ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวมาจากการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงการที่บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างเล็ก รวมทั้งความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกหนี้ที่อยู่ในระดับสูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
คุณภาพสินทรัพย์เป็นประเด็นหลักที่กดดันอันดับเครดิตของบริษัท การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จาก ?Stable? หรือ ?คงที่? นั้นสะท้อนการเสื่อมถอยอย่างมีนัยสำคัญของคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัท ณ สิ้น ปี 2562 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 15.2% จากตัวเลขหลักเดียวในอดีต อัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากการกระจุกตัวของสินเชื่อเพิ่มเงินทุนรายใหญ่จำนวนไม่กี่รายที่ยังอยู่ในขั้นตอนฟ้องศาลที่ใช้เวลานาน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2563 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 22.7% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางบัญชี ซึ่งทำให้ต้องมีการนับรวมสินเชื่อที่มีการปรับโครงสร้างหนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ถ้าไม่รวมการเปลี่ยนแปลงตามมาตรฐานบัญชีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะอยู่ที่ 19.5% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าสินเชื่อในส่วนสินเชื่อรับซื้อลูกหนี้การค้าซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 34% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ณ เดือนมิถุนายน 2563 นั้น ยังมีคุณภาพที่พอใช้ได้
เพื่อเป็นการบริหารสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ บริษัทได้ตัดหนี้สูญในส่วนที่อยู่ในกระบวนการดำเนินคดีที่นานกว่าที่คาดไว้ โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 2563 บริษัทได้ตัดหนี้สูญเป็นจำนวน 112 ล้านบาทหรือคิดเป็น 4.3% ของค่าเฉลี่ยสินเชื่อรวม เทียบกับการตัดหนี้สูญในอดีตในระดับที่ต่ำกว่า 1% และบริษัทยังเพิ่มความรัดกุมในการอนุมัติสินเชื่อใหม่ และลดสัดส่วนสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าการตัดหนี้สูญและความรัดกุมของการอนุมัติสินเชื่อใหม่จะช่วยทำให้คุณภาพสินเชื่อของบริษัทค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณภาพสินเชื่อยังเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลลบต่ออันดับเครดิตบริษัทได้
ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งคาดว่าฐานทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในระยะปานกลางจากการชะลอตัวลงของสินเชื่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอและบริษัทมีการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่รัดกุมขึ้น ฐานทุนที่แข็งแกร่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 29.8% และ 30.9% ณ สิ้นปี 2562 และ เดือนกันยายน 2563 ตามลำดับ โดยฐานทุนที่แข็งแกร่งที่จะช่วยรองรับผลกระทบทางด้านเครดิตที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวนั้นเป็นจุดแข็งต่ออันดับเครดิตของบริษัท
สถานะทางตลาดที่ค่อนข้างเล็กและมีการกระจุกตัวของสินเชื่อในระดับสูง
สถานะทางการตลาดของบริษัทเมื่อพิจารณาจากยอดสินเชื่อรวมคงค้างแล้วถือว่ามีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินซึ่งจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2562 สินเชื่อคงค้างของบริษัทอยู่ที่ 2.69 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.7% จากสิ้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 สินเชื่อคงค้างของบริษัทหดตัวลง 9.8% เทียบกับสิ้นปี 2562 จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด 19 ทริสเรทติ้งคาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจและกลยุทธ์การเติบโตแบบระมัดระวังของบริษัทอาจจะทำให้สินเชื่อคงค้างหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในปี 2564 อย่างไรก็ตาม การหดตัวของสินเชื่อจะไม่น่าจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทในระยะกลางเพราะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินส่วนใหญ่ ในทางกลับกัน การกระจุกตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงก็ยังคงเป็นปัจจัยที่น่ากังวล เนื่องจากเป็นเหตุให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมาและส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัท การกระจายตัวของสินเชื่อให้มากขึ้นนั้นจะสามารถช่วยลดแรงกดดันในด้านความเสี่ยงของบริษัทลงได้บางส่วน ณ สิ้นปี 2562 ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด 20 รายแรกมีสัดส่วนสินเชื่อต่อสินเชื่อรวมทั้งหมดคิดเป็น 45%
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทน่าจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการขยายธุรกิจและจะยังคงมีส่วนต่างอายุของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นบวก การที่สินเชื่อส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นสินเชื่อระยะสั้นนั้นมีส่วนช่วยสนับสนุนให้บริษัทมีสถานะสภาพคล่องที่ดีกว่าบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อระยะยาวเป็นหลัก นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงวงเงินกู้ยืมที่ได้รับจากธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ด้วย
บริษัทมีส่วนต่างอายุ (Duration Gap) ของสินทรัพย์และหนี้สินที่เป็นบวก โดยอายุเฉลี่ยของสินเชื่ออยู่ระหว่าง 3-6 เดือน ในขณะที่อายุเฉลี่ยของเงินกู้ยืมอยู่ที่ 15-18 เดือน ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วน 18.9% มีเงินกู้ระยะยาวในสัดส่วน 37.7% และที่เหลือเป็นส่วนทุนของบริษัทในสัดส่วน 43.4%
บริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 200 ล้านบาทในวันที่ 21 มีนาคม 2564 และจำนวน 520 ล้านบาทในวันที่ 19 ธันวาคม 2564 ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่สำหรับภาระหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระเหล่านี้ได้ แต่หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 ธันวาคมนั้นถือว่ามีมูลค่ามาก โดยคิดเป็นประมาณ 20% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท
ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวดีขึ้น
บริษัทมีการเพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตั้งแต่มีการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ในปี 2563 โดยบริษัทได้เพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวน 94.6 ล้านบาทโดยหักออกจากกำไรสะสมในช่วงต้นปี 2563 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 391 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 252 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ถึงแม้ว่าอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 15.34% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จาก 9.33% ณ สิ้นปี 2562 แต่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย โดยอัตราเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็น 67.6% จาก 61.5% ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการตั้งสำรองเพิ่มผ่านสำรองส่วนเพิ่มจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) จะช่วยลดความกังวลในเรื่องของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังนี้
? สินเชื่อใหม่จะหดตัวประมาณ 20% ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวอยู่ในระดับประมาณ 10% ต่อปีหลังจากนั้น
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะยังคงอยู่ในระดับมากกว่า 30%
? อัตราผลตอบแทนด้านดอกเบี้ยโดยรวมของบริษัทจะคงอยู่ในระดับ 10%-11%
? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะรักษาระดับอยู่ที่ 3%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 30%-33%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงการเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้การตัดหนี้สูญและเพิ่มความรัดกุมของการอนุมัติสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยทำให้คุณภาพสินเชื่อค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวเสื่อมถอยลงมากกว่าที่คาดไว้ อันดับเครดิตก็มีโอกาสปรับลดลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้หากบริษัทปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ได้อย่างต่อเนื่องโดยยังคงสถานะทางการตลาดและผลประกอบการไว้ได้
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงได้หากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทมีการเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% ในขณะเดียวกัน การขยายสินเชื่อในเชิงรุกจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 25% ก็อาจทำให้อันดับเครดิตลดลงได้เช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative