ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? พร้อมด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีองค์ประกอบสินค้าอสังหาริมทรัพย์ที่มีความสมดุลเป็นอย่างดี ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัท มูลค่ายอดขายคอนโดมิเนียมที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวนมาก และความสามารถในการทำกำไรที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่สูงขึ้นนี้ยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตยังสะท้อนความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งอาจสร้างความกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและความต้องการที่อยู่อาศัยในระยะสั้นถึงปานกลางอีกด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะที่แข็งแกร่งในในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอาไว้ได้ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จัดอยู่ใน 5 อันดับแรกในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2562 โดยบริษัทมีแบรนด์ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ยอมรับอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลาง ยอดขายของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องและคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 2 หมื่นล้านบาทมาตั้งแต่ปี 2558 และถึงระดับสูงสุดที่จำนวน 3.33 หมื่นล้านบาทในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ยอดขายของบริษัทในปี 2562 ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 2.23 หมื่นล้านบาทเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวและผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยปัจจัยที่กล่าวมานี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
แม้ว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ยอดขายของบริษัทในปี 2563 ก็คาดว่าจะเติบโต 5%-10% จากปีก่อนเนื่องจากบริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่หลายโครงการในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมุ่งเน้นเปิดโครงการแนวราบและเลื่อนการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมบางโครงการออกไปท่ามกลางความกังวลจากการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 บริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการจำนวน 22 แห่งซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 2.01 หมื่นล้านบาท โดยประกอบด้วยโครงการแนวราบ 20 แห่งมูลค่ารวม 1.65 หมื่นล้านบาทและโครงการคอนโดมิเนียมอีก 2 แห่งมูลค่ารวม 3.6 พันล้านบาท
องค์ประกอบสินค้าที่อยู่อาศัยมีความสมดุล
บริษัทมีองค์ประกอบสินค้าที่มีความสมดุลระหว่างโครงการบ้านแนวราบและคอนโดมิเนียม โดยสินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทมีความหลากหลายและครอบคลุมทุกประเภทและระดับราคา นอกจากนี้ บริษัทยังนำเสนอทั้งสินค้าบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาว์นเฮาส์ และคอนโดมีเนียมให้แก่ผู้ซื้อบ้านในตลาดเป้าหมายที่หลากหลายอีกด้วย การผสมผสานสินค้าที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่เหมาะสมดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถปรับองค์ประกอบสินค้าเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดได้ ในการนี้ โครงการแนวราบสร้างรายได้ให้แก่บริษัทในสัดส่วนถึง 53%-55% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้กระจายธุรกิจไปยังต่างจังหวัดและได้รับผลตอบรับที่น่าพอใจจากลูกค้าโดยสะท้อนจากสัดส่วนรายได้จากโครงการในพื้นที่ต่างจังหวัดที่สูงถึงประมาณ 28% ของรายได้รวมในปี 2562 และ 38% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อีกด้วย
ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียม 41 แห่งและโครงการแนวราบ 106 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 7.13 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) ในจำนวนนี้เป็นโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมในสัดส่วนอย่างละ 50% ของมูลค่าเหลือขาย โดยประมาณ 33% ของมูลค่าเหลือขายเป็นโครงการในต่างจังหวัดซึ่งมีสัดส่วนโครงการแนวราบประมาณ 85% ของมูลค่าดังกล่าว
มูลค่ายอดขายที่รอรับรู้รายได้จำนวนมากและความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นช่วยรักษากำไรในช่วงเศรฐกิจชะลอตัว
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีด้วยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับประมาณ 28% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้าโดยได้รับแรงหนุนจากมูลค่ายอดขายรอรับรู้รายได้จำนวนมากและความสามารถในการทำกำไรที่น่าพอใจ
รายได้ของบริษัทอยู่ในช่วง 2.14-2.56 หมื่นล้านบาทในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ แต่รายได้ของบริษัทในปี 2562 ก็ลดลงเพียง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 2.36 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อยู่ที่เพียง 6.65 พันล้านบาท ซึ่งลดลงถึง 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากไม่มีการโอนโครงการคอนโดมิเนียมที่สร้างแล้วเสร็จในช่วงดังกล่าวและมีผลกระทบจากโรคโควิด 19 สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมนั้นโดยปกติจะให้อัตรากำไรที่สูงกว่าโครงการแนวราบ แต่การที่โครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทมีสัดส่วนเพียง 19% ของรายได้ทั้งหมดจึงส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36% จากระหว่าง 38%-39% ในช่วงปี 2558-2562 ส่วนอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายนั้นก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 29% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จาก 31%-32% ในระหว่างปี 2558-2562 อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทก็ยังคงสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 15%-25%
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะถึงระดับ 2.05 หมื่นล้านบาทในปี 2563 โดยอยู่บนพื้นฐานที่คาดว่าบริษัทจะมีโครงการที่จะเปิดตัวเพิ่มขึ้นหลายโครงการและจะมียอดขายของโครงการคอนโดมิเนียมที่รอรับรู้รายได้จำนวนมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในปี 2563 และจะฟื้นตัวในปีต่อ ๆ ไป โดยคาดว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.05-3.23 หมื่นล้านบาทในปี 2564-2565 โดยได้รับแรงหนุนจากฐานรายได้ที่แข็งแกร่งในโครงการแนวราบและยอดขายของโครงการคอนโดมิเนียมที่รอรับรู้รายได้จำนวนมาก ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มูลค่ายอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้ของบริษัทอยู่ที่ 3.98 หมื่นล้านบาท โดยประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร 6.62 พันล้านบาทและโครงการคอนโดมิเนียม 3.32 หมื่นล้านบาทซึ่งน่าจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ประมาณ 1.01 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และราว ๆ 1.23-1.35 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจจะลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 36%-37% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับประมาณ 28% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเอาไว้ได้ โดยอัตรากำไรในระดับที่สูงช่วยทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาขายเพื่อเร่งยอดขายได้มากขึ้นในกรณีที่จำเป็น
ความกังวลเกี่ยวกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่กินเวลายาวนานอาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงและกดดันต่อความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งหนี้เสียก็อาจพุ่งสูงขึ้นอีกด้วย กำลังซื้อของผู้ซื้อบ้านที่ลดลงเมื่อรวมกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจะส่งผลในด้านลบต่อความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำ นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางในหลาย ๆ ประเทศก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องเลื่อนการส่งมอบที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อต่างชาติออกไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่น่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทในปีนี้เนื่องจากบริษัทไม่มียอดขายคอนโดมิเนียมที่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้าต่างชาติในปี 2563 และเนื่องจากโดยปกติแล้วบริษัทมุ่งเน้นกลุ่มผู้ซื้อบ้านที่ต้องการอยู่อาศัยจริงและเป็นผู้ซื้อภายในประเทศ ดังนั้น ยอดขายคอนโดมิเนียมให้แก่ลูกค้าต่างชาติจึงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของยอดขายรอการรับรู้รายได้ทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดหวังว่ามาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมานั้นจะส่งผลในเชิงบวกในการกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ธปท. ได้ผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลงโดยอนุญาตให้ผู้กู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10% จากสินเชื่อที่กู้ ซึ่งรวมเป็น 110% จากมูลค่าที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองลงเหลือ 0.01% สำหรับบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทโดยจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวการณ์ในปัจจุบัน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมามุ่งเน้นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำซึ่งยังเป็นที่ต้องการค่อนข้างสูง จนส่งผลให้การแข่งขันในตลาดกลุ่มนี้มีความรุนแรงมากขึ้น
ภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะสูงขึ้นในระยะสั้นถึงระยะปานกลางโดยเป็นผลมาจากโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการลงทุนในโครงการที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ๆ ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมจากการมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทได้ซื้อคืนหุ้นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.99 พันล้านบาทซึ่งส่งผลทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัท ณ เดือนมิถุนายน 2563 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 38% จาก 25% ณ สิ้นปี 2562 หุ้นซื้อคืนทั้งหมดเมื่อจบโครงการในเดือนกรกฎาคม 2563 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3 พันล้านบาท บริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการอีก 22 แห่งซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2.01 หมื่นล้านบาทและจะซื้อที่ดินเพิ่มในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 39% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 4 เท่า ณ สิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความตั้งใจที่จะขายหุ้นที่ซื้อคืนมาทั้งหมดออกไปภายใน 3 ปีซึ่งจะช่วยทำให้ฐานทุนของบริษัทเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากความตั้งใจดังกล่าวแล้ว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2564 และปี 2565 และจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงไปอยู่ที่ระดับ 31%-35% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 2.3-2.5 เท่าโดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่บริษัทมีแผนการลงทุนจำนวนมากจากการก่อสร้างโครงการและซื้อที่ดิน
สภาพคล่องที่ยอมรับได้
ทริสเรทติ้งประเมิณว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่ยอมรับได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ามูลค่า 1.12 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่า 4.5 พันล้านบาท ตั๋วแลกเงินมูลค่า 3 พันล้านบาท และตั่วสัญญาใช้เงินอีก 4.38 พันล้านบาท แหล่งสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทประกอบไปด้วยเงินสดในมือจำนวน 945 ล้านบาทและวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ซึ่งสามารถเบิกได้ทันทีอีก 8.21 พันล้านบาท บริษัทได้ชำระหุ้นกู้จำนวน 1.5 พันล้านบาทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2563 ด้วยหุ้นกู้ใหม่อายุ 1 ปี 6 เดือน อีกทั้งยังได้ต่ออายุตั๋วแลกเงินจำนวน 1 พันล้านบาทเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทจะชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินในวันที่ครบกำหนดด้วยเงินสดที่ได้จากการโอนโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้า ในขณะเดียวกัน บริษัทก็มีแผนจะชำระหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนที่เหลือด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่และจะต่อสัญญาตั๋วแลกเงิน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 4.3-6.98 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565 ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 3 ปีข้างหน้าโดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 18%-34%
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของสินเชื่อที่บริษัทมีกับสถาบันการเงินและหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.9 เท่า ดังนั้น
ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.05-3.23 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ระดับประมาณ 36%-37% และอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 28% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
? งบประมาณในการซื้อที่ดินจะอยู่ที่จำนวน 8-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ด้วยการมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50% โดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทคาดว่าจะลดลงในปีนี้และอาจจะกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 20% ในระหว่างปี 2564-2565
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ระดับไม่น้อยกว่า 40% ในเวลาที่ต่อเนื่อง ในขณะที่สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิต ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการปรับลดลงได้หากความสามารถในการทำกำไรหรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทถดถอยลงจากระดับเป้าหมายอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป,26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) (SPALI)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
SPALI213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable