ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล
ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน)) ที่ระดับ ?A-? พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? ของบริษัทเช่นเดิม
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวเป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ?A-? แนวโน้ม ?Negative? หรือ ?ลบ?) ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท โดยอันดับเครดิตของบริษัทซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญจะอยู่ในระดับเดียวกับและเคลื่อนไหวไปตามทิศทางอันดับเครดิตของบริษัทแม่ตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม? (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง
ส่วนอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทนั้นยังคงสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและฐานรายได้ประจำที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ รายได้ประจำจำนวนมากของบริษัทมา จากธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค ธุรกิจสินทรัพย์ให้เช่า และเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังถูกจำกัดโดยภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นและความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มดับบลิวเอชเอ
บริษัทดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ เป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น เมื่อพิจารณาจากความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นผู้สร้างรายได้หลักให้แก่กลุ่มดับบลิวเอชเอ บริษัทรวมถึงบริษัทลูกรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภทคือ ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภค การมีบริษัทแม่เป็นผู้ควบคุมทิศทางการดำเนินธุรกิจและนโยบายทางการเงินทั้งหมดของบริษัทจึงทำให้สถานะเครดิตของบริษัทมีความเชื่อมโยงกับสถานะเครดิตของบริษัทแม่อย่างใกล้ชิด
ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมคิดเป็นสัดส่วน 63% และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคิดเป็นสัดส่วน 86% ของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น
เป็นผู้นำในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
บริษัทเป็นผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยรวม บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ระดับประมาณ 42%-58% ในระหว่างปี 2556-2562 ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41% รองลงมาคือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (29%) และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (18%)
บริษัทได้ขยายการลงทุนไปในประเทศเวียดนามโดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของบริษัทตั้งอยู่ในเมือง Nghe An บริษัทได้รับใบอนุญาตลงทุนจากรัฐบาลเวียดนามในการเช่าที่ดินขนาด 498 เฮกตาร์ (หรือ 3,100 ไร่) การลงทุนระยะเริ่มต้นของบริษัทครอบคลุมที่ดินประมาณ 1,000 ไร่ และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมียอดขายที่ดินในประเทศเวียดนามจำนวน 28 ไร่ และอีกจำนวน 260 ไร่ซึ่งอยู่ภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent)
อุปสงค์ของที่ดินลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยปริมาณยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลงอย่างมากจากมาตรการควบคุมการเดินทางและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ในขณะที่ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในประเทศไทยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 81 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เทียบกับ 259 ไร่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562
ทริสเรทติ้งได้ทำการปรับลดประมาณการยอดขายที่ดินของบริษัทลงเพื่อสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้าน โดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อกอปรกับแนวโน้มความไม่แน่นอนทางการเมืองน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายที่ดินของทั้งประเทศจะลดลงในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564-2565 ซึ่งการกลับมาของอุปสงค์จะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและสิทธิประโยชน์ทางภาษีในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากการขายที่ดินของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาทในปี 2563 จาก 3.5 พันล้านบาทในปี 2562 ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3-3.6 พันล้านบาทในปี 2564-2565
ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตในระยะปานกลางถึงระยะยาว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดอย่างหนัก ตลอดจนความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการย้ายฐานออกจากประเทศจีน โดยที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ได้รับความนิยมในการย้ายฐานการผลิตมากที่สุด นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ในสถานะที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ จากการที่บริษัทมีที่ดินจำนวนมากถึงประมาณ 8,800 ไร่ (รวมถึงที่ดินที่อยู่ในนิคมแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา) ซึ่งประมาณ 83% ของที่ดินทั้งหมดนี้อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและระยอง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
ความต้องการพื้นที่เช่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ความต้องการสินทรัพย์ให้เช่าของบริษัทกลับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้จากค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากอัตราการเช่า (Occupancy Rate) ที่เพิ่มขึ้นซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน โดยรายได้จากค่าเช่าของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 210 ล้านบาทในปี 2562 และ 146 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จาก 178 ล้านบาทในปี 2561
ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าความต้องการโรงงานและคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่าของบริษัทที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนั้นน่าจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตข้างหน้าในระยะปานกลาง ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศอีกด้วย
มีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจโรงไฟฟ้า
ธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจผลิตไฟฟ้าช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้บางส่วน
รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าและโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังพยายามจำหน่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นเนื่องจากมีราคาและกำไรที่สูงกว่าน้ำดิบอีกด้วย ส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2562 จากระดับ 1.6 พันล้านบาทในปี 2556 โดยคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ระดับ 6.3%
อย่างไรก็ตาม รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทยังลดลง 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณยอดขายน้ำที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ส่งผลให้โรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งเลื่อนแผนการซ่อมบำรุงเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำลง ตลอดจนโรงงานบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้หยุดการผลิตชั่วคราวในช่วงที่อุปสงค์ลดลงอย่างมากในช่วงสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วคราวและรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและลูกค้าที่ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเริ่มทยอยดำเนินการผลิต
บริษัทยังได้รับเงินปันผลที่แน่นอนจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งอีกด้วย ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 570 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทในปี 2563-2565 ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 20%-25% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2563-2565
ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น
เงินกู้รวมของบริษัทลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทได้ทยอยชำระหนี้อย่างต่อเนื่องโดยใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นครั้งแรกแก่ประชาชนทั่วไปของบริษัทย่อยคือ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ตลอดจนเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (HREIT) และเงินกู้ที่ได้รับชำระคืนจากบริษัทแม่ ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 1.56 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากระดับที่สูงถึง 2.37 หมื่นล้านบาทในปี 2559 โดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.3% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 56.4% ณ สิ้นปี 2559
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่รอการพัฒนาอยู่ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าค่าใช้จ่ายลงทุนรวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการลงทุนซื้อที่ดินและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม และอีกส่วนหนึ่งจะใช้ลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคและโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นแต่จะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 4.2-5.3 พันล้านบาทต่อปี และเงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 3.6-4.7 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 เมื่อพิจารณาจากระดับประมาณการกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ตลอดจนภาระการชำระคืนหนี้ และเงินลงทุนดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 25%-35% ในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.6-3.5 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลง 13% มาอยู่ที่ระดับ 6.3 พันล้านบาทในปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.9-8.6 พันล้านบาทในปี 2564-2565
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 61%-68% ในปี 2563-2565
? ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นไปตาม ?เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม? ของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น อันดับเครดิตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับสถานะเครดิตของบริษัทแม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอันดับเครดิตของบริษัทแม่ก็จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHAID)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
HEMRAJ217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative