ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด ที่ระดับ ?AAA? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวมีการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ ?AAA? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? จากทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงความสามารถในการรักษาสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจบัตรเครดิต ตลอดจนการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับที่จัดการได้ รวมถึงฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากความสามารถในการทำกำไรที่ได้รับแรงกดดันจากสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นบริษัทลูกรายสำคัญ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและแหล่งเงินทุนอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในฐานะที่บริษัทเป็นบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทและได้วางตำแหน่งให้บริษัทเป็นหน่วยธุรกิจหลักของธนาคารที่ให้บริการทางด้านบัตรเครดิตภายใต้ตราสัญลักษณ์ ?กรุงศรี? ในการนี้ บริษัทมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและมีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ?กลุ่มกรุงศรี
คอนซูมเมอร์? ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตหลากหลายประเภท
บริษัทมีระบบปฏิบัติการร่วมกับธนาคารอย่างเต็มรูปแบบ โดยบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีอยู่ทั่วประเทศเป็นช่องทางพื้นฐานในการขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตรวมทั้งใช้เป็นช่องทางการชำระเงินและให้บริการ ทั้งนี้ ประมาณ 50% ของจำนวนบัตรเครดิตใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้นมาจากการแนะนำผ่านสาขาของธนาคาร นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การสนับสนุนบริษัทในด้านการรวมศูนย์ระบบปฏิบัติการทั้งในด้านการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการตรวจสอบภายใน และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้มาตรฐานอีกด้วย ในฐานะที่เป็นบริษัทลูกประเภท Solo Consolidation ของกลุ่มฯ บริษัทจึงได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาในรูปของวงเงินสินเชื่อ
มีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง
สถานะทางการตลาดของบริษัทคาดว่าจะยังคงเข้มแข็งในระยะปานกลาง บริษัทยังคงรักษาความเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตโดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 11% ของมูลค่าสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิต และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 10% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้งก็ตาม โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.14 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 จาก 4.21 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีที่ 5.1% ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะหดตัวลง 7% ณ สิ้นปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และหลังจากนั้นจะเติบโตอย่างช้า ๆ ในอัตรา 3% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โดยมีแรงผลักดันมาจากกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพและความร่วมมือที่มีกับธนาคารแม่
ยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ภายใต้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทาย
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญได้
ความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางโดยวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ย โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.96% ในปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.97 พันล้านบาทในปี 2562 จาก 18% ในปี 2561 ซึ่งกำไรสุทธิที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักมาจากลูกหนี้คงค้างที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มีเสถียรภาพในระดับ 8% และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ดี บริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาอยู่ที่ 51% ในปี 2562 จาก 52.4% ในปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพจากผลของการพัฒนาระบบที่รองรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางต่อไปได้อีกในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยในช่วงปี 2563-2565 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.5% ส่วนปัจจัยที่อาจส่งผลกดดันต่อผลประกอบการนั้นประกอบไปด้วย 1) ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ 2) เพดานอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 16% จากเดิมที่ 18% ตามเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเกิดจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ทริสเรทติ้งประมาณการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบริษัทว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% ในช่วงระยะ 2-3 ปีข้างหน้าโดยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา จากระดับในปัจจุบันที่ 8% โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพดานอัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงิน
ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ในช่วงปี 2563-2565 ซึ่งสูงกว่าในอดีตเล็กน้อยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยิ่งไปกว่านั้น ทริสเรทติ้งยังคาดว่าค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทในช่วงปี 2563-2565 จะอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 54% โดยอยู่ภายใต้มุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังของทริสเรทติ้งว่ากลยุทธ์ในการลดต้นทุนจากการใช้ระบบอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นและการทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจงของบริษัทนั้นจะยังไม่น่าเพียงพอต่อการชดเชยกับรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง
คุณภาพสินเชื่อโดยรวมน่าจะยังคงดีอยู่แม้ว่าจะมีแนวโน้มอ่อนแอลง
ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษานโยบายในการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อที่จะช่วยบรรเทาผลขาดทุนด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจย่ำแย่จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็ยังคงคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบจากคุณภาพสินเชื่อที่มีแนวโน้มถดถอยลง ทั้งนี้ ผลจากการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมาตรฐานบัญชีใหม่นั้นกำหนดให้มีการรวมลูกหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาทั้งหมดเข้าไว้ในการจัดชั้นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ชั้นที่ 3 (ซึ่งจัดเป็นระดับชั้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ในขณะที่ก่อนหน้านี้ลูกหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหามีการจำแนกการจัดชั้นตามการค้างชำระของลูกหนี้ ทั้งนี้ จากสมมติฐานของทริสเรทติ้งในกรณีที่ลูกหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาของบริษัทมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 2% ของสินเชื่อรวม ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 4% ในช่วงปี 2563-2565
ในส่วนของอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญนั้น บริษัทยังคงนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวด ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าเป็นอานิสงส์มาจากการรวมนโยบายด้านระบบบริหารความเสี่ยงให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับของกลุ่มธนาคารแม่ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 639% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 740% ณ สิ้นปี 2561 นั้น ยังถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ภายใต้ประมาณการของทริสเรทติ้งในกรณีที่ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของบริษัทอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565 และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางบัญชี จึงทำให้คาดว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่จะอยู่ที่ระดับประมาณ 200% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลง แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าวยังคงเพียงพอที่จะรองรับความถดถอยลงของคุณภาพสินเชื่อที่อาจเกิดขึ้นได้
ในมุมมองของทริสเรทติ้งจากการที่บริษัทมีการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และมีนโยบายการตั้งสำรองที่เพียงพอนั้นจะทำให้บริษัทมีความพร้อมในการรับมือกับความถดถอยลงของคุณภาพสินเชื่อที่อาจเกิดขึ้นได้
การก่อหนี้อยู่ในระดับต่ำและฐานทุนมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับฐานทุนให้แข็งแรงและอยู่ในระดับที่เพียงพอสำหรับแผนการขยายธุรกิจในระยะปานกลางได้ โดยฐานทุนที่แข็งแรงนี้ยังจะช่วยรองรับค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงแข็งแรงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า โดยประมาณการว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) อยู่ที่ระดับประมาณ 20.4% โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17.4%
ในขณะเดียวกัน ภาระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับปานกลางโดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับ 2.5 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าวยังต่ำกว่าข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 6 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนที่แข็งแรงซึ่งเกิดจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นและการไม่มีการจ่ายเงินปันผลนั้นจะยังคงช่วยเพิ่มฐานทุนให้แก่บริษัทได้ต่อไป
แหล่งเงินทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสถานะสภาพคล่องที่อยู่ในระดับเพียงพอ โดยบริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวน 4.05 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ได้อีก เช่น การออกหุ้นกู้ในตลาดทุนและการขอวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่น ๆ ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะเงินทุนของบริษัทมากยิ่งขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4.54 หมื่นล้านบาท โดยที่ 74% ของวงเงินดังกล่าวนั้นยังไม่ได้เบิกใช้ ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อดังกล่าวยังรวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวน 3.9 พันล้านบาทจากธนาคารออมสินที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงที่บริษัทดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้
? สินเชื่อคงค้างจะหดตัวที่ระดับ 7% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 3% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
? ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3% ต่อปี
? ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับ 6%-7% ต่อปี
? ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 54% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะความเป็นบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้และจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
สถานะเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงในกรณีที่สถานะเครดิตของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไป หรือมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความสำคัญของบริษัทที่มีต่อกลุ่มหรือระดับของการสนับสนุนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีต่อบริษัทเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- การจัดอันดับเครดิตบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด (KCC)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KCC213A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 365 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA
KCC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA
KCC229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable