ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน)” ที่ “B+” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 23, 2020 09:20 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?B+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่อ่อนแอของบริษัทซึ่งมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีขนาดเล็กและมีความผันผวน ตลอดจนภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง และความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทจากการที่หนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระในระยะเวลา 24 เดือนข้างหน้าซึ่งบริษัทต้องพึ่งพาการกู้ยืมใหม่เพื่อใช้ชำระหนี้เดิมหรือรีไฟแนนซ์เป็นหลัก นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อไปในอีก 12-18 เดือนข้างหน้าจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความล่าช้าของหลายๆ โครงการที่บริษัทต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ฐานรายได้ที่ค่อนข้างเล็กและมีความผันผวน

สถานะทางธุรกิจของบริษัทมีข้อจำกัดจากฐานรายได้ที่มีขนาดเล็กและมีความผันผวนซึ่งสะท้อนถึงลักษณะทางธุรกิจของบริษัทที่ขึ้นอยู่กับโครงการตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยในช่วงปี 2558-2560 รายได้ของบริษัทอยู่ระหว่าง 1.1-1.6 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับตั้งแต่ติดลบ 8 ล้านบาทไปจนถึง 112 ล้านบาทต่อปี

ในปี 2561 บริษัทและ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าได้ทำสัญญาเพื่อจัดส่งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าชธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คันให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4.3 พันล้านบาท โดยราคาขายรถมีมูลค่า 1.9 พันล้านบาทและค่าบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาระยะเวลา 10 ปีมีมูลค่ารวม 2.4 พันล้านบาท โครงการดังกล่าวทำให้รายได้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาทในปี 2561 ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากการส่งมอบรถประจำทาง NGV จำนวน 300 คันให้แก่ ขสมก. ในขณะที่ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จำนวน 1.6 พันล้านบาท ซึ่ง 1 ใน 3 ของรายได้ดังกล่าวมาจากการส่งมอบรถประจำทาง NGV ส่วนที่เหลืออีก 189 คันให้แก่ ขสมก. โดยบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 252 ล้านบาทในปี 2561 และ 245 ล้านบาทในปี 2562 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโครงการรถประจำทาง NGV ดังกล่าว

ความพยายามในการเพิ่มรายได้ประจำเพื่อสร้างเสถียรภาพของรายได้

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของบริษัทคือการเพิ่มรายได้จากงานให้บริการเพื่อทำให้รายได้มีความมั่นคงสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ปัจจุบันรายได้จากงานให้บริการที่สำคัญของบริษัทมาจากโครงการรถประจำทาง NGV จำนวน 489 คัน ทั้งนี้ ตามสัญญาดังกล่าวบริษัทจะมีรายได้ค่าซ่อมและบำรุงรักษาจากโครงการจำนวนประมาณ 145 ล้านบาทต่อปีในปี 2563-2565 จำนวน 214-228 ล้านบาทต่อปีในปี 2566-2570 และจำนวน 36 ล้านบาทในปี 2571 นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการให้บริการซ่อมบำรุงรถให้แก่ บริษัท ลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด รวมประมาณ 60-90 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย แม้ว่าสัญญากับบริษัทลินฟ้อกซ์ฯ จะเป็นแบบปีต่อปี แต่บริษัทก็คาดว่าจะได้รับการต่อสัญญากับบริษัทดังกล่าวต่อไปทุกปีจากการที่บริษัทมีประวัติการให้บริการอย่างต่อเนื่องมาตลอด นอกจากนี้ บริษัทยังต้องการเพิ่มรายได้จากงานบริการผ่านการขยายธุรกิจภายใต้โครงการ ?สิบล้อ 24? ซึ่งเป็นศูนย์ให้บริการรถสิบล้อ 24 ชั่วโมง รวมทั้งงานให้บริการบริหารโครงการ เช่น การต่อเรือตรวจการณ์นอกชายฝั่งอีกด้วย หากแผนดังกล่าวประสบความสำเร็จซึ่งจะทำให้บริษัทมีฐานรายได้ประจำที่ขยายขึ้นก็จะช่วยให้รายได้ของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นและจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทอีกด้วย

โรคโควิด 19 กระทบผลการดำเนินงานอย่างหนัก

ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อย่างหนัก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้จำนวน 521 ล้านบาท ซึ่งลดลง 61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีผลขาดทุน 139 ล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อไปอีกในระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้าการแพร่ระบาดของโรคส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังผลิตภัณฑ์รถสนับสนุนภาคพื้นดินภายในสนามบินซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่เป็นจุดแข็งและแหล่งรายได้สำคัญอีกส่วนหนึ่งของบริษั นอกจากนี้ ความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยการออกมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลเมื่อบวกกับภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางก็ยังจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้งานหลาย ๆ โครงการที่บริษัทจะเข้าร่วมการประมูลหรือดำเนินงานเกิดความล่าช้าออกไปอีกด้วย

ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานที่คาดการณ์ว่าบริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ 650-700 ล้านบาทในปี 2563 และ 900-1,200 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 โดยการคาดการณ์ดังกล่าวได้รวมการพิจารณามูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบของบริษัท (Backlog) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากงานซ่อมปืนให้กองทัพบกและงานซ่อมและบำรุงรักษาโครงการรถประจำทาง NGV จำนวน 489 คันด้วย ซึ่งงานในมือดังกล่าวคาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้จำนวนประมาณ 375 ล้านบาทในปี 2563 กับอีกประมาณ 460 ล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 155 ล้านบาทในปี 2565

บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่อ่อนแออันเนื่องมาจากการใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเตรียมบุคลากรและกำลังการผลิตเพื่อรองรับการดำเนินโครงการหลาย ๆ โครงการ อย่างไรก็ดี โครงการหลายโครงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับภาครัฐนั้นเกิดความล่าช้าหรือถูกยกเลิกด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยิ่งเพิ่มความล่าช้าและทำให้เกิดความไม่แน่นอนในหลาย ๆ โครงการที่บริษัทมีแผนเข้าร่วมยิ่งขึ้นด้วย ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงอ่อนแอต่อไปหากบริษัทไม่สามารถใช้กำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปีนี้จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากผลกำไรที่มีแรงกดดัน โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับ 4%-6% ในปี 2563 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10%-12% ในปี 2564-2565 ซึ่งจะเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 30-40 ล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 90-130 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะติดลบหรือมีน้อยจากการที่บริษัทมีต้นทุนทางการเงินในระดับสูง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานติดลบ 88 ล้านบาท ทั้งนี้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะติดลบประมาณ 110 ล้านบาทในปี 2563 และจะอยู่ระหว่างติดลบ 30 ล้านบาทจนถึง 20 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 โอกาสในการเติบโตด้านรายได้ของบริษัทจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการได้รับงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานประเภทบริหารโครงการและงานให้บริการซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่างานในกลุ่มผลิตภัณฑ์มาตรฐานของบริษัท

สถานะทางการเงินอ่อนแอ

สถานะทางการเงินที่อ่อนแอของบริษัทในปัจจุบันเป็นผลมาจากปัญหาในการดำเนินโครงการหลาย ๆ โครงการที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีกับ ขสมก. เช่น ในปี 2559 บริษัทมีผลขาดทุน 91 ล้านบาทเนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ ขสมก. ได้ยกเลิกโครงการรถประจำทาง NGV ซึ่งบริษัทกับบริษัทร่วมทุนประมูลได้ในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าธรรมเนียมทางการเงิน ต่อมาในปี 2560 บริษัทมีสัญญาดำเนินโครงการให้เช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บเงิน (Cash Box) บนรถประจำทางจำนวน 2,600 คันของ ขสมก. โดยมีมูลค่าโครงการรวม 1.7 พันล้านบาท ในการนี้ บริษัทได้ติดตั้งระบบบัตรโดยสาร E-Ticket บนรถประจำทางครบตามจำนวน 2,600 คันและได้ติดตั้งเครื่องเก็บเงิน (Cash Box) บนรถประจำทางจำนวน 800 คัน อย่างไรก็ตาม ขสมก. ได้บอกยกเลิกโครงการดังกล่าว โดยอ้างว่าบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาและทำการส่งมอบงานโครงการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งภายหลังบริษัทได้ดำเนินการถอดอุปกรณ์ทั้งหมดออกและยื่นฟ้อง ขสมก. เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวไปจำนวน 346 ล้านบาทโดยไม่รวมค่าใช้จ่ายในดำเนินงานและค่าใช้จ่ายด้านการเงิน นอกจากนี้ ในระหว่างดำเนินโครงการรถประจำทาง NGV จำนวน 489 คันนั้น บริษัทก็ประสบกับปัญหาโครงการหยุดชะงักเป็นระยะในปี 2561 ซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินของบริษัทประสบความยากลำบากในช่วงดังกล่าว

ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูงซึ่งเกิดจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการ E-Ticket และโครงการรถประจำทาง NGV จำนวน 489 คัน โดยภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มเป็น 1.3 พันล้านบาทในปี 2560 จาก 651 ล้านบาทในปี 2559 และยังเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 พันล้านบาทในปี 2561 ต่อมาในเดือนกันยายน 2563 หนี้สินทางการเงินของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 1.935 พันล้านบาท การที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากนั้นเกิดจากการมีรายได้ที่ลดลง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ 21 เท่าโดยปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปโดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับเกินกว่า 12 เท่าในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่กระแสเงินสดของบริษัทยังคงอ่อนแอ ทริสเรทติ้งจึงประมาณการว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 0.2-1.2 เท่าในระหว่างปี 2563-2565

สภาพคล่องตึงตัว

ทริสเรทติ้งมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของบริษัทเป็นอย่างมากเนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทจะครบกำหนดชำระภายในระยะ 24 เดือนข้างหน้าซึ่งบริษัทต้องพึ่งพาการรีไฟแนนซ์เพื่อเสริมสภาพคล่องเป็นหลัก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.33 พันล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 642 ล้านบาทและวงเงินกู้ยืมระยะสั้นอีกจำนวน 687 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในระดับติดลบประมาณ 30-40 ล้านบาทจากการมีภาระค่าใช้จ่ายทางการเงินในระดับสูง แหล่งสภาพคล่องของบริษัทจะมาจากเงินสดในมือจำนวน 53 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 เป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสดที่ได้รับจากการขายที่ดินอีกจำนวน 189 ล้านบาทซึ่งคาดว่าบริษัทจะนำไปใช้ในการชำระหนี้ที่จะครบกำหนด ทั้งนี้ บริษัทยังมีช่องว่างในการระดมทุนอยู่ค่อนข้างมากซึ่งทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทพึ่งพาการรีไฟแนนซ์เพื่อเสริมสภาพคล่องค่อนข้างมากเกินไป

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? บริษัทจะมีรายได้ 650-700 ล้านบาทในปี 2563 และ 900-1,200 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในระดับ 4%-6% ในปี 2563 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10%-12% ในระหว่างปี 2564-2565

? กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ 30-40 ล้านบาทในปี 2563 ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 90-130 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2564-2565

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 30-50 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอับดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทจะไม่ถดถอยลงไปมากจากระดับที่เป็นอยู่มากนักในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้และส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือมีสัญญาณความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากธุรกิจและสถานะทางการเงินที่ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยมีรายได้จากการดำเนินงานที่แน่นอนยิ่งขึ้นและมีภาระหนี้ที่ลดลง นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินก็ได้รับการแก้ไขอย่างแน่ชัดแล้ว

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) (CHO)

อันดับเครดิตองค์กร: B+

แนวโน้มอันดับเครดิต:										            Stable




บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ