ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย และการมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีขนาดค่อนข้างเล็กและจากความผันผวนของน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินงานต่อไปในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าผลผลิตอ้อยจะลดต่ำลงจากภาวะภัยแล้งในประเทศไทย ตลอดจนราคาน้ำตาลทั่วโลกที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาษีน้ำตาลที่ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความต้องการน้ำตาล และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยังคงดำเนินต่อไป
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากภาวะภัยแล้งและราคาน้ำตาลที่ลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาวะภัยแล้งและการลดลงของราคาน้ำตาลจะยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อผลประกอบการของบริษัทในช่วงหลายปีข้างหน้า
ปริมาณอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว 2563/2564 คาดว่าจะใกล้เคียงกับในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว 2562/2563 (ปริมาณอ้อยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 75 ล้านตัน) ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ประมาณ 14 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2564-2565 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทลดลง 21% เหลือประมาณ 5.8 พันล้านบาทในปี 2563 และ 5.9 พันล้านบาทในปี 2564 หลังจากนั้น รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2561 ที่ 8.2 พันล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 860 ล้านบาทในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 980 ล้านบาทในปี 2564 และ 1.3 พันล้านบาทในปี 2565
จากการสอบถามผู้บริหารพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 3.5 พันล้านบาท และ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 490 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 60% ของประมาณการของทั้งปี 2563 ตามที่
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้โดยได้พิจารณารวมไปถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและการลดลงของราคาน้ำตาลแล้ว
ความสามารถในการทำกำไรคงที่ ในขณะที่รายได้ปรับตัวลดลง
บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างมั่นคงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากส่วนหนึ่งนั้นบริษัทมีกระแสเงินสดรับที่คงที่จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยบริษัทมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 14%-19% ในช่วงระหว่างปี 2558-2562
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารายได้จะลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศที่ตกต่ำและราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลดลง อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทก็คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 15%-16% ในช่วงปีประมาณการ
มีประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจน้ำตาล
บริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานต่อเนื่องมามากกว่า 60 ปีในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยในปี 2562 บริษัทมียอดส่งออกน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 84% ของรายได้ในธุรกิจน้ำตาล โดยลูกค้าส่งออกของบริษัททั้งหมดคือกลุ่มผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่น้ำตาลดิบซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัทในธุรกิจน้ำตาลนั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 70% ของยอดขายน้ำตาลทั้งหมดของบริษัท
ปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูง (Very High Polarization Sugar -- VHP) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นหนึ่งในโรงงานน้ำตาลเพียง 8 แห่งในประเทศไทยที่ได้ใบรับรองมาตรฐาน “Bonsucro” อีกด้วย ทั้งนี้ น้ำตาลที่มีคุณภาพสูงช่วยทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นรวมทั้งยังช่วยดึงดูดลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ความได้เปรียบของที่ตั้งโรงงาน
โรงงานน้ำตาลของบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศอันเป็นภูมิภาคที่ปลูกอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลได้ดีเนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็นเช่นในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สำหรับในเขตภาคตะวันออกนั้น บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำตาลเพียงรายเดียวในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ส่วนโรงงานผลิตน้ำตาลอื่น ๆ นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นเพื่อให้ได้วัตถุดิบอ้อยที่เพียงพอเพื่อป้อนโรงงาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกด้วยโดยบริษัทให้การสนับสนุนชาวไร่อ้อยอย่างครบวงจรทั้งด้วยการจ่ายเงินสดล่วงหน้าและการสนับสนุนปุ๋ย รวมไปถึงการพัฒนาวิธีปลูกอ้อยที่มีประสิทธิภาพ การใช้ระบบชลประทานที่ก้าวหน้า ตลอดจนการสนับสนุนพันธุ์อ้อยและเครื่องมือในการเก็บเกี่ยว
มีแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอีกด้วย
บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าโดยรวมที่ขนาด 123.6 เมกะวัตต์โดยบริษัทใช้กากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยกฟผ. รับซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 40 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ในขณะที่ กฟภ. รับซื้อไฟฟ้าที่ขนาด 11 เมกะวัตต์ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP)
บริษัทมีกำลังการผลิตเอทานอลมากถึง 150,000 ลิตรต่อวันและมีลูกค้าเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันรายใหญ่ในประเทศ
รายได้จากธุรกิจในกลุ่มพลังงานทั้งในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและ ณ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่สำคัญของรายได้รวมของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2562 ธุรกิจในกลุ่มพลังงานสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วน 23% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท โดยรายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจน้ำตาล
ภาระหนี้และกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้คาดว่าจะดีขึ้น
ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการลงทุนในส่วนของโรงงานใหม่และการเพิ่มกำลังการผลิตไปแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนหลัก ๆ จะใช้ไปในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เช่น การประหยัดการใช้พลังงานในการผลิต การติดตั้งระบบซอฟแวร์ใหม่ และการซื้อเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวอ้อย ในการนี้
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทในปี 2563 น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% (ณ เดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 53%) และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 6 เท่าในปี 2563 และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 5 เท่าในปี 2564 และ 3.5 เท่าในปี 2565
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในอีก 12 เดือนข้างหน้า บริษัทน่าจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ในปี 2565 จากระดับ 14% ในปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 5-10 เท่าในระหว่างปี 2563-2565 โดยทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะมีเงินสนับสนุนจากทางสถาบันการเงินหลายแห่งและเงินสดภายในที่เพียงพอสำหรับการลงทุนในอนาคต
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
• รายได้ในปี 2563 คาดว่าจะลดลง 20% และจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2564 เนื่องจากยังมีปริมาณผลผลิตที่ต่ำ หลังจากนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 38% ในปีการเงิน 2565 หากปริมาณอ้อยกลับคืนสู่ภาวะปกติและราคาน้ำตาลคงที่
• การปรับปรุงกระบวนการผลิตจะทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคงอยู่ที่ระดับ 15%-16%ระหว่างปีประมาณการ
• งบลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 500 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลประกอบการทางการเงินของบริษัทที่จะลดลงจากผลกระทบของภาวะภัยแล้งที่รุนแรงและยาวนานในประเทศไทยรวมทั้งจากการลดลงของราคาน้ำตาลในตลาดโลก
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถฟื้นฟูผลประกอบการให้กลับมาอยู่ในระดับน่าพอใจได้ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องในขณะที่ยังสามารถรักษาระดับโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในสัดส่วนที่ยอมรับได้ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากความสามารถในการทำกำไรและรายได้ของบริษัทลดต่ำลงกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ นอกจากนี้ การลงทุนเชิงรุกที่ทำให้เกิดภาระหนี้จำนวนมากจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มสูงขึ้นก็อาจเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) (ESC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative