ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ตลอดจนแบรนด์สินค้าและรายได้ในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เติบโตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะที่บริษัทเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ Frasers Property Ltd. (FPL) ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนลงจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อกิจการของ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 99.44% โดยใช้เงินกู้ยืมจำนวนมาก ประกอบกับความกังวลต่อผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงแรมในระยะสั้นถึงปานกลางเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งยังคงมองว่าการซื้อกิจการของบริษัทแผ่นดินทองฯ จะช่วยให้ธุรกิจของบริษัทมีขนาดที่ใหญ่และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธุรกิจเดิมของบริษัทมีเพียงโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า การขยายไปสู่ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายและเพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งธุรกิจโรงแรมจะช่วยให้ธุรกิจของบริษัทมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นและยังช่วยลดความผันผวนของรายได้ในช่วงขาลงของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอีกด้วย ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563 สัดส่วนของรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยคิดเป็น 79% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จากธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าคิดเป็น 9% และรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์คิดเป็น 7%
เมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทแผ่นดินทองฯ เข้ามาแล้วก็ทำให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตขึ้นเป็น 1.96 หมื่นล้านบาทในปีการเงิน 2562 จาก 1.8-2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2560 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็เพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านบาทในปีการเงิน 2562 จาก 1-3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2555-2560 ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเท่ากับ 1.7-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2563-2566 และยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 25%-30% ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10%
ความยอมรับในแบรนด์สินค้าและรายได้ในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีมากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งมองว่าแบรนด์สินค้าในตลาดบ้านจัดสรรของบริษัทซึ่งพัฒนาโดยบริษัทแผ่นดินทองฯนั้นได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยรายได้จากการขายที่อยู่อาศัยเติบโตถึงระดับ 1.55 หมื่นล้านบาทในปีการเงิน 2562 จาก 7-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558ถึงปีการเงิน 2560 นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563 ที่แม้จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่รายได้จากการขายที่อยู่อาศัยก็ลดลงเล็กน้อยเพียง 5% จากช่วงเดียวกันของปีการเงินที่แล้ว โดยอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ทาวน์เฮ้าส์ยังคงเป็นสินค้าหลักซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้จากการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปีการเงิน 2560 ถึง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานพื้นฐานว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทจะอยู่ที่ 1.4-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2563-2566 ตามแผนการเปิดโครงการใหม่ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปี ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายจะยังคงเป็นสัดส่วนสำคัญที่ 80%-85% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทต่อไปในช่วงเวลาประมาณการ
มีผลงานเป็นที่ยอมรับในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า
ทริสเรทติ้งประเมินว่าผลงานของบริษัทในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่านั้นเป็นที่ยอมรับ โดยรายได้ค่าเช่าเติบโตมาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาทในปีการเงิน 2562 จาก 1.4 พันล้านบาทในปี 2560 และ 1 พันล้านบาทในปี 2558 รายได้ค่าเช่าของบริษัทมีจำนวน 1.3 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563 โดยที่ประมาณ 70% ของรายได้ค่าเช่านั้นมาจากคลังสินค้าและที่เหลือมาจากโรงงานสำเร็จรูป ทั้งนี้ บริษัทยังมีรายได้จำนวน 3-4 พันล้านบาทจากการขายพื้นที่เช่าในโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กองทรัสต์) อย่างสม่ำเสมอในช่วงที่ผ่านมา และบริษัทยังมีแผนจะขายพื้นที่เช่าให้แก่กองทรัสต์อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีพื้นที่โรงงานสำเร็จรูปให้เช่าจำนวน 361,185 ตารางเมตร (ตร.ม.) และพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าจำนวน 702,323 ตร.ม. โดยโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าส่วนใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์สำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยถึง 3 แห่งซึ่งประกอบด้วยเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งบริเวณกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและกรุงเทพฯ ด้านเหนือ ส่วนผู้เช่าของบริษัทก็มีความหลากหลายโดยกระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมหลายประเภทตั้งแต่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไปจนถึงกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานรถยนต์ รวมทั้งผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนผู้ค้าปลีก เป็นต้น อัตราการเช่าโดยเฉลี่ยของโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าของบริษัทอยู่ที่ระดับ 63% และ 87% ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัทมีพื้นที่เช่าซึ่งมีการทำสัญญากับลูกค้าแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 135,453 ตร.ม. ซึ่งจะทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีการเงิน 2563-2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าพื้นที่เช่าของโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นโดยสุทธิที่ระดับ 160,000-200,000 ตร.ม. ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งเป็นผลมาจากโรคโควิด 19 นั้นก็ทำให้คาดว่าอัตราการเช่าโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าอาจลดลงเหลือ 50%-70% ในปีการเงิน 2564-2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าเช่าจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมจะอยู่ในช่วง 1.4-1.5 พันล้านบาทต่อปีและรายได้จากการขายพื้นที่เช่าให้แก่กองทรัสต์จะอยู่ที่ 3-4 พันล้านบาทต่อปี
อาคารสำนักงานให้เช่าได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 น้อยกว่าโรงแรม
อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์สำหรับให้เช่าของบริษัทประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 3 แห่ง ได้แก่ ?อาคารสาทร สแควร์? ?อาคารเอฟ วาย ไอ เซ็นเตอร์? และ ?อาคารโกลเด้น แลนด์ บิลดิ้ง? กับโรงแรมอีก 3 แห่ง ได้แก่ ?โรงแรมเมย์แฟร์ แมริออท? ?โรงแรมดิ แอสคอท สาทร? และ ?โรงแรมโมดิน่า? ทั้งนี้ อาคารสำนักงานและโรงแรมสร้างรายได้จำนวน 1 พันล้านบาทและ 0.5 พันล้านบาทต่อปีตามลำดับในปีการเงิน 2561-2562 อาคารสำนักงานมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยสูงกว่า 90% และมีอัตราค่าเช่าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 550-850 บาทต่อ ตร.ม. ต่อเดือนในปีการเงิน 2561 จนถึง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563 ทั้งนี้ อัตราการเช่าและอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 จึงส่งผลให้รายได้ค่าเช่าจากโรงแรมลดลง 31% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 0.29 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานว่าอัตราการเช่าของอาคารสำนักงานจะยังคงสูงกว่า 90% โดยที่อัตราค่าเช่าจะไม่เติบโตขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่ารายได้ค่าเช่าจากอาคารสำนักงานจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทในปีการเงิน 2563 และจะลดลงมาอยู่ที่ 0.5-0.6 พันล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2564-2566 เนื่องจากบริษัทจะไม่มีการรับรู้รายได้จากการตัดจำหน่ายค่าเช่ารับล่วงหน้าของอาคารสาทร สแควร์ตั้งแต่ปีการเงิน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานบัญชีและสิทธิการเช่าของอาคารโกลเด้น แลนด์ บิลดิ้งที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 สำหรับธุรกิจโรงแรมนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเช่าของโรงแรมแต่ละแห่งจะยังคงต่ำโดยอยู่ที่ระดับ 30%-50% ในปีการเงิน 2563-2564 และจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นเป็น 50%-70% ในปีการเงิน 2565-2566 ในขณะที่อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยจะติดลบในปีการเงิน 2563 และจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น 3% ต่อปีในปีการเงิน 2565-2566 ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะอยู่ที่ 0.25-0.3 พันล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2563-2564 และจะปรับดีขึ้นเป็น 0.4 พันล้านบาทต่อปีในปีการเงิน 2565-2566
โรคโควิด 19 ที่แพร่ระบาดยืดเยื้อจะกดดันความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย
ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กินเวลายาวนานอาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงและกดดันความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณหนี้เสียก็อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย กำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านที่ลดลงเมื่อบวกกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะส่งผลลบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท จากสภาวการณ์ดังกล่าวบริษัทจึงจำเป็นจะต้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการเปิดโครงการใหม่
เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดคอนโดมิเนียมจากทั้งผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ รายจะหันมาเปิดโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งน่าจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและต้นทุนค่าที่ดินในการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรที่แพงขึ้นด้วย โดยอัตรากำไรขั้นต้นโดยเฉลี่ยในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทอาจลดลงมาอยู่ที่ระดับ 27%-31% ในปีการเงิน 2563-2566 จากระดับที่สูงกว่า 31% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังจากการซื้อกิจการของบริษัทแผ่นดินทองฯ ซึ่งการซื้อกิจการโดยใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเงินทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 64% ณ เดือนกันยายน 2562 และ 67% ณ เดือนมิถุนายน 2563 จาก 34% ณ เดือนกันยายน 2561 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8% ในปีการเงิน 2562 และ 4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการเงิน 2563 ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยมูลค่า 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีและยังมีแผนใช้เงินอีกจำนวน 5-6 พันล้านบาทต่อปีในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในระหว่างปีการเงิน 2563-2566 รวมถึงยังคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมจำนวน 2-3 พันล้านบาทต่อปีอีกด้วย
ตามแผนการเติบโตของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 60% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ระหว่าง 5%-10% ในระหว่างปีการเงิน 2563-2566 และยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายไม่น่าจะเกินกว่า 8 เท่าเพื่อคงอันดับเครดิตไว้ที่ระดับปัจจุบัน ทั้งนี้ การเพิ่มทุนจำนวน 3.2 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2563 และการขายสินทรัพย์มูลค่า 2.8 พันล้านบาทให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT) ในเดือนกันยายน 2563 จะช่วยลดความตึงตัวของเงินลงทุนของบริษัทลง ส่วนแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนโดยการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์อย่างสม่ำเสมอนั้นน่าจะช่วยลดภาระหนี้ของบริษัทให้อยู่ในระดับที่คาดหมายได้
สภาพคล่องเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.73 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 9.1 พันล้านบาท ตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นจำนวน 6.1 พันล้านบาท และเงินกู้โครงการระยะยาวอีกจำนวน 2.1 พันล้านบาท ทั้งนี้ แหล่งเงินทุนของบริษัท (ตามงบการเงินรวม) ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 4.2 พันล้านบาท วงเงินกู้โครงการที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 3.6 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 7.7 พันล้านบาท รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท
บริษัทมีแผนการจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระบางส่วนและบริษัทจะแปลงตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นไปเป็นเงินกู้โครงการระยะยาว หรือต่ออายุตั๋วออกไป และ/หรือจ่ายชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่เงินกู้โครงการนั้นบริษัทจะจ่ายชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากแต่ละโครงการ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ที่กำหนดให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 3 เท่านั้น ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.93 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปีการเงิน 2563-2566 มีดังนี้
? บริษัทจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่มูลค่า 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปี
? งบประมาณในการซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยคาดว่าจะอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาทต่อปี
? เงินลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมคาดว่าจะอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาทต่อปี
? รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7-2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 25%-30% ของรายได้จากการดำเนินงานรวม ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 10%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและมีอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลายเอาไว้ได้ อีกทั้งยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งด้วยว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการรวมธุรกิจเข้าด้วยกันกับบริษัทแผ่นดินทองฯ และจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในระดับ 5%-10% เอาไว้ได้และบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของ FPL ต่อไปด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทจะเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าการคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญและสถานะทางการเงินปรับดีขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับผู้ประกอบการที่ได้อันดับเครดิตสูงกว่าโดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนต่ำกว่า 50% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่ำกว่า 5 เท่าในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม ผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 5% หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงเกินกว่า 8 เท่าในระยะเวลาที่ต่อเนื่องก็อาจส่งผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ที่มีกับ FPL ที่เปลี่ยนแปลงไปในด้านลบก็อาจส่งผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (FPT)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TICON213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
TICON217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
TICON225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
TICON229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
TICON233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
TICON235A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
TICON238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
TICON283A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A-
FPT213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
FPT222A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
FPT231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
FPT237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
FPT242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
FPT251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
FPT271A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
FPT275A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2570 A-
FPT292A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572 A-
FPT301A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
FPT305A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable