ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เป็น ?BB-? จากระดับ ?BB? พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Negative? หรือ ?ลบ? การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับการก่อหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนสภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวและความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแอ สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทถูกนำไปเป็นหลักประกันสำหรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมสถาบันการเงินซึ่งเพิ่มความเสียเปรียบให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งอาจสร้างความกดดันต่อเศรษฐกิจภายในประเทศและต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ฐานรายได้มีขนาดเล็ก
บริษัทมีฐานรายได้ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดยรายได้ของบริษัทในปี 2562 ลดลง 27% มาอยู่ที่ 2.87 พันล้านบาท อยู่อันดับที่ 20 จาก 22 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง รายได้ของบริษัทน้อยกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ สาเหตุหลักเนื่องจากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมลดลงและจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการใหม่บังคับใช้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ที่เข้มงวดขึ้น โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 อย่างไรก็ตาม รายได้ครึ่งแรกในปี 2563 เพิ่มขึ้น 24% มาอยู่ที่ 1.98 พันล้านบาท เนื่องจากมีการส่งมอบโครงการคอนโดมิเนียม ?Chalermnit?
ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 บริษัทขายที่ดิน 24 ไร่ บริเวณเกษตร-นวมินทร์ และคอนโดมินเนียม 2 โครงการ ได้แก่ ?A Space Mega? และ ?A Space Mega 2? บริเวณบางนา รายได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 2.17 พันล้านบาท ส่งผลให้คาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2563 จะขึ้นไปอยู่ที่ราว 6.19 พันล้านบาท ภายหลังการขายสินทรัพย์ ยอดขายรอการรับรู้รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 1.20 พันล้านบาทซึ่งทั้งหมดจะส่งมอบในครึ่งหลังของปี 2563 ดังนั้น รายได้ของบริษัทในปี 2564 และ 2565 จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างยอดขายใหม่ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน คาดว่ารายได้จะอยู่ระหว่าง 3.36-3.62 พันล้านบาทในปี 2564 และ 2565
ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวน 37 โครงการ โดยมีมูลค่ารวมทั้งหมด (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและยังไม่ได้ก่อสร้าง) ประมาณ 2.24 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 18% ทาวน์เฮ้าส์ 30% และคอนโดมิเนี่ยม 52% ทั้งนี้ ประมาณ 19% ของมูลค่าเหลือขายโครงการคอนโดมิเนียมเป็นโครงการพร้อมโอน
ความสามารถในการทำกำไรยังคงได้รับแรงกดดันในช่วงเศรฐกิจชะลอตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากบริษัทอาจจำเป็นต้องเสนอรายการส่งเสริมการขายที่ดึงดูดใจเพื่อเร่งยอดขาย อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 33% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 29% ในปี 2562 และ 24% ใน 6 เดือนแรกในปี 2563 สาเหตุหลักมาจากการลดราคาโครงการคอนโดมิเนียมและการให้บัตรกำนัลในโครงการแนวราบ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคงที่ที่ค่อนข้างสูงส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอ่อนแอลง อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 6% จาก 12% ในปี 2561
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังได้รับแรงกดดันท่ามกลางการแข่งขันในตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่มีความรุนแรงมากขึ้น คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น (ไม่รวมการขายสินทรัพย์) จะอยู่ที่ 26%-28% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (ไม่รวมการขายสินทรัพย์) จะอยู่ที่ 8%-9% ในช่วงปี 2563-2565
ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้จะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 68%-69% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่ที่ระดับเกินกว่า 70% ตั้งแต่ปี 2557 ณ เดือนมิถุนายน 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 74% อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งใจที่จะลดภาระหนี้ลง โดยได้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ มูลค่า 300 ล้านบาทโดยผู้ซื้อคือผู้บริหารของบริษัทในปลายปีที่แล้ว และขายที่ดิน และคอนโดมิเนียม 2 โครงการ ได้แก่ ?A Space Mega? และ ?A Space Mega 2? ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 เงินที่ได้จากการขายได้นำไปชำระเงินกู้ของโครงการและหนี้ที่มีอยู่บางส่วน บริษัทไม่ต้องแบกภาระเงินลงทุนสำหรับการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม ?A Space Mega 2? และอาจเลื่อนการลงทุนในโครงการ ?Soontareeya Residence? ออกไป
อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของบริษัทยังคงอ่อนแอ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องและติดลบตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่สูง เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 280 ล้านบาทในปี 2563 ภายหลังการขายทรัพย์สินบางส่วน อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรที่ลดลงและค่าใช้จ่ายทางการเงินที่สูงจะยังกดดันกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานจะยังคงติดลบไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะติดลบ 29-185 ล้านบาท อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% ในปี 2563 จาก -4.8% ในปี 2562 และลงไปที่ -0.4% ถึง -2.4% ในปี 2564-2565 เช่นเดียวกัน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 เท่าในปี 2563 และ 0.7-1.0 เท่า ในปี 2564-2565
สภาพคล่องยังเป็นสิ่งที่ต้องกังวล
ทริสเรทติ้งยังคงกังวลถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 3.43 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 1.78 พันล้านบาท เงินกู้โครงการระยะยาวจำนวน 1.05 พันล้านบาท และวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 594 ล้านบาท บริษัทได้ชำระหุ้นกู้จำนวน 1 พันล้านบาทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนตุลาคม 2563 ด้วยหุ้นกู้มีหลักประกัน ชำระคืนเงินกู้โครงการจากการขายที่ดินและคอนโดมิเนียม 2 โครงการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และบริษัทมีแผนจะต่อสัญญาวงเงินกู้ระยะสั้นและชำระคืนหนี้หุ้นกู้จำนวน 780 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2564 ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ปัจจุบันและสถานะการเงินที่อ่อนแอของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทมีความเสี่ยงที่จะรีไฟแนนซ์
ตามข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้จากธนาคารและหุ้นกู้ บริษัทต้องคงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่า ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ เดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 2.7 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการโครงสร้างเงินทุนอย่างระมัดระวังเพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
มีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ยังมีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปอีกด้วย การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กินเวลายาวนานอาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงและกดดันความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งหนี้เสียอาจเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านที่ลดลงเมื่อรวมกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะส่งผลลบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท บริษัทมีอัตราการยกเลิกและการปฏิเสธการให้สินเชื่อในระดับที่สูงกว่า 41% ตั้งแต่ปี 2561 อัตราที่สูงนี้ส่งผลเป็นอย่างมากต่อการรับรู้รายได้ของบริษัท
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดหวังว่ามาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากทางรัฐบาลจะส่งผลเชิงบวกในการกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธปท. ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยอนุญาตให้ผู้กู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% จากสินเชื่อที่กู้ รวมเป็น 110% จากมูลค่าที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองลงเหลือ 0.01% สำหรับบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทโดยจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวการณ์ในปัจจุบัน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมามุ่งเน้นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำซึ่งเป็นที่ต้องการค่อนข้างสูง ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้มีความรุนแรงมากขึ้น
สมมติฐานพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัท (ไม่รวมการขายที่ดินและคอนโดมิเนียม 2 โครงการ) จะอยู่ที่ราว ๆ ปีละ 3-4 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2565
? อัตรากำไรขั้นต้น (ไม่รวมกำไรจากการขายทรัพย์สิน) ของบริษัทจะอยู่ที่ราว ๆ 26%-28% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (ไม่รวมกำไรจากการขายทรัพย์สิน) จะอยู่ที่ราว ๆ 8%-9% ในช่วงปี 2563-2565
? เงินทุนสำหรับซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 350-450 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและไม่มีความกังวลด้านสภาพคล่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหลายระดับหากไม่สามารถรีไฟแนนซ์หนี้ได้ตามที่วางแผนไว้
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (Areeya)
อันดับเครดิตองค์กร: BB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable