ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนของบริษัทที่ระดับ ?A-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?BBB+? ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ยืม และ/หรือใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ และ/หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำในธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมแบบครบวงจรในประเทศไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งทางการตลาดของธุรกิจการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบริษัท และผลประกอบที่ปรับดีขึ้นของบริษัทด้วย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีปัจจัยลดทอนจากภาระหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจหลัก ขณะเดียวกัน การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงเงินลงทุนที่บริษัทต้องใช้ในการขยายโครงข่ายการให้บริการสื่อสารและใช้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ด้วย
ผลการดำเนินงานของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 1.04 แสนล้านบาท โดยส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจำนวน 7.97 หมื่นล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 1.4% อันเป็นผลมาจากผลประกอบการที่ดีของธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสำคัญ
ธุรกิจให้บริการสื่อสารแบบไร้สายซึ่งดำเนินงานภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอช มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 30.1 ล้านราย ณ เดือนกันยายน 2563 และสร้างรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ที่ระดับ 6.02 หมื่นล้านบาท รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอันเป็นผลจากการจำกัดการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นอกจากนี้ การขยายฐานลูกค้าต้องเผชิญอุปสรรคจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอลงและการแข่งขันที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่มีรายได้หดตัว 2.3% โดยการเติบโตของรายได้มีปัจจัยหลักจากการใช้บริการข้อมูลที่เพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย (Average Revenue Per User ? ARPU) ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 217 บาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จาก 210 บาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ทรูมูฟ เอช ยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อสารแบบไร้สายขนาดใหญ่อันดับที่สองของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31%
นอกจากนี้ บริษัทยังคงสถานะผู้นำในธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีส่วนแบ่งตลาด 37.6% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมดในประเทศไทย รายได้จากธุรกิจดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นและจากความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ในขณะที่รายได้จากธุรกิจให้บริการโทรทัศน์แบบตอบรับสมาชิกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12% เป็นผลมาจากการลดลงของกิจกรรมบันเทิงและการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาในช่วงที่มีการปิดประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้จากการตอบรับสมาชิกบริการโทรทัศน์ โดยรายได้ตอบรับสมาชิกบริการโทรทัศน์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับรายได้ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างมาก
บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 3 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยหนุนจากรายได้การให้บริการที่เติบโตขึ้นและความพยายามในการลดต้นทุนของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ 2.97 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาระหนี้สินทางการเงินจำนวนมากของบริษัทลงได้บ้าง
อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดจากการมีความเสี่ยงทางการเงินจากการลงทุนในระดับสูง กล่าวคือ ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับประมาณ 2.22 แสนล้านบาท และมีหนี้สินปรับปรุงสุทธิอยู่ที่ 3.76 แสนล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อโครงสร้างเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 81% ณ เดือนกันยายน 2563 ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 7.2 เท่าและมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับประมาณ 10%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสถานะทางการตลาดและจะมีผลการดำเนินงานที่ดีในกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งได้แก่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์และ China Mobile อย่างต่อเนื่องต่อไปซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนคุณภาพเครดิตของบริษัท
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจนส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง นอกจากนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากความคืบหน้าของข้อพิพาททางกฎหมายมีพัฒนาการเพิ่มเติมและส่งผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ในขณะที่ โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าเมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันซึ่งมีภาระหนี้สูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับลดภาระหนี้สินทางการเงินลงได้ในขณะเดียวกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TRUE211A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,640 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,337.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,224.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE215B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,625 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE217B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 9,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,360 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TRUE221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 12,246 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE221B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,922 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 945 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,799.10 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE228B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 830 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TRUE232A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TRUE237A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,394.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TRUE239A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TRUE248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 11,841.60 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TRUE24OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,325 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TRUE251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,994.20 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
TRUE258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
TRUE261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 7,130.30 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BBB+
TRUE22NA: หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วน 8,330 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 7 ปี BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable