ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. บางกอก เชน ฮอสปิทอล” ที่ “A-” แนวโน้ม “Positive”

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 10, 2020 13:16 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในการให้บริการคนไข้ 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดซึ่งมีรายได้ระดับปานกลางและกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนผลการดำเนินงานที่ดีจากความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับสูง และสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ และผลกระทบในด้านลบอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

แข็งแกร่งทั้งในกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดและกลุ่มคนไข้ในระบบประกันสังคม

บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดและกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยรายได้จากกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดมีสัดส่วนประมาณ 65% ของรายได้จากบริการทางการแพทย์รวมของบริษัท ในขณะที่รายได้จากกลุ่มคนไข้ในระบบประกันสังคมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35%

รายได้จากกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ระดับ 11% ซึ่งอยู่ที่ 5.8 พันล้านบาทในปี 2562 รายได้บริการทางการแพทย์ในปี 2562 เติบโตเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ในเครือของบริษัท รายได้ที่เพิ่มขึ้นยังมาจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของ ?World Medical Hospital? (WMC) และรายได้จากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง ซึ่งเพิ่งเปิดใหม่อีกด้วย ทั้งนี้ WMC ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เน้นให้บริการแก่กลุ่มคนไข้เงินสดรายได้สูงและคนไข้ต่างชาตินั้นมีรายได้เติบโตในปี 2562 ที่อัตรา 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการในไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ก็มีการเติบโตของรายได้ที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการให้บริการทางการแพทย์ที่ระดับ 520 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 275 ล้านบาทในปี 2561

บริษัทมีรายได้จากการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ประกันสังคมในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 3.1 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 6% จากปี 2561 ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนมาจากจำนวนผู้ประกันตนที่เพิ่มสูงขึ้นและค่าบริการทางการแพทย์ต่อผู้ประกันตนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 คนไข้ในกลุ่มประกันสังคมที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลในเครือข่ายของบริษัทมีจำนวน 887,104 คน เพิ่มขึ้นจาก 880,447 คน ณ สิ้นปี 2562 และ 804,150 คน ณ สิ้นปี 2561 โดยจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนกับโรงพยาบาลในเครือข่ายของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 5.4% ของจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดในระบบประกันสังคมทั่วประเทศ การมีฐานคนไข้ลงทะเบียนในระบบประกันสังคมจำนวนมากทำให้บริษัทเกิดการประหยัดจากขนาดและช่วยคงระดับอัตราการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่

ยังคงระดับผลการดำเนินงานเอาไว้ได้ท่ามกลางผลกระทบจากโรคโควิด 19

มาตรการควบคุมการเข้าประเทศที่เข้มงวดและการบังคับกักตัวสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทยส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติลดลง ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้รวมของผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านสุขภาพที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงประมาณ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ของผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยต่างชาติในตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หดตัวลงถึง 15%-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด 19 ในระดับปานกลางเนื่องจากมีฐานผู้ป่วยชาวไทยจำนวนมาก ซึ่งโดยปกติแล้วสัดส่วนรายได้รวมของบริษัทจะมาจากผู้ป่วยชาวไทยคิดเป็นประมาณ 90% ทั้งในกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดและกลุ่มคนไข้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ส่วนที่เหลือจะมาจากผู้ป่วยต่างชาติ วิกฤตการณ์โรคโควิด 19 และการปิดประเทศส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติของบริษัทลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แต่ก็ได้รับการทดแทนได้บางส่วนจากระยะเวลาเฉลี่ยในการนอนพักรักษาตัวที่ยาวนานขึ้นของผู้ป่วยต่างชาติที่ยังคงเหลืออยู่ในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยชาวไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยในมีจำนวนที่ลดลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดด้วยเช่นกันเนื่องจากความหวาดกลัวโรคโควิด 19 และเป็นช่วงที่มีการจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน

บริษัทพยายามเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นจากผู้ป่วยนอกโดยเสนอบริการตรวจโรคโควิด 19 ในขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine -- ASQ) เพื่อสังเกตอาการผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ พร้อมกับจัดหอพักผู้ป่วยเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสำหรับกักตัว (Alternative Hospital Quarantine -- AHQ) เพื่อสังเกตอาการผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังได้รณรงค์ส่งเสริมการขายต่าง ๆ และร่วมมือกับบริษัทประกันเพื่อให้ได้ผู้ป่วยรายใหม่เข้ามารักษาตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของจำนวนผู้ป่วยต่างชาติและสร้างการเติบโตของรายได้ให้แก่บริษัทได้บ้าง ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้จากบริการทางการแพทย์ในกลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในขณะที่รายได้จากการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ประกันสังคมยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยต่างชาติจะลดลง แต่รายได้จากบริการทางการแพทย์ของ WMC ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ยังคงเติบโตที่ระดับ 11% และรายได้ของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2563 บริษัทยังได้เปิดโรงพยาบาลแห่งใหม่คือโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อรัญประเทศ ในจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีขนาด 90 เตียงอีกด้วย ซึ่งโรงพยาบาลแห่งนี้ช่วยเพิ่มฐานผู้ป่วยและเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเดิมให้แก่บริษัท เป็นผลให้รายได้จากบริการทางการแพทย์ของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มีเสถียรภาพเป็นอย่างมากท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีรายได้ที่ระดับ 4.26 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.1% จาก 4.22 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

หลังจากที่มาตรการต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายลง สัญญาณการฟื้นตัวของจำนวนผู้ป่วยภายในประเทศก็เริ่มปรากฏให้เห็นแม้ว่าจะยังไม่กลับไปถึงระดับปกติอย่างเต็มที่ก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จำนวนผู้ป่วยในระบบประกันสังคมน่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนไข้ที่ต้องการบริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังมีโครงการให้สิทธิผู้ประกันตนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 อีกด้วย ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับรายได้เอาไว้ได้ในปี 2563 โดยคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตในระดับ 5%-10% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการขยายเครือข่ายโรงพยาบาล รวมทั้งจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม และจากการให้บริการทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคที่มีความซับซ้อนรุนแรงมากขึ้น

ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ

กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในช่วงปี 2562 อยู่ที่ระดับประมาณ 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากระดับ 2.2 พันล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตรากำไรที่แข็งแกร่งที่ระดับ 25%-28% อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น และการมีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการแก่กลุ่มคนไข้ที่ชำระเงินสดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นั้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.19 พันล้านบาท จากระดับ 1.07 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตรากำไรก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 27.7% จากการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพและความพยายามในการปรับปรุงขั้นตอนภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท

ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงมีเสถียรภาพท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค

โควิด 19 ที่ยาวนาน โดยคาดว่า อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 26%-27% ในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งสะท้อนถึงรายได้จากการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง่จากฐานคนไข้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและความพยายามในการควบคุมต้นทุนของบริษัท แต่ลดทอนลงด้วยต้นทุนและค่าใช้จ่ายตำเนินงานของโครงการโรงพยาบาลแห่งใหม่ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าความสามารถในการทำกำไรของโรงพยาบาลที่เปิดใหม่ในเครือของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นในระยะปานกลาง

การแข่งขันที่รุนแรงและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ

ทริสเรทติ้งคาดว่าโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยในระยะปานกลางจะยังคงดีอยู่โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาวการณ์สังคมสูงอายุของคนในประเทศและความตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในตลาดทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศนั้นจะยังคงรุนแรงอยู่ ทั้งนี้ ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าการแข่งขันในตลาดภายในประเทศน่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากจำนวนผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายรายในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนไข้รายได้สูง โดยสถานพยาบาลที่ผู้ประกอบการรายใหม่ดังกล่าวจะเข้ามาดำเนินการจะประกอบด้วยคลินิกพิเศษที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเห็นว่ามีผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมอีกหลายรายที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยเพิ่มบริการด้านสุขภาพเข้ามาอีกด้วย การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้อาจนำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายของบุคคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์และพยาบาลในระหว่างโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้นและอาจก่อให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคาในระยะ

ปานกลางได้

ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมในระบบประกันสังคมก็จะได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบของระบบรักษาพยาบาลของรัฐ เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราการชำระเงินคืนและเงื่อนไขบทบัญญัติของสัญญาการให้บริการ รวมถึงการขยายการรักษาให้ครอบคลุมโรคบางชนิด การรักษาที่มีขั้นตอน และสถานะการคลังของรัฐบาล ฯลฯ อีกด้วย ทั้งนี้ ค่าบริการทางการแพทย์ต่อผู้ประกันตนจะเพิ่มสูงขึ้นจากการที่สำนักงานประกันสังคมปรับค่าบริการต่อคนเพิ่มขึ้นซึ่งโดยปกติจะมีการปรับทุก ๆ 2 ปี โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานประกันสังคมได้ปรับค่าบริการทางการแพทย์ต่อผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของค่ารักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานและค่าบริการสำหรับการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ในการนี้ การปรับค่าบริการต่อคนเพิ่มขึ้นสำหรับการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงดังกล่าวจะช่วยให้สำนักงานประกันสังคมสามารถเตรียมงบประมาณภายในเพื่อให้เพียงพอที่จะจ่ายให้แก่โรงพยาบาลที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยในที่เข้ารับการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนสูงได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี

ระดับภาระหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะเพิ่มในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทในช่วงปี 2563-2564 และสำหรับการบำรุงรักษาโรงพยาบาลที่มีอยู่ของบริษัท รวมทั้งใช้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่จอดรถ โดยคาดว่าหนี้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินลงทุนโดยรวมประมาณ 6.2 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2566 โดยจะเป็นเงินลงทุนสำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่จำนวนประมาณ 2.6 พันล้านบาทและใช้เพื่อการบำรุงรักษาสินทรัพย์อีกประมาณปีละ 0.3-1 พันล้านบาท บริษัทมีโครงการโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างรวม 2 โครงการ คือ โรงพยาบาล

เกษมราษฎร์ในจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งมีขนาด 115 เตียงและโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งมีขนาด 110 เตียง

เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่คาดว่าน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นเงินลงทุนบางส่วน ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3-2.6 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับ 30%-35% นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะยังคงรักษาระดับอยู่ในช่วง 45%-50% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะอยู่ในช่วง 11-13 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 800 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1.9-2 พันล้านบาทต่อปีในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยที่บริษัทจะใช้เงินทุนไปในการชำระหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดและลงทุนตามแผน ในการนี้ เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 2.6 พันล้านบาทในปี 2563 และ 0.3-1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้ระยะสั้นจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาท รวมทั้งหนี้ระยะยาวและหุ้นกู้อีกจำนวน 1.8 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2564 ส่วนในปี 2565 นั้น บริษัทมีหนี้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวนประมาณ 2.5 พันล้านบาท

ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทสามารถรักษาข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวเอาไว้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 1.2 เท่า ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทแล้วทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้ในปี 2563 จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน และจะเติบโตที่ระดับประมาณ 5%-10% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 26%-27% ต่อปีในช่วงปี 2563-2566

? เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 6.2 พันล้านบาทโดยรวมในช่วงปี 2563-2566

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Positive? หรือ ?บวก? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยบริษัทจะสามารถสร้างฐานรายได้ขนาดใหญ่ รวมทั้งยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่เพียงพอเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถขยายฐานรายได้จนถึงระดับประมาณ 1-1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีได้ในขณะที่ยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในทางตรงกันข้าม แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้หากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอ่อนแอกว่าที่คาดไว้

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) (BCH)

อันดับเครดิตองค์กร: A-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

BCH211A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A-

BCH22DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2565 A-

BCH226A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2565 A-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ