ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่แน่นอนและภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ทางด่วนยกระดับของบริษัทซึ่งอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธ์ศาสตร์ยังช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทต้องพึ่งพิงสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดเพียงแห่งเดียวคือทางด่วนยกระดับและจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุด (MOA3) ซึ่งต้องรอคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ปริมาณการจราจรฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
การที่ทางด่วนยกระดับของบริษัทตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธ์ศาสตร์นั้นทำให้ปริมาณจราจรบนทางด่วนฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ในช่วงที่มีมาตรการจำกัดการเดินทางและการปิดเมืองในเดือนเมษายน 2563 ปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยบนทางด่วนของบริษัทลดลงอย่างมากเหลือเพียง 18,511 คันต่อวันในเดือนเมษายนและ 32,292 คันต่อวันในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยที่ 92,942 คันต่อวันในปี 2562 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ภาครัฐได้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ปริมาณจราจรโดยเฉลี่ยบนทางด่วนของบริษัทก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วที่ระดับ 59% ในเดือนมิถุนายน 2563 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และที่ระดับ 17% ในเดือนกรกฎาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา การฟื้นตัวที่รวดเร็วสะท้อนถึงความสำคัญของทางด่วนของบริษัทซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมการเดินทางระหว่างใจกลางกรุงเทพฯ กับบริเวณที่มีชุมชนหนาแน่นทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ และสนามบินนานาชาติดอนเมือง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่เปิดออกสู่ภาคเหนือและภาคะวันออกเฉียงเหนือด้วย
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณจราจรบนทางด่วนของบริษัทจะลดลง 35% ในปี 2563 และจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 30% ในปี 2564 และ 6% ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทได้มีการเพิ่มอัตราค่าผ่านทางในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงเพียง 27% ในปี 2563 และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในปี 2564 และ 6% ในปี 2565 ตามลำดับ
ความเสี่ยงด้านกฎหมายยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิต
ความถูกต้องทางกฎหมายของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุดยังคงเป็นประเด็นหลักที่เป็นข้อจำกัดต่ออันดับเครดิต โดยกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้คือกรณีที่คำพิพากษาเป็นคุณต่อโจทก์ซึ่งอาจส่งผลให้อายุสัญญาสัมปทานสิ้นสุดในปี 2564 แทนที่จะเป็นในปี 2577
การแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุดดำเนินการไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และวันที่ 10 เมษายน 2550 โดยได้มีการชดเชยความเสียหายให้แก่บริษัทอันเป็นผลมาจากการกระทำของภาครัฐภายใต้รัฐบาลในอดีตซึ่งต่างไปจากที่ได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญาสัมปทาน ซึ่งเงื่อนไขที่เป็นประเด็นสำคัญในสัญญาสัมปทานที่มีการปรับปรุงได้แก่การขยายอายุสัญญาสัมปทานเพิ่มจากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2564 ไปเป็นปี 2577 และกำหนดอัตราการเพิ่มค่าผ่านทางไว้ล่วงหน้าตามข้อเสนอในการแก้ไขสัญญาในครั้งก่อน
บริษัทมีคดีความที่ได้รับการฟ้องร้องต่อศาลปกครองจำนวน 3 คดีซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความถูกต้องทางกฎหมายของการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุด ทั้งนี้ ภายหลังจากที่กระบวนการทางศาลดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี ศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษายกฟ้อง 2 คดีจากทั้งสิ้น 3 คดี ส่วนคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการทางศาลนั้น โจทก์อ้างว่ามติคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นในปี 2558 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุดดังกล่าว ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดซึ่งยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอนสำหรับวันพิพากษาคดี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงให้บริการทางด่วนยกระดับต่อไปแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมายของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุดดังกล่าวออกมาหลังปี 2564 โดยที่ผู้บริหารของบริษัทยังคงมั่นใจว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาในทางบวก
การพึ่งพิงแหล่งรายได้เพียงแห่งเดียว
บริษัทดำเนินกิจการทางด่วนยกระดับเพียงเส้นทางเดียว ดังนั้น ปริมาณจราจรจึงได้รับผลกระทบได้ง่ายเมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ปริมาณจราจรบนทางด่วนของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 จากการย้ายสนามบินนานาชาติของกรุงเทพฯ จากดอนเมืองไปเป็นสุวรรณภูมิ หรือจากการเปิดให้บริการทางด่วนที่เป็นเส้นทางคู่แข่ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณจราจรบนทางด่วนของบริษัทก็ฟื้นตัวกลับมาทุกครั้งหลังจากเหตุการณ์เหล่านั้นผ่านพ้นไปและยังคงเติบโตอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ปี 2554 โดยในปี 2563 ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ปริมาณจราจรลดลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้นแต่ก็ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วหลังจากที่ภาครัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่มีนัยสำคัญใด ๆ เกิดขึ้นที่จะส่งผลให้ปริมาณจราจรบนทางด่วนของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือเป็นเวลานานในช่วงประมาณการ
มีแผนในการชำระหนี้สินทางการเงินทั้งหมด
บริษัทมีแผนการที่จะชำระหนี้สินทางการเงินที่มีอยู่ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2565 โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีหนี้คงค้างจำนวน 3.06 พันล้านบาท ทั้งนี้ ตามประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานรวม 4.64 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะลดลงเหลือ 0% ในปี 2565 จาก 31.6% ในปี 2562 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนตามปกติสำหรับช่วง 3 ปีข้างหน้าที่จำนวน 800 ล้านบาทซึ่งบริษัทจะใช้เงินทุนจากกระแสเงินสดภายใน
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 650 ล้านบาทและเงินลงทุนอีกจำนวน 470 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 1.45 พันล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทได้จัดหาวงเงินจากธนาคารที่ได้รับการอนุมัติแล้วไว้จำนวน 1.6 พันล้านบาทเพื่อใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ดังนั้น เมื่อรวมสภาพคล่องทั้งหมดของบริษัทแล้วจึงคาดว่าจะมีเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ภาระหนี้ของบริษัทที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.64 พันล้านบาทและตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญาเช่าทางการเงินจำนวน 1.41 พันล้านบาท ในการนี้ บริษัทมีแผนจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินชุดใหม่เพื่อทดแทนตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะครบกำหนดชำระโดยจะมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปเป็นปี 2564 ในขณะเดียวกัน บริษัทก็มีงบลงทุนอีกจำนวน 356 ล้านบาทสำหรับปี 2563
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 0.55 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 2 เท่าเป็นอย่างมาก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังต่อไปนี้
• รายได้ของบริษัทจะลดลงประมาณ 27% ในปี 2563 และหลังจากนั้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 30% ในปี 2564 และ 6% ในปี 2565
• อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 65%-80%
• งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะค่อย ๆ ลดลงเหลือระดับ 0% ในปี 2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของโรคโควิด 19 และการมีกระแสเงินสดที่แน่นอน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของ
ทริสเรทติ้งอีกด้วยว่าบริษัทจะยังคงให้บริการทางด่วนยกระดับต่อไปแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมายของการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัทครั้งหลังสุดออกมาหลังปี 2564 ก็ตาม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งหลังสุดมีความถูกต้องทางกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (DMT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
DMT20NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
DMT20DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,140 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable