ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดที่สามารถคาดการณ์ได้ของธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบจากความเป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจก่อสร้างลงได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความไม่แน่นอนของปริมาณและความผันผวนของราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลที่ใช้ป้อนโรงไฟฟ้า ตลอดจนสภาวะแวดล้อมที่มีความท้าทายมากขึ้นของธุรกิจผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจก่อสร้างด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
อันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าน่าจะยังคงเป็นศูนย์กลางในการทำกำไรของบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในสัดส่วนมากกว่า 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัท และนำมาซึ่งกระแสเงินสดที่มั่นคงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในสัญญาแต่ละฉบับมีการระบุราคาซื้อขายไว้อย่างชัดเจน
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าบริหารงานโดย บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการแล้วจำนวน 7 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ที่ 73.8 เมกะวัตต์ และปัจจุบันกำลังทำการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อขยายขนาดของธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในการนี้ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะเพิ่มกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกจำนวน 32.7 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่อยู่ในแผน ซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 แห่ง (24.7 เมกะวัตต์) และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 1 แห่ง (8 เมกะวัตต์) โดยบางโครงการประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) แต่งบลงทุนยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม โครงการเหล่านี้มีแผนจะเปิดดำเนินการภายในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 106.5 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ภายใต้แผนของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตใหม่อีกจำนวน 9 เมกะวัตต์ในช่วงประมาณการ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 115.5 เมกะวัตต์ในปี 2565
ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งรวมกันทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 48%-50% ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่ากระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าจะช่วยลดทอนความผันผวนของธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีธรรมชาติเป็นวงจรขึ้นลงได้เป็นอย่างมาก และโรงไฟฟ้าดังกล่าวน่าจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งต่อไปอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ความเสี่ยงจากปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิง
ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีความเสี่ยงจากการขาดแคลนวัตถุดิบเชื้อเพลิงและความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง โดยวัตถุดิบเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นได้มาจากเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง เช่น ไม้สับ แกลบ กะลามะพร้าว และพืชอื่น ๆ ที่เติบโตเร็ว ความเพียงพอของปริมาณวัตถุดิบเชื้อเพลิงนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฤดูกาล การใช้ชีวมวลในอุตสาหกรรมอื่น และการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่มีวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นาเป็นของตนเองจำเป็นจะต้องแย่งชิงวัตถุดิบเชื้อเพลิงกับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ ราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นยังเคลื่อนไหวขึ้นและลงได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังแปรเปลี่ยนไปตามความชื้นและค่าความร้อนอีกด้วย
บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ได้จัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท โดยในบางโครงการผู้รับเหมาจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการวัตถุดิบและรับความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิง บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง วางแผนจะจัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ของบริษัทแต่บริษัทจะบริหารจัดการวัตถุดิบเชื้อเพลิงเอง ซึ่งในกรณีนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านวัตถุดิบเชื้อเพลิงได้ เนื่องจาก บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ไม่มีวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นาเป็นของตนเอง บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบเชื้อเพลิงระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเชื้อเพลิงที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย บริษัทจึงลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงของตนเองอีกด้วย
สภาวะแวดล้อมที่ท้าทายมากขึ้นของธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ลดลงและการประมูลแข่งขันที่รุนแรง การแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ยังคงใช้เวลารอการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายที่ยาวนาน ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุนกับชุมชนท้องถิ่นในชนบทเพื่อดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอันประกอบไปด้วยชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และอื่น ๆ อย่างไรก็ดี เกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป แม้รัฐบาลจะพยายามสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่การเปิดประมูลและการประกาศผลผู้ชนะโครงการก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีความล่าช้า ทั้งนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยด้านลบต่อการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในภาวะที่เป็นไปได้ยากที่จะเกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ นี้ แนวโน้มที่น่าจับตามองต่อไปคือการควบรวมกิจการหรือการขายกิจการโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง อยู่ภายใต้ระบบการประมูลแข่งขันซึ่งทำให้ได้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ต่ำลงมากโดยอยู่ระหว่าง 2.8-3.4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันมีราคาจำหน่ายไฟฟ้าสูงกว่า 4 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ดังนั้น บริษัทจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มความรัดกุมในการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตาม โครงการใหม่ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น ซึ่งจะเร่งให้เกิดการประหยัดจากขนาดและช่วยลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย
ธุรกิจก่อสร้างมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทในธุรกิจก่อสร้างภายในประเทศ โดยธุรกิจดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง มูลค่าสัญญาก่อสร้างของบริษัทอยู่ในระดับไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อสัญญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี บริษัทมีขอบเขตงานก่อสร้างที่จำกัดโดยเน้นเฉพาะงานก่อสร้างอาคาร เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงแรม และศูนย์การค้า บริษัทมีกำไรจากธุรกิจก่อสร้างที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น รวมทั้งมีการเพิ่มกำลังคน และมีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงกว่าคาดในบางโครงการ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จาก 6.4% ในปี 2562 และ 9.6% ในปี 2561
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบในด้านลบต่อกิจกรรมการก่อสร้างในช่วงการปิดเมือง ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในการเปิดประมูลงานใหม่และยังเกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้รับเหมาด้วยกันเอง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองในด้านบวกต่อธุรกิจก่อสร้างภายในประเทศในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การก่อสร้างภาครัฐน่าจะยังคงมีบทบาทเป็นหลักต่อไป บริษัทมีเป้าหมายจะขยายไปสู่งานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลงานที่จำกัดในด้านงานก่อสร้างประเภทนี้และยังต้องแข่งขันกับผู้รับเหมาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรับงานก่อสร้างต่อไปโดยเน้นในภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะเดียวกันบริษัทก็ไม่น่าจะรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ด้วยตนเองในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 5% เมื่อพิจารณาจากการแข่งขันที่รุนแรงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ
ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่บริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งมีสมมติฐานประมาณการพื้นฐานว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 6 พันล้านบาทในปี 2565 จาก 3.95 พันล้านบาทในปี 2563 โดยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.15 พันล้านบาทในปี 2565 จากประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2563 ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2.8 พันล้านบาทต่อปีโดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าบริษัทจะได้รับงานก่อสร้างมูลค่าปีละ 1.5-2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้มูลค่า 2.13 พันล้านบาทซึ่งจะช่วยประกันรายได้ในช่วงปีประมาณการได้ส่วนหนึ่ง
ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่ารายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 150 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทมีจำนวนสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2563 ทริสเรทติ้งไม่คิดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปีข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากการชะลอตัวของภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ บริษัทวางแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2564 แต่แผนการเปิดตัวจะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ในภาพรวมทริสเรติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 19%-20% ในช่วงปี 2563-2565
การก่อหนี้จะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน
บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทไทยโพลีคอนส์ ทริสเรทติ้งจึงได้รวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย
การก่อหนี้ของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับปัจจุบัน โดยกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจะใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของระดับการก่อหนี้ ในการนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในช่วง 50%-55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับ 52.7% ณ เดือนมิถุนายน 2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ในช่วง 12%-17% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 5-6 เท่าในช่วงปี 2563-2565
สภาพคล่องสามารถจัดการได้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการกับสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทมีภาระหนี้ค่อนข้างต่ำและไม่มีประเด็นเรื่องความไม่สอดคล้องกันของเงินทุนในด้านระยะเวลาแต่อย่างใด ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้ารวมกันประมาณ 1.46 พันล้านบาท บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันจำนวน 453 ล้านบาท โดยเงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ 726 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการวงเงินหมุนเวียนระยะสั้นซึ่งใช้สำหรับกิจกรรมการก่อสร้างเป็นหลักได้เป็นอย่างดี
บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินใด ๆ สำหรับเงินกู้จากธนาคาร แต่บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าของบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะต้องดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้เอาไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่า หรือ 1.2 เท่า และจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 1.2 เท่า 1.5 เท่า และ 2.5 เท่า ซึ่งทั้งบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าดังกล่าวทุกรายสามารถปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดในช่วงที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าได้ด้วยเช่นกัน
สมมติฐานพื้นฐาน (ปี 2563-2565)
? กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จะเพิ่มขึ้นเป็น 115.5 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
? มูลค่าสัญญางานก่อสร้างใหม่จะอยู่ที่ 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี
? อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะอยู่ที่ประมาณ 5%
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 19%-20%
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1-2 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกำไรและกระแสเงินสดจำนวนมากให้แก่บริษัทได้ตามที่วางแผนไว้ ทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ จะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ นอกจากนี้ บริษัทจะสามารถบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของระดับการก่อหนี้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตมีค่อนข้างจำกัดในระยะใกล้ แต่อาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและ/หรือธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการเป็นอย่างมาก หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทด้อยลงจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (TPOLY)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable