ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลงานที่ได้รับการยอมรับของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนปัจจัยความเสี่ยงด้านอุตสาหกรรมอีกหลายประการ เช่น วงจรของสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด และการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายต่าง ๆ ตลอดจนกลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มซึ่งจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเองก็ช่วยลดความกังวลดังกล่าวลงไปได้บางส่วน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงยืดเยื้ออันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง
บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร (African Swine Fever -- ASF) ที่ยืดเยื้อยาวนานในหลายประเทศทำให้ปริมาณสุกรขาดแคลนและส่งผลให้ราคาสุกรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ไก่จากประเทศจีนและต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงก็เป็นปัจจัยสนับสนุนผลการดำเนินงานของของบริษัทด้วยเช่นกัน ส่งผลทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.5 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยเพิ่มขึ้น 60.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.4% จากระดับ 5.9% ในปี 2562
ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงดีอยู่อย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ตลอดไปจนถึงปี 2564 แม้ว่าราคาสุกรจะลดลงจากระดับที่สูงมากเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมา แต่ทริสเรทติ้งก็คาดว่าราคาสุกรจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกเนื่องจากอุปทานที่ขาดแคลนซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกรนั้นน่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทอยู่ในสถานะที่ดีที่จะได้รับอานิสงส์จากราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ราคาต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่อุปสงค์ไก่จากประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นก็ยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้แก่รายได้ของบริษัทอีกทางหนึ่งด้วย
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 7.8-8.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 6%-9% ในช่วงปี 2563-2565 โดยที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 5 พันล้านบาทถึง 6.9 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาระหนี้และกระแสเงินสดปรับตัวดีขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมากจากการมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลงในปีนี้ ทั้งนี้ ระดับหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 จาก 2.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562
กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นจากภาระหนี้ที่ลดลงในช่วงวงจรขาขึ้นของอุตสาหกรรมสัตว์บก โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จากระดับ 6 เท่าในปี 2562 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.8 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จากระดับ 6.3 เท่าในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์การเติบโต บริษัทจึงมีการวางแผนงบประมาณสำหรับการลงทุนไว้ที่จำนวน 3.2-3.5 พันล้านบาทต่อปี อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 60%-62% ในช่วงปี 2563-2565 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 3.6-5.4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับ 6-10 เท่า
เป็นผู้นำในภาคเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทย
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในภาคเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทยมานานกว่า 50 ปี โดยบริษัทเป็นผู้แปรรูปไก่รายใหญ่ลำดับที่ 3 ในตลาดภายในประเทศในปี 2562 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 11% (อันดับที่ 1 คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (21%) และอันดับที่ 2 คือ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด (12%)) ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดไก่ส่งออกของบริษัทอยู่ที่ 8% ในระหว่างปี 2562 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563
บริษัทยังเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกรคุณภาพสูงระดับแนวหน้าในประเทศไทยอีกด้วย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 9% ของการผลิตเนื้อสุกรในประเทศ ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่มีกับ Sumitomo Corporation จากประเทศญี่ปุ่นช่วยให้บริษัทนำเทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรแบบ SPF (Specific Pathogen Free) ซึ่งเป็นการเลี้ยงสุกรให้ปลอดจากโรคและสารตกค้างมาใช้ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งทำให้บริษัทสามารถส่งออกเนื้อสุกรผ่านทางบริษัทคู่ค้าหลักในราคาที่สูงขึ้นได้
ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบ
บริษัทดำเนินธุรกิจไก่และสุกรแบบครบวงจรอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ไปจนถึงการขยายพันธุ์ การเลี้ยง และการแปรรูป ในการนี้ บริษัทดำเนินการทั้งเลี้ยงสัตว์บกในฟาร์มของบริษัทเองและทั้งผ่านวิธีการเกษตรแบบพันธะสัญญา การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพและต้นทุนในการผลิต อีกทั้งยังช่วยทำให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งทำให้สินค้าของบริษัทสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ๆ ได้อีกด้วย
บริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมทั้งอาหารสัตว์ ไก่ สุกร และผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งความหลากหลายดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานของบริษัทลงได้บางส่วน ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์และฟาร์ม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารคิดเป็นสัดส่วน 24% 60% และ 13% ของยอดขายรวมตามลำดับ
มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและสร้างตราสินค้าของตนเอง
กลยุทธ์สำคัญของบริษัทคือการมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและการสร้างตราสินค้าของตนเองเพื่อจะช่วยเพิ่มผลกำไรและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากฟาร์มซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์
บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นเพียงสินค้าจากปศุสัตว์สู่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารขึ้นเพื่อดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมียอดขายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 13% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ บริษัทมีแผนในการออกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ ให้มากขึ้นในอนาคต
ความพยายามในการส่งเสริมการขายเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการสร้างตราสินค้าของบริษัท ความตระหนักในตราสินค้าสร้างความได้เปรียบให้แก่บริษัทเนื่องจากลูกค้ามักจะเลือกตราสินค้าที่ไว้วางใจได้มากกว่า สำหรับตลาดภายในประเทศนั้นบริษัทมีตราสินค้า 2 ตราคือ ?เอสเพียว? (S-Pure) และ ?เบทาโกร? (Betagro) โดยเอสเพียวเป็นตราสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ในขณะที่เบทาโกรเป็นตราสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์มาตรฐาน
มีสภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทจะต้องใช้เงินทุนสำหรับชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดจำนวน 3 พันล้านบาทและงบเพื่อการลงทุนอีกจำนวน 3.3 พันล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทุนในเบื้องต้นนั้นคาดว่าจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 4.5 พันล้านบาทต่อปี ในขณะที่สภาพคล่องนั้นมาจากเงินสดสำรองจำนวน 0.4 พันล้านบาทที่มี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 รวมทั้งวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินหลายแห่งอีกประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 4%-6% ในปี 2563-2565
? อัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในช่วงระหว่าง 14%-17% ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 6%-9%
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านบาทในปี 2563 และ 3.2-3.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในภาคเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของไทยเอาไว้ได้ต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันตลอดจนสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้ในอนาคตอันใกล้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถปรับปรุงผลการดำเนินงาน ตลอดจนกระแสเงินสด และความสามารถในการชำระหนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากจนอาจทำให้สถานะทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (BTG)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BTG215A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A-
BTG227A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A-
BTG233A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BTG238A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A-
BTG247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BTG248A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A-
BTG258A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable