงปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
การที่ผู้บริหารของบริษัทมีความพยายามในการปรับปรุงกระบวนการในการติดตามหนี้และเกณฑ์การปล่อยกู้ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปนั้นทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2.7% ของสินเชื่อโดยเฉลี่ยในระหว่างปี 2563-2565
การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งขึ้น
การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทในปัจจุบันแข็งแกร่งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ในส่วนของการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) นั้น บริษัทได้สำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ให้สูงขึ้นตามข้อกำหนดของมาตรฐานโดยปรับปรุงจากกำไรสะสมเป็นจำนวนเงิน 197 ล้านบาท ตั้งแต่ ณ วันที่ 1 มกราคม 2563
บริษัทยังได้ตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมสำหรับครึ่งแรกของปี 2563 เพื่อสะท้อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดยค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 402 ล้านบาทจาก 77 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 82% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จาก 26% ณ สิ้นปี 2562
การเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง
ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 จาก 2.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 42% โดยเป็นผลสำเร็จจากความสามารถในการทำการตลาดของบริษัท อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2563 จนถึง 2-3 ปีข้างหน้านี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการที่คณะผู้บริหารของบริษัทมีกลยุทธ์การเติบโตของสินเชื่อที่ระมัดระวังโดยเปลี่ยนไปเน้นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์และเพิ่มความพยายามในการติดตามหนี้นั้นอาจส่งผลทำให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทหดตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทชะลอตัวโดยลดลง 5% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 6.9 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทในปี 2563 จะหดตัวลง 55% เป็น 1.5 พันล้านบาทจาก 3.4 พันล้านบาทในปี 2562 และยอดสินเชื่อใหม่ของบริษัทจะเติบโตช้าลงโดยอยู่ในอัตราประมาณ 10% ต่อปีช่วงปี 2564-2565 โดยมีสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ (Big Bike) ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นปัจจัยขับเคลื่อน
ระดับฐานทุนจะยังคงแข็งแรง
ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังอยู่ในระดับที่แข็งแรงและเหมาะสมกับอันดับเครดิตปัจจุบัน โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 32% ในระหว่างปี 2563-2565 ภายใต้การคาดการณ์ว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลจะเป็นไปอย่างระมัดระวังและธุรกิจของบริษัทจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ของบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพื่อใช้ในการขยายสินเชื่อในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลลบต่ออันดับเครดิตด้วยบางส่วน โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับระดับต่ำกว่า 2 เท่าในช่วงก่อนปี 2561 ถึงแม้อัตราส่วนดังกล่าวจะต่ำกว่าข้อตกลงที่มีกับสถาบันการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 4 เท่า แต่การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาระหนี้ของบริษัทก็อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะมีความต้องการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยในระยะเวลาอันใกล้นี้ ฐานทุนที่ปรับตัวดีขึ้นจากผลกำไรซึ่งแม้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่ก็น่าจะเพียงพอต่อนโยบายการขยายสินเชื่อของบริษัทที่ไม่เติบโตมากนักในระยะปานกลาง
เงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะมีสถานะเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า สำหรับเงินที่บริษัทจะได้รับจากการชำระคืนสินเชื่อของลูกหนี้ในช่วงดังกล่าวนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.1 พันล้านบาทในขณะที่ภาระการชำระคืนหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 พันล้านบาท นอกเหนือจากวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้นประมาณ 8.6 พันล้านบาทที่บริษัทมีกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งแล้ว บริษัทยังสามารถออกตั๋วแลกเงินเพื่อบริหารสภาพคล่องได้เป็นระยะอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวงเงินกู้ยืมจากธนาคารส่วนใหญ่มีการค้ำประกันโดยการโอนสิทธิลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ บริษัทจึงอาจมีข้อจำกัดในการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• การขยายตัวของสินเชื่อใหม่จะชะลอตัว 55% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 10% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
• ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับ 5.7%-5.9% ในระหว่างปี 2563-2565
• ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.7% ในระหว่างปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการตลาดที่มีแนวโน้มว่าจะลดลงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
หากคุณภาพสินทรัพย์ไม่มีสัญญาณที่จะปรับตัวดีขึ้นและ/หรือผลประกอบการของบริษัทยังคงอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะปานกลางนี้ ก็อาจส่งผลต่อการลดอันดับเครดิต ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ได้ หากคุณภาพสินทรัพย์และผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ECL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative