ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) ที่ระดับ ?AA+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของ บสส. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความสำคัญ (Importance) กับภาครัฐในระดับ ?สำคัญมาก? (?Very important?) และมีความสัมพันธ์ (Linkage) กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ในระดับ ?สูงสุด? (?Integral?) โดยกองทุนฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความสัมพันธ์และบทบาทที่แข็งแกร่งมีนัยที่บ่งบอกถึงแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้สูงที่ บสส. น่าจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ และ ธปท. ในยามจำเป็น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กองทุนฯ ถือหุ้นทั้งหมดและมีบทบาทในการควบคุม
ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บสส. จะดำรงความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับกองทุนฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลภายใต้ ธปท. อย่างต่อเนื่อง โดย
ทริสเรทติ้งประเมินความสัมพันธ์ดังกล่าวว่าอยู่ในระดับ?สูงสุด? (?Integral?) จากการที่กองทุนฯ ถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของ บสส. รวมไปถึงการที่ บสส. มีบทบาทในการดำเนินตามนโยบายของกองทุนฯ และ ธปท. อีกด้วย
กองทุนฯ ถือหุ้น 100% ใน บสส. และคอยกำกับดูแลการดำเนินงานและแหล่งเงินทุนของ บสส. อย่างใกล้ชิด โดยคณะกรรมการของ บสส. นั้นประกอบไปด้วยตัวแทนจาก ธปท. กองทุนฯ และหน่วยอื่น ๆ ของภาครัฐ ทั้งนี้ กองทุนฯ มีหน้าที่ควบคุมและให้คำปรึกษาแก่ บสส. ในด้านการดำเนินงาน โดยผ่านการอนุมัตินโยบายการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้วัดผลการดำเนินงานที่กำหนดโดยกองทุนฯ นั้นไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลกำไร หากแต่เน้นที่ระดับภาระหนี้ของ บสส.
ในส่วนของการชำระคืนหนี้ให้แก่กองทุนฯ (ในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย) กองทุนฯ ได้กำหนดตารางการชำระคืนหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะสภาพคล่องของ บสส. และผ่อนผันให้ บสส. สามารถจัดสรรผลกำไรบางส่วนไว้ใช้ในการขยายธุรกิจ โดยนโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยส่งเสริม บสส. ในการทำหน้าที่เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ
บทบาทเชิงนโยบายที่สำคัญในการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ
บสส. มีบทบาทเป็นตัวแทนของ ธปท. ที่ช่วยตอบสนองนโยบายของ ธปท. บางส่วน โดยหลัก บสส. ทำหน้าที่สำคัญในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐเพียงแห่งเดียวซึ่งมีหน้าที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินโดยการเข้าซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งนี้ บทบาทของ บสส. จะเห็นเด่นชัดในช่วงที่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นหากการดำเนินงานของ บสส. มีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินได้
ทริสเรทติ้งยังเชื่อด้วยว่าบทบาทของ บสส. นั้นไม่อาจแทนที่ได้ด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์รายอื่น ๆ ในระยะสั้นถึงปานกลางเมื่อพิจารณาจากขนาดของธุรกิจและความชำนาญของ บสส. รวมถึงการสนับสนุนทางด้านแหล่งเงินทุนจากกองทุนฯ ทั้งนี้ บสส. เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองด้วยขนาดสินทรัพย์รวม 4.5 หมื่นล้านบาท รองจาก บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บสก. ได้รับอันดับเครดิต ?A-/Stable? จากทริสเรทติ้ง) โดยสินทรัพย์รวมของทั้ง บสก. และ บสส. คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของสินทรัพย์รวมของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพแล้ว บสส. ยังมีบทบาทที่เด่นชัดอีกบทบาทหนึ่ง คือการเป็นตัวกลางในการดำเนิน
?โครงการคลินิกแก้หนี้? ซึ่งริเริ่มโดย ธปท. เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้โดยสมัครใจสำหรับลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาในการชำระคืนหนี้ (เป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563) และเพื่อให้สถาบันการเงินได้รับการชำระหนี้คืนมากขึ้น
แนวโน้มการได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บสส. มีแนวโน้มที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากกองทุนฯ ในยามวิกฤติ แม้ว่าบริษัทจะไม่มีประวัติการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเป็นพิเศษจากกองทุนฯ หรือ ธปท. นอกเหนือไปจากเงินกู้ยืมผ่านตราสารที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย จากกองทุนฯ ตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้ง บสส. แต่ก็ไม่มีข้อจำกัดในเชิงกฎระเบียบหรือนโยบายใด ๆ ที่จะห้ามมิให้กองทุนฯ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ บสส. ในกรณีจำเป็น ยกตัวอย่างจากพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 มาตรา 42 และ 43 ที่ระบุว่า โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กองทุนฯ มีอำนาจในการกระทำกิจการต่าง ๆ เช่น ให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินในสถาณการณ์ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงิน
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ บสส. อาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของ ธปท. ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนฯ มีอำนาจเต็มในการเป็นเจ้าของและเป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานของ บสส.
เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสอง
ณ เดือนธันวาคม 2562 บสส. ถือว่าเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในแง่ของขนาดของสินทรัพย์รวมเมื่อเทียบกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งสิ้น 61 แห่งในอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของไทย โดยบริษัทมีหนี้ด้อยคุณภาพสุทธิรวมอยู่ที่ 2.54 หมื่นล้านบาทที่อยู่ภายใต้การบริหารและมีภาระหนี้ตามบัญชีรวมอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563
สินเชื่อด้อยคุณภาพของ บสส. ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด (บสพ.) ในอดีต อย่างไรก็ตาม บสส. ได้ทำการซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของกองทุนฯ ที่จะให้ บสส. รักษาขนาดของสินเชื่อด้อยคุณภาพเอาไว้
ในปี 2562 บสส. ได้ซื้อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ราคาทุนจำนวน 8 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ซื้อเข้ามาบริหารในปี 2561 ที่มีราคาทุนจำนวน 4 พันล้านบาท ทั้งนี้ บสส. มีนโยบายที่จะซื้อเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักประกันเข้ามาบริหาร โดยมุ่งเน้นที่สินเชื่อในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหลัก ในการนี้ บสส. มีจำนวนทรัพย์สินรอการขายทรงตัวอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563
แหล่งเงินทุนประกอบด้วยเงินสดรับชำระหนี้และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
บสส. มีเงินสดรับชำระหนี้จากลูกหนี้สินเชื่อและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เป็นแหล่งเงินทุนหลักสำหรับการขยายธุรกิจ โดย บสส. มีเงินสดรับชำระหนี้จากทั้งพอร์ตสินเชื่อด้อยคุณภาพและพอร์ตทรัพย์สินรอการขายอยู่ที่จำนวน พอร์ตละ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บสส. มีเงินสดรับชำระหนี้รวมอยู่ที่ 3 พันล้านบาท โดย 78% ของจำนวนดังกล่าวมาจากสินเชื่อด้อยคุณภาพและ 22% มาจากทรัพย์สินรอการขาย นอกจากนี้ บสส. ยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกจำนวนทั้งสิ้น 3.3 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563
ส่วนของผู้ถือหุ้นปรับเป็นบวก
ส่วนของผู้ถือหุ้นของ บสส. ปรับมาเป็นบวกที่ 9.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากที่ติดลบ 1.9 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 หลังจากที่ บสส. ได้เปลี่ยนมาใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) ทั้งนี้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินดังกล่าวส่งผลให้ บสส. สามารถรับรู้กำไรจากส่วนปรับมูลค่าตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยที่ออกให้กับกองทุนฯ ผ่านกำไรสะสม ซึ่ง บสส. เป็นผู้ได้รับประโยชน์ตลอดอายุของตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่า บสส. จะยังคงสถานะในการเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐและจะรักษาความสัมพันธ์ระดับ ?สูงสุด? และบทบาทในระดับ ?สำคัญมาก? ต่อทั้งกองทุนฯ และ ธปท. เอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ บสส. อาจมีการเปลี่ยนแปลงหากมุมมองของทริสเรทติ้งทั้งในด้านของระดับความสัมพันธ์ และความสำคัญของ บสส. ที่มีต่อกองทุนฯ และ ธปท. นั้นเปลี่ยนแปลงไป
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ, 30 กรกฎาคม 2563
บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM)
อันดับเครดิตองค์กร: AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable