ทริสเรทติ้งยกเลิก ?เครดิตพินิจ? แนวโน้ม ?Positive? หรือ ?บวก? ที่ให้ไว้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นอายุ 5 ปี (หุ้นกู้มีประกัน) ของ บริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ บตท. (9) จำกัด (ผู้ออกตราสาร หรือเอสพีวี) พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันดังกล่าวเป็นระดับ ?AAA(sf)? จากเดิมที่ระดับ ?AA-(sf)? เพื่อให้สะท้อนสถานะเครดิตของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน (Guarantor) รายใหม่อีกด้วย
การทบทวนอันดับเครดิตหุ้นกู้มีประกันในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการควบรวมผู้ค้ำประกันหุ้นกู้คือบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เข้ากับ ธอส. ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 และมีการโอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของ บตท. ไปยัง ธอส. ในการนี้
ทริสเรทติ้งได้ทำการประเมินสถานะของ ธอส. จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วโดยอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ ?AAA? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?
หุ้นกู้มีประกันดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้โดย ธอส. ซึ่ง ธอส. จะให้การค้ำประกันในสัดส่วน 90% ของมูลค่าเงินต้นคงเหลือบวกดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้มีประกันนี้ นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีปัจจัยสนับสนุนจากหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่เอสพีวีออกให้แก่ ธอส. รวมทั้งเงินกู้ยืมที่ ธอส. ให้แก่เอสพีวีเพื่อเสริมสภาพคล่อง และหน้าที่ของ ธอส. ในการซื้อกองลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (กองสินทรัพย์) คงเหลือคืนจากเอสพีวี ณ วันครบกำหนด
ไถ่ถอนหุ้นกู้อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะเครดิตของ ธอส.
ธอส. มีสถานะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2496 ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ธนาคารมีผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวคือกระทรวงการคลังและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษอย่างทันท่วงทีและเพียงพอแก่ ธอส. ในยามที่ธนาคารมีความต้องการ ทั้งนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ธอส. กับรัฐบาลที่อยู่ใน ?ระดับสูงสุด? และบทบาทของ ธอส.ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ในระดับ ?สำคัญมากที่สุด? ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้
ธอส. เป็นผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ
เอสพีวีได้ออกหุ้นกู้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 8.22 พันล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนชนิดทยอยชำระคืนเงินต้นจำนวน 6 พันล้านบาทและหุ้นกู้ด้อยสิทธิจำนวน 2.22 พันล้านบาท โดยสัดส่วนมูลค่าของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคิดเป็น 27% ของมูลค่ารวมของหุ้นกู้มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิทั้งหมดที่ออกโดยเอสพีวี ในการนี้ เอสพีวีได้เสนอขายหุ้นกู้มีการค้ำประกันให้แก่นักลงทุน ในขณะที่หุ้นกู้ด้อยสิทธินั้นถือโดย บตท. ซึ่งปัจจุบันมี ธอส. เป็นผู้ถือแทน บตท. อนึ่ง หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีสถานะในสิทธิเรียกร้องที่ด้อยกว่าหุ้นกู้มีประกันที่ไดัรับการจัดอันดับเครดิตและเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้มีประกัน
เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้นำไปใช้ซื้อสิทธิเรียกร้องค่างวดของกองสินทรัพย์ที่ บตท. ซื้อมาจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น ?ผู้ขาย? (Seller) โดยมูลค่าเงินต้นของกองสินทรัพย์ดังกล่าวอยู่ที่ 8.02 พันล้านบาท
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 มูลค่าคงเหลือของหุ้นกู้มีประกันอยู่ที่ 4.89 พันล้านบาทและมูลค่าของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงเหลืออยู่ที่ 294.29 ล้านบาทหรือคิดเป็น 5.68% ของมูลค่าหุ้นกู้รวมคงค้างทั้งหมด ซึ่งลดลงจาก 27% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดในช่วงเริ่มต้นโครงการ อย่างไรก็ตาม มูลค่าของหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะต้องคงไว้ไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่าที่ออกจนกระทั่งถึงวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน
เงินกู้ยืมจาก ธอส. ช่วยเสริมสภาพคล่อง
ธอส. ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนเรียกเก็บหนี้ (Servicer) และผู้จัดหาสภาพคล่อง (Liquidity Provider) ให้แก่โครงการนี้อีกด้วย ทั้งนี้ ภายใต้สัญญาที่ ธอส. ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เอสพีวีนั้น ธอส. ตกลงจะให้เงินกู้ยืมแก่เอสพีวีตลอดอายุของหุ้นกู้ในกรณีที่เอสพีวีมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะชำระหนี้ในแต่ละงวดได้
จะมีการนำเงินค่างวดจากลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับในแต่ละเดือนไปเข้าบัญชีของตัวแทนเรียกเก็บหนี้ก่อนแล้วหลังจากนั้นจะโอนเข้าบัญชีของเอสพีวีทุกเดือน ส่วนเงินค่าผ่อนชำระที่เป็นส่วนของเงินต้นนั้นจะนำไปใช้ชำระเงินต้นของหุ้นกู้มีการค้ำประกัน รวมทั้งใช้ชำระคืนเงินต้นของเงินที่กู้ยืมมาจากผู้จัดหาสภาพคล่องเพื่อใช้ชำระคืนหนี้เงินต้นของหุ้นกู้มีการค้ำประกัน (ถ้ามี) และนำไปจัดสรรเข้าบัญชีสำรองในสัดส่วน 10% ของเงินต้นสุทธิที่ได้รับหรือเงินที่เหลืออยู่ แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือจัดสรรเข้าบัญชีสำรองทั้งหมดในกรณีที่มีการชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ด้อยสิทธิในสัดส่วน 90% ของมูลค่ารวมของหุ้นกู้ด้อยสิทธิแล้ว ในส่วนของดอกเบี้ยงวดนั้นจะนำไปจ่ายชำระดอกเบี้ยรวมทั้งค่าบริการและค่าธรรมเนียมของหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดย ธอส. จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เอสพีวีในกรณีที่รายรับไม่เพียงพอสำหรับการจัดสรรเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้มีประกันดังกล่าว
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงเดือนกันยายน 2563 เอสพีวีได้รับเงินค่าผ่อนชำระรายเดือนจากลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.46 พันล้านบาทซึ่งประกอบไปด้วยเงินต้นที่ได้รับชำระคืนตามกำหนดเวลาจำนวน 1.42 พันล้านบาท ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยจำนวน 1.2 พันล้านบาท และเงินต้นที่ได้รับคืนก่อนกำหนดจำนวน 1.84 พันล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนเงินต้นที่ได้รับคืนก่อนกำหนดนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22.9% ของมูลค่าเงินต้นเริ่มแรกซึ่งอยู่ที่จำนวน 8.02 พันล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่มีการผิดนัดชำระสุทธิอยู่ที่ 382.1 ล้านบาทหรือ 4.76% ของมูลค่าเงินต้นเริ่มแรกของกองสินทรัพย์ โดยเงินค่าผ่อนชำระที่ได้รับจากผู้กู้นั้นมีเพียงพอที่จะรองรับเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน
เงื่อนไขการรับซื้อคืนกองสินทรัพย์ที่ยังคงเหลืออยู่จากเอสพีวีโดย ธอส. ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน
ภายใต้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องนั้น ธอส. มีหน้าที่ซื้อคืนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเอสพีวีในวันครบกำหนดไถ่ถอนโดยราคาซื้อคืนสิทธิเรียกร้องจะเป็นราคาที่เทียบเท่ากับ (1) มูลค่าทางบัญชีคงเหลือของสินทรัพย์รวมดอกเบี้ยค้างชำระ หรือ (2) มูลค่าเงินต้นคงเหลือบวกดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิซึ่งรวมภาระผูกพันต่าง ๆ ของเอสพีวีหลังจากหักด้วยเงินสดคงเหลือในบัญชีสำรองของเอสพีวีแล้ว ซึ่งแล้วแต่ว่าราคาใดจะต่ำกว่า โดยเอสพีวีจะนำเงินที่ได้จากการขายคืนสิทธิเรียกร้องให้แก่ ธอส. ไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งหากยังมีส่วนที่ขาดอยู่ ธอส. ก็จะรับชำระให้ตามสัญญาค้ำประกัน โดยวงเงินค้ำประกันจะอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 90% ของยอดคงค้างของหุ้นกู้มีประกันคงเหลือบวกกับดอกเบี้ย ณ วันสิ้นงวด ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการขายคืนกองสินทรัพย์ให้แก่ ธอส. ประกอบกับเงินค้ำประกันนั้นน่าจะเพียงพอที่จะใช้ชำระคืนผู้ถือหุ้นกู้มีประกันได้อย่างครบถ้วน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
หุ้นกู้มีประกันภายใต้โครงการนี้จะมีการทยอยชำระคืนเงินต้นตลอดอายุหุ้นกู้ประมาณ 25% ดังนั้น การที่เอสพีวีจะชำระคืนเงินต้นทั้งหมดในวันที่ครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ได้นั้นจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของ ธอส. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในการที่จะซื้อคืนสิทธิเรียกร้องคงเหลือทั้งหมดกลับไป นอกจากนี้ หากยังมีส่วนที่ขาดอยู่ ธอส. ก็จะรับชำระให้ตามสัญญาค้ำประกัน โดยวงเงินค้ำประกันทั้งสิ้นจะมีอัตราไม่เกิน 90% ของยอดคงค้างของหุ้นกู้มีประกันและดอกเบี้ย ณ วันสิ้นงวด ทั้งนี้ เนื่องจาก ธอส. มีบทบาทที่สำคัญหลายด้านในโครงการนี้ ดังนั้น อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีประกันนี้จึงขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ ธอส. เป็นหลัก กล่าวคือ อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีประกันจะเปลี่ยนแปลงไปตามอันดับเครดิตองค์กรของ ธอส. ที่เปลี่ยนไป
หมายเหตุ
ผู้ออกตราสารได้แจ้งให้ทริสเรทติ้งทราบว่าผู้ออกตราสารได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ให้สาธารณชนรับทราบแล้ว ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ประเภท Securitization, 31 พฤษภาคม 2553
บริษัท นิติบุคคลเฉพาะกิจ บตท. (9) จำกัด (SPV-SMC (9))
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MBSF21NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนชนิดทยอยชำระคืนเงินต้น 4,859.17 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AAA(sf)