ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” “บ. ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป” และกำหนดแนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 25, 2020 10:01 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ชัยวัฒนา

แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BB+” ในขณะเดียวกัน

ทริสเรทติ้งยังกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ด้วย โดยการประกาศผลอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระยะสั้นที่ลดลงหลังจากที่บริษัทสามารถขยายเวลาครบกำหนดชำระของหุ้นกู้ CWT205A ออกไปได้และชำระคืนหุ้นกู้ CWT209A ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทน

อันดับเครดิต “BB+” ยังคงสะท้อนถึงกำไรที่ผันผวนของบริษัท ตลอดจนการกระจุกตัวทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ความเสี่ยงจากการดำเนินงานอันเนื่องมาจากการลงทุนใหม่ และความเป็นไปได้ที่การก่อหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลงานของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ฟอกหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเบาะหนังรถยนต์ และกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้จากโครงการโรงไฟฟ้านั้นถือเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนอันดับเครดิต

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระยะสั้นลดต่ำลง

บริษัทได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นกู้ในการแก้ไขข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ CWT205A มูลค่า 337.1 ล้านบาท โดยภายใต้ความเห็นชอบดังกล่าว บริษัทได้ชำระคืนยอดคงค้างของหุ้นกู้จำนวน 30% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 101.13 ล้านบาทเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ส่วนเงินต้นที่เหลืออีกจำนวน 235.97 ล้านบาทนั้นมีการขยายเวลาการชำระคืนออกไป 1 ปีโดยจะครบกำหนดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถชำระคืนหุ้นกู้ CWT209A มูลค่า 294.3 ล้านบาทที่ครบกำหนดในวันที่ 1 กันยายน 2563 ได้ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทนอีกด้วย

บริษัทน่าจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างเพียงพอในช่วงที่เหลือของปี 2563 โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทมีภาระหนี้ซึ่งไม่รวมหุ้นกู้ CWT209A จำนวนทั้งสิ้น 357 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระ ในขณะที่ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 บริษัทมีเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันจำนวน 36 ล้านบาท รวมทั้งยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 100 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนอีกจำนวนประมาณ 382 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านบาท ดังนั้น บริษัทจะมีแหล่งเงินสดรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 598 ล้านบาทซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับหนี้ทั้งหมด

มีผลงานที่ยาวนานในฐานะผู้ฟอกหนัง

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้จากผลงานที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจฟอกหนัง บริษัทเริ่มผลิตเบาะหนังรถยนต์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2538 ด้วยสถานะการเป็นผู้จัดหาสินค้าในกลุ่ม Tier 2 บริษัทจะจัดหาสินค้าให้แก่ผู้จัดหาสินค้าในกลุ่ม Tier 1 อีกทอดหนึ่งโดยมีลูกค้าปลายทางอย่างเช่น “ฮอนด้า” “อีซูซุ” และ “โตโยต้า” โดยคุณภาพสินค้าของบริษัทนั้นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

ในอนาคตทริสเรทติ้งเชื่อว่าธุรกิจเบาะหนังรถยนต์น่าจะยังคงสร้างรายได้หลักให้แก่บริษัท การอยู่ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์นั้นน่าจะช่วยประกันกระแสรายได้ให้แก่บริษัทเนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์มักจะเลือกผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หนังเพียงรายเดียวหรือเพียงไม่กี่รายสำหรับรถยนต์ในโมเดลหนึ่ง ๆ ซึ่งจะมีช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 4-6 ปี โดยไม่นิยมเปลี่ยนผู้จัดหาตลอดอายุของโมเดลรถยนต์รุ่นนั้น ๆ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพสินค้าของตน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างบริษัทและผู้ผลิตรถยนต์ช่วยเพิ่มโอกาสที่บริษัทจะได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดหาผลิตภัณฑ์หนังให้แก่รถยนต์โมเดลใหม่ ๆ

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ได้ทำให้ความต้องการรถยนต์ลดต่ำลง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านบาทในปี 2563 จาก 2 พันล้านบาทในปี 2562 โดยรายได้จากเบาะหนังรถยนต์ลดลง 35.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 339 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะฟื้นตัวในปี 2564 และแตะระดับ 2.4 พันล้านบาทในปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งผลิตเบาะหนังรถยนต์และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจใหม่อย่างธุรกิจเรือและรถมินิบัสที่ประกอบจากอะลูมิเนียม

อัตรากำไรมีความผันผวน

แม้กระแสรายได้จากธุรกิจเบาะหนังรถยนต์จะมีแนวโน้มที่มีความมั่นคง แต่อัตรากำไรของธุรกิจดังกล่าวก็มีความผันผวนอย่างมาก โดยบริษัทไม่สามารถผลักภาระต้นทุนการผลิตเบาะหนังรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นไปให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ได้ ในขณะที่สัญญาผลิตเบาะหนังรถยนต์มีการกำหนดราคาแบบตายตัว บริษัทกลับต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาหนังดิบ ทั้งนี้ หนังดิบเป็นวัตถุดิบหลักของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40%-50% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดและเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนด้านราคา นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดและชำระเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเกือบทั้งหมดตั้งราคาขายเป็นเงินบาท

การเปลี่ยนแปลงราคาหนังดิบมีผลกระทบอย่างมากต่ออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ในช่วง 14%-28% ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมนั้นแปรปรวนเป็นอย่างมากโดยขึ้นลงอยู่ในช่วง 5%-19% อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับลดลงของราคาหนังดิบและสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรสูง ในขณะเดียวกัน บริษัทยังมีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

มีการกระจุกตัวทางธุรกิจค่อนข้างสูง

จุดแข็งของธุรกิจเบาะหนังรถยนต์ยังถูกลดทอนลงจากการกระจุกตัวทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูงของบริษัทด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศมีผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย บริษัทจึงต้องพึ่งพิงลูกค้าที่มีไม่มาก โดยลูกค้า 3 รายแรกสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วน 60%-70% ของรายได้รวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การสูญเสียลูกค้าหลักเพียงรายเดียวหรือการลดลงของรายได้ของลูกค้าหลักรายใดรายหนึ่งก็อาจสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานกับผู้จัดหาสินค้าในกลุ่ม Tier 1 และผู้ผลิตรถยนต์ก็ช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียลูกค้าลงไปได้บ้าง ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวน่าจะช่วยลดผลกระทบในด้านลบในช่วงที่อุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัวได้

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยทำให้กระแสเงินสดมีความมั่นคง

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทมีความมั่นคงมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มอัตรากำไรให้สูงขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2 โครงการคือโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าชีวมวลโดยมีกำลังการผลิตตามสัญญารวมกันที่ขนาด 13 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งดังกล่าวมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และในแต่ละสัญญามีการระบุราคาซื้อขายไฟฟ้าที่ชัดเจนซึ่งทำให้กระแสเงินสดที่บริษัทได้รับจากโรงไฟฟ้านั้นสามารถคาดการณ์ได้ ทั้งนี้ ต้นทุนในการผลิตของโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจหลักของบริษัทซึ่งได้แก่ธุรกิจเบาะหนังรถยนต์และธุรกิจฟอกหนัง ซึ่งกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานที่ผันผวนของธุรกิจหลักได้บางส่วน

แม้ธุรกิจไฟฟ้าจะใช้เงินลงทุนสูงแต่ก็ให้อัตรากำไรในระดับสูง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของธุรกิจผลิตไฟฟ้าอยู่ในช่วง 30%-40% เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นซึ่งอยู่ที่ 6%-12% กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกของบริษัทเริ่มดำเนินงานในเดือนเมษายน 2561 ซึ่งโครงการโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทดังกล่าวมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 45% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัทในปี 2562

การลงทุนใหม่จะเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินงานและทำให้ระดับการก่อหนี้สูงขึ้น

บริษัทได้ขยายกิจการไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจเรือและรถมินิบัสที่ประกอบจากอะลูมิเนียมตามกลยุทธ์การเติบโต บริษัทใช้เงินลงทุนไปประมาณ 1.5 พันล้านบาทในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 2 แห่งแรกในช่วงปี 2559-2561 และยังใช้ไปประมาณ 330 ล้านบาทใน บริษัท สกุลฏ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและผู้จำหน่ายยานพาหนะที่ประกอบจากอะลูมิเนียมในช่วงปี 2561-2562 อีกด้วย เนื่องจากบริษัทยังไม่เคยมีผลงานเกี่ยวกับธุรกิจใหม่ดังกล่าวมาก่อน ธุรกิจเหล่านี้จึงเพิ่มความเสี่ยงในการดำเนินงานให้แก่บริษัท นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลยังมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตและความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบมีคุณภาพต่ำ เป็นต้น ในขณะที่ธุรกิจเรือและรถมินิบัสที่ประกอบจากอะลูมิเนียมนั้นยังก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการตลาดจากการไม่มีสัญญาซื้อขายระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจใหม่เหล่านี้ยังต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ผลสำเร็จ ความสำเร็จในการขยายธุรกิจดังกล่าวนั้นอาจเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตได้

การลงทุนอย่างต่อเนื่องของบริษัทสร้างความกังวลเพิ่มขึ้น โดยบริษัทวางแผนจะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ซึ่งใช้ขยะเชื้อเพลิง (Refuse-derived Fuel -- RDF) เป็นวัตถุดิบ โครงการดังกล่าวน่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1-1.3 พันล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 30% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท การลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเพิ่มภาระให้แก่งบดุลของบริษัทและสร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัท การลงทุนดังกล่าวยังจะเพิ่มความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่อาจเกิดจากความล่าช้าในการก่อสร้าง หรือจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม การต่อต้านจากชุมชน และการปฏิบัติงานได้อีกด้วย โครงการโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวประกอบไปด้วยการก่อสร้างระบบบริหารจัดการและกำจัดขยะ (ระยะที่ 1) และระบบผลิตไฟฟ้า (ระยะที่ 2) ซึ่งในระยะที่ 1 โครงการจะรับขยะชุมชนมาจากเทศบาลนครนครสวรรค์ก่อนที่จะผ่านกระบวนการคัดแยกและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) โดยโครงการจะได้ค่าจัดการขยะด้วย ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มโครงการระยะที่ 2 บริษัทจำเป็นจะต้องได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสียก่อน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทริสเรทติ้งจึงรวมเฉพาะโครงการในระยะที่ 1 ไว้ในประมาณการเท่านั้น ซึ่งโครงการระยะที่ 1 นี้จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวน 300-350 ล้านบาท นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้แล้ว บริษัทยังต้องการที่จะขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมอีกด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่าการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมของบริษัทจะทำให้งบดุลและกระแสเงินสดของบริษัทตึงตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งยังมองว่าบริษัทน่าจะต้องเพิ่มทุนหากจะเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าขยะในระยะที่ 2 โดยการลงทุนที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากนั้นอาจส่งผลกดดันต่ออันดันดับเครดิตของบริษัทได้ ในกรณีที่ไม่รวมผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะระยะที่ 2 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นโดยอยู่ในช่วง 6-8 เท่าในระยะ 3 ปีข้างหน้า

หุ้นกู้ของบริษัทมีข้อกำหนดสำคัญในการดำรงอัตราส่วนทางการเงินในส่วนของอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ระดับ 0.95 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

สมมติฐานพื้นฐาน

• รายได้จากการดำเนินงานรวมจะอยู่ในช่วง 1.5-2.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

• อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 13%

• เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 200-500 ล้านบาทต่อปี

• อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 6-8 เท่า

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจเบาะหนังรถยนต์จะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทต่อไป ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์จะช่วยเป็นหลักประกันที่จะทำให้บริษัทได้สัญญาจัดจ้างผลิตเบาะหนังสำหรับโมเดลรถยนต์ใหม่ ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าน่าจะช่วยให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 13% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในช่วงที่บริษัทมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5 เท่าในระยะเวลาที่นานพอควร ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญหรือหากสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่รุนแรงกว่าคาดหรือสายงานใหม่คือธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจเรือและรถมินิบัสที่ประกอบจากอะลูมิเนียมมีผลการดำเนินงานแย่กว่าที่คาดหรือบริษัทมีการลงทุนด้วยการก่อหนี้มากเกินไป

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT)

อันดับเครดิตองค์กร: BB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ