ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความเป็นสถาบันระหว่างประเทศเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของ CGIF สะท้อนถึงสถานะในการเป็นสถาบันระหว่างประเทศหรือ Supranational Institution ขององค์กร ซึ่ง
ทริสเรทติ้งมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CGIF จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสมาชิกหลักของกลุ่มผู้ร่วมทุนในยามคับขัน ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังพิจารณารวมไปถึงเป้าหมายที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของกลุ่มผู้ร่วมทุนที่ต้องการให้ CGIF ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคด้วย
เงินเพิ่มทุนจากสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมทุนสะท้อนถึงความสามารถและความเต็มใจในการให้การสนับสนุนด้านการเงิน รวมทั้ง
พันธสัญญาที่สมาชิกมีต่อเป้าหมายด้านการพัฒนาของ CGIF ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เป็นต้นมา CGIF ได้รับเงินเพิ่มทุนจาก ADB มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากสาธารณรัฐเกาหลี 23.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากประเทศเวียดนามอีก 0.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นไปตามมติของกลุ่มผู้ร่วมทุนในปี 2560 ที่เห็นชอบให้เพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของ CGIF เป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2566 โดยไม่มีข้อผูกมัด จากเดิมที่ระดับ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจ ส่งผลทำให้ทุนจดทะเบียนของ CGIF อยู่ที่ระดับ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2563
S&P Global Ratings มีการจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ร่วมทุน 4 รายแรกที่มีสัดส่วนของการร่วมทุนใน CGIF มากที่สุดประมาณ 90% ของเงินทุนที่ได้รับชำระแล้ว ที่ระดับตั้งแต่ ?A+? ไปจนถึง ?AAA? ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 โดยผู้ร่วมทุนดังกล่าวประกอบไปด้วยประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ADB และสาธารณรัฐเกาหลี
มีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่า CGIF จะมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับผลขาดทุนด้านเครดิตภายใต้สถานการณ์คับขันได้ โดยประมาณการของทริสเรทติ้งยังได้พิจารณารวมไปถึงความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระจากการค้ำประกันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) แพร่ระบาดด้วย นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังได้พิจารณารวมไปถึงมูลค่าของการให้การค้ำประกันหลังจากการประกันภัยต่อซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่อัตรา 1.46 เท่า ของเงินกองทุนรวม ณ เดือนมิถุนายน 2563 อีกด้วยเช่นกัน โดยอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.14 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2562 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.5 เท่าซึ่งเป็นเพดานที่ CGIF ใช้เป็นการภายใน
อัตราส่วนเงินกองทุนตามเกณฑ์ Basel II หลังจากการประกันภัยต่อของ CGIF อยู่ที่ระดับ 28.2% ณ เดือนมิถุนายน 2563 ถึงแม้อัตราส่วนดังกล่าวจะลดลงจากระดับ 32.2% ณ เดือนมิถุนายน 2562 จากมูลค่าการให้การค้ำประกันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลัก แต่ก็ยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ CGIF ใช้เป็นการภายในซึ่งอยู่ที่ระดับ 8.8%
การบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวังช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการให้การรับประกัน
ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าการบริหารความเสี่ยงที่มีความระมัดระวังน่าจะช่วยให้ CGIF สามารถต้านทานความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากโรคโควิด 19 ได้ หลักการคิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของ CGIF ก็น่าจะช่วยรองรับความเสียหายจากการรับประกันที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยแนวทางการประเมินความเสี่ยง รวมถึงกรอบปฏิบัติด้าน
ธรรมาภิบาล และนโยบายการตรวจสอบของ CGIF นั้นได้รับการพัฒนาขึ้นมาตามมาตรฐานสากลซึ่งมีการกำหนดตัวแปรด้านความเสี่ยงไว้อย่างชัดเจน ในขณะที่การประกันภัยต่อและการรับประกันร่วมก็ช่วยลดทอนความเสี่ยงด้านเครดิตของ CGIF ลงไปได้อีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ นับตั้งแต่การก่อตั้งมาจนถึงกลางปี 2563 CGIF ยังไม่พบกรณีการผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด
เมื่อไม่นานมานี้ CGIF ได้ปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นทางการโดยได้เพิ่มแนวทางการติดตามความเสี่ยงทางเครดิต ตลอดจนการรับรู้ปัญหาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และการบริหารจัดการลูกค้ารับประกันที่มีความเสี่ยงสูงแบบใกล้ชิดยิ่งขึ้น CGIF ยังได้เพิ่มเติมรายละเอียดอื่น ๆ ในการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงด้วย ซึ่งรวมถึง แนวทางการพิจารณาการให้การรับประกันที่มีความละเอียดยิ่งขึ้นและข้อปฏิบัติในกรณีเกิดการเคลมและการกู้คืนความสูญเสียซึ่งระบุเป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน
ทริสเรทติ้งยังพิจารณาว่ากลยุทธ์ของฝ่ายบริหารที่เปลี่ยนไปมุ่งเน้นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากโรคโควิด 19 นั้นถือเป็นแนวทางที่ดี โดยภาคธุรกิจดังกล่าวประกอบด้วยธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ การบริการทางการแพทย์ และธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ดังกล่าวอาจจะยังค่อนข้างจำกัดในระยะสั้นเนื่องจากต้องใช้เวลาพอสมควรตามกระบวนการพิจารณาการให้การรับประกันรายใหม่ แม้กระนั้น กลยุทธ์ของ CGIF ที่คงมุ่งเน้นการกระจายความเสี่ยงของประเทศที่ให้การรับประกันจะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนความเสี่ยงได้ในระยะ
ปานกลาง โดย CGIF มีเป้าหมายที่จะมุ่งเน้นขยายฐานนักลงทุนนอกเหนือไปจากประเทศเวียดนามและประเทศไทยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าของการให้การค้ำประกันรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าการให้การค้ำประกันทั้งหมด ณ เดือนมิถุนายน 2563
พอร์ตลงทุนมีคุณภาพดี
ทริสเรทติ้งคาดว่า CGIF จะสามารถคงคุณภาพสินทรัพย์ของพอร์ตเงินลงทุนที่ดีได้เนื่องจากการมีนโยบายการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม โดยเงินลงทุนของ CGIF ประกอบด้วยตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตสูงตั้งแต่ระดับ ?A+? จนถึง ?AAA? (ยึดตามอันดับเครดิตของ S&P Global Ratings) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและสถาบันการเงิน รวมทั้งตั๋วเงินคลังรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasuries) โดยอัตราเครดิตขั้นต่ำของเงินลงทุนที่ระดับ ?A+? จะใช้เฉพาะกับตราสารหนี้ที่ออกโดยหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของประเทศที่เป็นผู้ร่วมทุนเท่านั้น ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 กว่าครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนในตราสารหนี้มีอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ ?AAA? CGIF มีกลยุทธ์ในการลงทุนที่มุ่งเน้นรายได้จากเงินลงทุนที่มีความมั่นคงผ่านการถือครองตราสารหนี้เพื่อรักษาเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงราคาให้อยู่ที่ระหว่าง 2-4 ปี CGIF มีค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงราคาอยู่ที่ 3.13 ปี ณ เดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.61 ปี ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเหมาะสมกับสภาวะดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดต่ำลง นอกจากนี้ CGIF ยังมีเพดานที่ระมัดระวังเพื่อจำกัดมูลค่าความเสี่ยง (Value-at-Risk -- VaR) และการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealised Loss) จากเงินลงทุนอีกด้วย
ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้จากเงินลงทุนจะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของ CGIF ในระยะปานกลางควบคู่ไปกับรายได้จากการรับประกันซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยของ CGIF มีสัดส่วนประมาณ 58% ของรายได้รวม ตามมาด้วยรายได้จากการรับประกันที่ระดับ 35%
สภาพคล่องยังคงแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าสินทรัพย์สภาพคล่องที่มีขนาดใหญ่และการบริหารความเสี่ยงแบบอนุรักษ์นิยมจะช่วยส่งเสริมให้สภาพคล่องของ CGIF คงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แนวทางการบริหารความเสี่ยงแบบ 2 ทางกำหนดให้มีการติดตามสภาพคล่องให้เพียงพอต่อความต้องการรายวันและการจำลองความเพียงพอของสภาพคล่องภายใต้สถานการณ์คับขันในกรณีที่เกิดการเคลมความเสียหายครั้งใหญ่ นอกจากนี้ CGIF ยังสามารถทำธุรกรรมซื้อคืนหลักทรัพย์เพื่อบริหารสภาพคล่องได้อีกด้วย แนวทางการบริหารความเสี่ยงอยู่ภายใต้สมมติฐานการจำลองความเพียงพอของสภาพคล่องที่มีความระมัดระวัง ตัวอย่างเช่น ในการติดตามสภาพคล่องรายวันจำเป็นต้องมีประมาณการกระแสเงินสดเข้าจากเงินลงทุนและรายได้จากค่าธรรมเนียมเพื่อรองรับกระแสเงินสดออกและการเคลมที่อาจเกิดขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า อีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ การจำลองภายใต้สถานการณ์
คับขันที่ใช้สมมุติฐานการเคลมของการผิดนัดชำระที่ยึดสัดส่วน 20% ของจำนวนบริษัทที่ได้รับการรับประกันควบคู่ไปกับการใช้ค่าปรับลด (Hair-cut) ในการขายสินทรัพย์เงินลงทุน
เงินลงทุนของ CGIF ประกอบไปด้วยตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องและมีอันดับเครดิตสูงซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าเงินลงทุนดังกล่าวสามารถนำมาขายเพื่อใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องในยามจำเป็นได้โดยอาจเกิดการขาดทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน (ในระหว่างปี 2563-2565)
? มูลค่าของการให้การค้ำประกันหลังจากการประกันภัยต่ออยู่ที่ระดับ 1.4-1.6 เท่าของเงินกองทุน
? มูลค่าของการให้การค้ำประกันใหม่อยู่ที่ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
? อัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 2.2%-2.3% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับความสามารถและความเต็มใจของผู้ร่วมทุนหลักในการให้ความช่วยเหลือแก่ CGIF และความคาดหวังว่า CGIF จะยังคงดำเนินการตามเป้าหมายที่มีความสำคัญเชิง
กลยุทธ์ในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคต่อไป แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า CGIF จะยังคงความแข็งแกร่งของสถานะเครดิต รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวด และมีผลประกอบการที่ดีต่อไปได้ด้วยเช่นกัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของ CGIF อาจได้รับแรงกดดันในทางลบได้หากความเสียหายจากการค้ำประกันทำให้ฐานะทางการเงินของ CGIF อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากระดับการให้การสนับสนุนของกลุ่มผู้ร่วมทุนลดลง
Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable