ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?AAA? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะของธนาคารในการเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของ Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. (กลุ่ม MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนที่กลุ่ม MUFG มีให้แก่ธนาคารมาโดยตลอด รวมถึงความช่วยเหลือที่คาดว่าจะได้รับจากกลุ่มธนาคารแม่ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงินอีกด้วย ทั้งนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารย่อยของ MUFG Bank Ltd. (MUFG Bank) ซึ่ง MUFG Bank (ได้รับการจัดอันดับ ?A/Stable? จาก S&P Global Ratings) ถือหุ้นทั้งหมดโดยกลุ่ม MUFG และยังเป็นสมาชิกหลักของ กลุ่ม MUFG อีกด้วย
สถานะเครดิตเฉพาะของธนาคารกรุงศรีอยุธยาสะท้อนถึงสัดส่วนการผสมผสานทางธุรกิจที่มีความหลากหลายเป็นอย่างดีและความแข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและตลาดลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและสถานะเงินทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับปานกลางและการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ค่อนข้างสูงก็เป็นปัจจัยลดทอนอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม MUFG ในกรณีที่ธนาคารมีปัญหาทางการเงินและยังเชื่อว่าธนาคารจะยังได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและเงินทุนจากกลุ่มถึงแม้ว่าธนาคารจะสร้างสัดส่วนของรายได้และกำไรให้แก่กลุ่มเพียงเล็กน้อยก็ตาม
ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากลุ่ม MUFG นั้นมีพันธสัญญาที่เหนียวแน่นในระยะยาวที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจากผลของการมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ระดับ 76.88% ในธนาคาร นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่าชื่อเสียงของธนาคารและชื่อเสียงของกลุ่มนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารกับกลุ่ม MUFG ในการสนับสนุนลูกค้าของกลุ่มและของธนาคารอีกด้วย ทั้งนี้ ความร่วมมือที่สำคัญประกอบด้วย การสนับสนุนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ การอ้างอิงลูกค้า การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสายการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติ รวมถึงธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของกลุ่ม MUFG ในระดับของคณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคารอีกด้วยเช่นกัน
ธุรกิจที่แข็งแกร่งและกระจายตัว
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่แข็งแกร่งและกระจายตัวของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่ออันดับเครดิต ในการนี้ ความแข็งแกร่งในธุรกิจหลักทุกประเภทและแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายน่าจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางธุรกิจของธนาคารท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเกิดจากการแพร่ะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ได้ ทั้งนี้
ทริสเรทติ้ง คาดว่าแรงกดดันต่อการเติบโตทางธุรกิจจะยังคงมีอยู่มากท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วง 2 ปีข้างหน้า
ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงกว่าคู่แข่งของธนาคารได้ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อแบบปีต่อปีที่เข้มแข็งที่ระดับ 8.7% ในปี 2562 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อแบบปีต่อปีที่ระดับ 1.4% โดยมีการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักท่ามกลางการชะลอตัวอย่างชัดเจนของกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจของบริษัทภายในประเทศ
โครงสร้างรายได้ของธนาคารมีสัดส่วนที่มาจากการปล่อยสินเชื่อมากกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ อยู่บ้างเล็กน้อย โดยมีสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ระดับประมาณ 73% ของรายได้รวมในช่วงครี่งแรกของปี 2563 ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิมีสัดส่วน 15% ของรายได้รวมซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับระดับ 20% สัดส่วนกว่าสามในสี่ของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรวมของธนาคารมาจากธุรกิจลูกค้ารายย่อย อันประกอบด้วยค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิต การขายประกัน การโอนเงิน และการให้เงินกู้ ความร่วมมือที่มีกับกลุ่ม MUFG และกลยุทธ์ในการขยายกิจการในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องของธนาคารน่าจะช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลกำไรให้แก่ธนาคารมากยิ่งขึ้นในระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถให้แก่ธนาคารในการให้บริการทางการเงินระหว่างประเทศทั้งในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment Banking) การให้บริการดูแลเงินเข้าออกบัญชีธนาคาร (Transaction Banking) และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในห้าของธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญในเชิงระบบ (Domestic Systematically Important Banks -- D-SIB) ของประเทศไทยในปี 2560 โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อรวมที่ระดับ 14.2% ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้ง 10 แห่ง
มีการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี
ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ที่ดี อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยกู้หลังปรับค่าความเสี่ยง และระดับของสำรองหนี้สูญที่อยู่ในเกณฑ์ดีน่าจะช่วยให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสามารถผ่านพ้นสภาวะความเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากโรคโควิด 19 ไปได้ โดยอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ของธนาคารอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2563 โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ซึ่งต่ำกว่าอัตราส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง อันเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการตัดหนี้สูญของสินเชื่อที่เสื่อมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากการประมาณการของทริสเรทติ้ง ธนาคารมีการตัดหนี้สูญอยู่ที่ระดับ 1.4% ของสินเชื่อรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เทียบกับระดับ 1.1% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในทำนองเดียวกัน อัตราส่วนสินเชื่อชั้นที่ 2 ที่ระดับ 7.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 นั้นก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่มาตั้งแต่การเริ่มใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 และอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับเกินกว่า 9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อีกด้วย
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 153% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยตัวเลขดังกล่าวนั้นรวมถึงสำรองส่วนเกินซึ่งทางธนาคารมีแผนการจัดสรรเป็นสำรองส่วนเพิ่มจากการบริหารจัดการ (Management Overlay) ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
คงความสามารถในการทำกำไรภายใต้แรงกดดัน
ในการประเมินของทริสเรทติ้งนั้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีความสามารถในการทำกำไรเพียงพอต่อการดูดซับความสูญเสียทางเครดิตที่อาจจะเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่อ่อนแอโดยพิจารณาจากความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีที่มาจากแหล่งรายได้ที่มีความหลากหลายและปริมาณสำรองหนี้สูญที่มีอยู่อย่างเพียงพอ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะถูกกดดันจากอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิที่อยู่ในระดับต่ำและต้นทุนทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ข้างหน้าตามแนวโน้มของภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย โดยทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับ 1% ถึง 1.1% และอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.9% ถึง 2.1% ในช่วงปี 2563 จนถึงปี 2565
ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสามารถสร้างผลกำไรได้สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่รายอื่นจากการมีอัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตที่อยู่ในระดับค่อนข้างดีและประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ธนาคารมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยแบบปรับเป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ระดับ 1.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งนี้ ผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ที่อยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางเครดิตที่ค่อนข้างคงที่ช่วยทำให้อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตของธนาคารอยู่ที่ระดับ 2% ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมให้เหลือระดับ 41% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จากระดับ 46% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ได้อีกด้วย
มีเงินทุนเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET-1) ของธนาคารว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่มาก ในฐานะที่เป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงระบบ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำเป็นจะต้องดำรงอัตราส่วน CET-1 เพิ่มขึ้นอีก 1% จากเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8% โดยทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วน CET-1 ของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 13% ในช่วง 2 ปีข้างหน้าภายใต้สมมติฐานที่อัตราการขยายตัวของสินเชื่ออยู่ที่ระดับ 2% ถึง 6% ต่อปีและอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่คงอยู่ที่ระดับ 25% ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วน CET-1 อยู่ที่ระดับ 13.92% ณ เดือนกันยายน 2563 ซึ่งถือว่าค่อนข้างแข็งแกร่งสำหรับธนาคารพาณิชย์ไทย
มีสถานะเงินทุนอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีสถานะเงินทุนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและหลากหลาย ธนาคารมีการไหลเข้าของเงินฝากจากลูกค้ารายย่อยและไม่ใช่รายย่อยในช่วงที่ผ่านมาของปี 2563 อันเกิดจากความไม่แน่นอนของผลกระทบจากโรคโควิด 19 ได้ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อลดลงพร้อมกับปริมาณเงินฝากเพิ่มสูงขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเงินฝากของธนาคารขยายตัวสูงขึ้นถึง 10.4% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 12% ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทย อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมของธนาคารผ่อนคลายลงสู่ระดับ 107% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 จากระดับ 116% ณ สิ้นปี 2562
การพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยนั้นถือว่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสมสำหรับธนาคารเมื่อพิจารณาจากแหล่งเงินกู้ยืมจากธนาคารแม่ซึ่งเป็นรายการระหว่างธนาคารและสินทรัพย์ของธนาคารซึ่งมีสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ดอกเบี้ยคงที่อยู่ในสัดส่วนสูงถึง 23% ของสินเชื่อรวม ณ เดือนกันยายนปี 2563 ในขณะที่เงินฝากของธนาคารยังมีสัดส่วนอยู่ที่ 79% ของแหล่งเงินทุนรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ ในทำนองเดียวกัน บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account ? CASA) ของธนาคารซึ่งปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 48% ของเงินฝากรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 นั้นยังคงต่ำกว่าตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่รายอื่น ทั้งนี้ ต้นทุนทางการเงินที่คงอยู่ในระดับสูงของธนาคารมาจากการพึ่งพาเงินฝากประจำและแหล่งเงินทุนจากธนาคารแม่ที่มีต้นทุนสูงในสัดส่วนที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่รายอื่น ๆ โดยธนาคารมีต้นทุนทางการเงินแบบปรับเป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ที่ระดับ 1.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งมองว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยามีสภาพคล่องเฉพาะในส่วนของธนาคารเองอยู่ในระดับที่เพียงพอและใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางรายอื่น ๆ โดยสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นั้นมีความแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 138% แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 183% ในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ สัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำซึ่งอยู่ที่ระดับ 100% ค่อนข้างมาก ในขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ระดับ 34% ซึ่งถือว่าน่าพอใจ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าแหล่งเงินกู้และความช่วยเหลือที่ธนาคารได้รับจากกลุ่ม MUFG ถือเป็นปัจจัยเสริมด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน (2563-2565)
? อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2%-6%
? ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7%-2%
? อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) จะอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3%-2.4%
? อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของจะอยู่ที่ระดับ 12%-13%
? อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังจากหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.9%-2.1%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงสถานภาพในการเป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระดับสูงของกลุ่ม MUFG และจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคารแม่ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอาจเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่สถานะเครดิตของกลุ่ม MUFG มีการเปลี่ยนแปลง หรือในกรณีที่ทริสเรทติ้งพิจารณาเห็นว่าระดับความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของธนาคารที่มีต่อกลุ่มเปลี่ยนไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)
อันดับเครดิตองค์กร: AAA
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 3 ปี AAA
-BAY223A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AAA
-BAY233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AAA
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable