ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป” ที่ “BBB-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 30, 2020 18:19 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (เดิมชื่อ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน)) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจสิ่งพิมพ์และกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่หดตัวลงและความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความท้าทายในการบริหารจัดการสภาพคล่องในช่วงการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์

บริษัทมีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยพิจารณาจากฐานรายได้และสินค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทประกอบไปด้วยตำราเรียน คู่มือ ปฏิทิน ไดอารี่ นิตยสาร สื่อโฆษณา ตลอดจนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและต่างประเทศ ท่ามกลางตลาดที่กระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่กลุ่มเล็ก ๆ จำนวนไม่กี่ราย

บริษัทมีผลงานที่ยาวนานและสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกลุ่มลูกค้าเอาไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจการพิมพ์และสิ่งพิมพ์จะซบเซาอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทก็ยังคงสามารถสร้างกำไรได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจสิ่งพิมพ์จะอยู่ที่ประมาณ 20%

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังคงมีแนวโน้มตกต่ำลง

ธุรกิจสิ่งพิมพ์เคยเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้แก่บริษัทในอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อดิจิทัล เป็นผลทำให้อุปสงค์ด้านสิ่งพิมพ์ลดลง ทั้งนี้ มูลค่าโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงรายได้ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทที่ลดลง ในความเห็นของทริสเรทติ้งมองว่าอนาคตของธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูง โดยปริมาณงานพิมพ์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงเปราะบาง

บรรจุภัณฑ์กระดาษจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต

บริษัทมองว่าสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญสำหรับธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคที่ธุรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิร์ซเติบโตและอุปสงค์ด้านบริการส่งอาหารที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) บริษัทได้ลงทุนติดตั้งเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทเพิ่งเริ่มการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ซึ่งช้ากว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก แม้จะมีศักยภาพในการเติบโต แต่บริษัทก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างฐานลูกค้าในตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมากในขณะที่มีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษรายใหญ่ไม่กี่รายครอบครองตลาดอยู่

รายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์น้อยกว่าที่คาด

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รายได้ของบริษัทในธุรกิจสิ่งพิมพ์ซึ่งรวมถึงบรรจุภัณฑ์กระดาษอยู่ในระดับต่ำกว่าที่

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมาก โดยบริษัทมีรายได้จากการพิมพ์ทั้งหมดอยู่ที่ 349 ล้านบาทเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งปีที่ประมาณ 800 ล้านบาทจากการประมาณการของทริสเรทติ้งก่อนหน้านี้ รายได้จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และแคตตาล็อกลดลงเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากผลของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในขณะเดียวกัน การผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กระดาษก็ล่าช้าไปจากที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้น เป็น 16% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จาก 13% ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นยังคงต่ำกว่าระดับ 23%-25% ที่บริษัทเคยทำได้ในปี 2559-2561 ทั้งนี้ ภายใต้ประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทจะสร้างรายได้รวม 670-760 ล้านบาทในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งรวมรายได้จากผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กระดาษที่จำนวน 260-330 ล้านบาท โดยอัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 18%

รายได้หลักมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า โดยบริษัทได้เริ่มลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2555 ผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท อีเทอร์นิตี้ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ?BBB-/Stable?) ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 75% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนประมาณ 59% ของรายได้ทั้งหมด ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะลดลงชั่วคราวเหลือ 26% ซึ่งเป็นผลมาจากการจำหน่ายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าหลายแห่งของบริษัทออกไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก่อนที่จะกลับมาเป็น 62% เมื่อโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่กำลังพัฒนาในประเทศเวียดนามเปิดดำเนินการทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของเงินลงทุนในโรงไฟฟ้า

จากการที่โอกาสการลงทุนภายในประเทศมีจำกัดและผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง บริษัทจึงได้ทำการปรับสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์การเติบโตและเพื่อทำให้บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแรงขึ้น ดังนั้น ในปี 2562-2563 บริษัทจึงได้จำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินงานแล้วทั้งหมดออกไปซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นจำนวน 127 เมกะวัตต์ โดยบริษัทรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 2 พันล้านบาท และบริษัทได้นำเงินสดที่ได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบกจำนวน 4 โครงการในประเทศเวียดนาม ซึ่งโรงไฟฟ้าใหม่เหล่านี้จะเพิ่มกำลังการผลิตอีกจำนวน 155

เมกะวัตต์ให้แก่สินทรัพย์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัท ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง เมื่อโครงการดังกล่าวเปิดดำเนินงานเต็มที่แล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่าสัดส่วนองค์ประกอบโรงไฟฟ้าใหม่จะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญและช่วยให้บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่ดีขึ้น

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดการณ์ได้

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า สัดส่วนองค์ประกอบโรงไฟฟ้าของบริษัทหลังจากปรับเปลี่ยนแล้วมีกำลังการผลิตรวม 325 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังงานลม 4 แห่งในประเทศเวียดนาม (155 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น (4 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาขนาดเล็ก (8 เมกะวัตต์) และเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2 โครงการ (159 เมกะวัตต์) ทั้งนี้ เฉพาะโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินงานแล้วมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 168 เมกะวัตต์

โครงการแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในประเทศไทยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และผู้ซื้อไฟฟ้าภาคเอกชนหลายราย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนั้นบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 20 ปีกับ Vietnam Electricity (EVN) ซึ่งเป็นหน่วยงานการไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม โดยบริษัทได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ภายใต้สัญญากับทั้ง กฟน. และ EVN ในลักษณะสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-firm (สัญญาที่ผู้ผลิตไม่มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับการสั่งเดินเครื่อง และจะได้รับเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า)

ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวนรวม 270 เมกะวัตต์อีกด้วย เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ทริสเรทติ้งเห็นว่าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับพอใช้เนื่องจากหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ 2 โรงนั้นได้ผ่านมีการหยุดเดินเครื่องเพื่อทำการซ่อมบำรุงนอกแผน

ความเสี่ยงในการก่อสร้างและการดำเนินงาน

จากองค์ประกอบของสัดส่วนโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 48% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยทั่วไปแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนั้นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงกว่าและต้องการประสบการณ์ที่มากกว่าในการจัดการโครงการ ในการนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทมีความเสี่ยงในการก่อสร้างที่สูงกว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากต้องใช้เวลาในการก่อสร้างที่ยาวนานกว่าในการออกแบบโครงการและการก่อสร้าง ซึ่งความล่าช้าในการก่อสร้างและต้นทุนของโครงการที่สูงขึ้นอาจก่อให้เกิดภาระด้านการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานลมยังมีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายในส่วนของเครื่องจักรกลและระบบไฟฟ้า อีกทั้งโครงการยังต้องอาศัยความเพียงพอและความเร็วของกระแสลมเป็นหลักอีกด้วย ซึ่งหากค่าเฉลี่ยความเร็วลมเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ผลผลิตไฟฟ้าที่ได้ต่างออกไปเป็นจำนวนมากได้

ความเสี่ยงจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลง

รัฐบาลเวียดนามกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่เป็นระยะเวลา 20 ปีไว้ที่ 8.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมงสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบกที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งโครงการที่ไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ตามกำหนดมีความเสี่ยงที่จะถูกลดอัตราค่าไฟฟ้าลง จากการมีระยะเวลาในการก่อสร้างที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้บริษัทยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการก่อสร้างที่ล่าช้า แม้ว่าบริษัทจะมีสัญญาว่าจ้างก่อสร้างที่มีเงื่อนไขบางประการที่ช่วยบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าวลงบางส่วนแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีประวัติความสำเร็จในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขระยะเวลาที่จำกัดมาแล้ว

ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจในประเทศเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น

กลยุทธ์การเติบโตจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในประเทศเวียดนามที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามมีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมและแนวชายฝั่งที่ทอดยาวเลียบมหาสมุทรเป็นปัจจัยสนับสนุนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพลังงานลมอีกทั้งความต้องการพลังงานขยายตัวขึ้นในอัตราเกือบ 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศเวียดนามยังมีความเสี่ยงหลายประการซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ การดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา และความเสี่ยงจากการไม่ซื้อไฟฟ้าเต็มตามจำนวนที่ผลิตได้ (Curtailment Risks) นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมีความเห็นว่าสถานะเครดิตของ EVN ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลเวียดนามนั้นยังไม่แข็งแกร่งเท่ากับผู้ซื้อไฟฟ้าภาครัฐของไทยอีกด้วย

กระแสเงินสดเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหนี้

เนื่องจากบริษัทได้จำหน่ายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าออกไปเกือบทั้งหมด ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงอย่างมากในปี 2564 ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2565 ทั้งนี้ หากกระแสเงินสดจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ทริสเรทติ้งก็คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานและโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งประมาณการว่าโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมดของบริษัทจะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนตุลาคม 2564 และจะได้รับอัตราค่าไฟฟ้าคงที่ที่ 8.5 เซ็นต์สหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 900 ล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านบาทในปี 2565 ในขณะเดียวกัน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะลดต่ำลงเหลือเพียง 200 ล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทในปี 2565

ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 600 ล้านบาทต่อปีและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ในระดับเกินกว่า 10% ทั้งนี้ จากสัดส่วนองค์ประกอบของโรงไฟฟ้าก่อนหน้านี้ ทริสเรทติ้งได้ประมาณการไว้ว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 7% ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนสัดส่วนองค์ประกอบของโรงไฟฟ้าในครั้งนี้จะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหนี้

โครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้น

การจำหน่ายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าออกไปทำให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัท ณ สิ้นสุดเดือนกันยายน 2563 ลดลงอย่างมาก โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านบาทจาก 6.4 พันล้านบาทในปี 2562 นอกจากนี้ กำไรจำนวนมากจากการจำหน่ายเงินลงทุนในโรงไฟฟ้ายังทำให้บริษัทมีส่วนทุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงลดลงเหลือ 22.3% จาก 62.3% ในช่วงเดียวกัน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าระดับการก่อหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2564

ภายใต้ประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนั้น ผู้รับเหมาโครงการจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้างส่วนใหญ่ให้บริษัทก่อน โดยหลังจากที่โครงการเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ไปแล้ว 1 ปี บริษัทจึงจะชำระคืนเงินค่าก่อสร้างด้วยเงินกู้โครงการจากสถาบันการเงิน ดังนั้น เงื่อนไขการชำระเงินค่าก่อสร้างดังกล่าวจึงช่วยลดภาระหนี้สินของบริษัทลงได้ในช่วงที่โครงการกำลังก่อสร้าง

ดังนั้น หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจึงคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.8-1.9 พันล้านบาทในระหว่างปี 2563-2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.4 พันล้านบาทในปี 2565 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนนั้นคาดว่าจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 52% ในปี 2565 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งในประมาณการของทริสเรทติ้งก่อนหน้านี้ที่บริษัทยังไม่มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนองค์ประกอบของโรงไฟฟ้านั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 65%

สภาพคล่องตึงตัว

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่ตึงตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งมองเห็นความเสี่ยงที่สำคัญในการหาแหล่งเงินทดแทนเพื่อการชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังจะต้องบริหารจัดการการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายรวมถึงเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงอย่างมากในปี 2564 อันเป็นผลมาจากการจำหน่ายสินทรัพย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ออกไปอีกด้วย

ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีเงินสดอยู่ในมือประมาณ 1.9 พันล้านบาทและจะมีเงินสดที่ได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนอีก 0.3 พันล้านบาท เงินสดที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 2.2 พันล้านบาทนี้สามารถใช้รองรับการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้เนื่องจากบริษัทจำเป็นต้องใช้เงินประมาณ 2.1 พันล้านบาทสำหรับการซื้อหุ้นและเพิ่มทุนให้แก่บริษัทผู้ดำเนินโครงการ ส่วนงบในการพัฒนาโครงการที่เหลือนั้นบริษัทจะได้รับการสนับสนุนจากผู้รับเหมาก่อสร้าง นอกจากนี้ ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าบริษัทยังมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 1.7 พันล้านบาทซึ่งบริษัทจำเป็นจะต้องหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนภาระหนี้ดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าความเสี่ยงในการหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อทดแทนภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดดังกล่าวจะลดลงตามความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? รายได้จากธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 670-760 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 และจะมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 18%

? โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาจะใช้ประมาณการ P50 (สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในระดับความน่าจะเป็นที่ 50%) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะใช้ประมาณการ P90

? รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 240 ล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มเป็น 1.2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566

? รายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดจะอยู่ที่ 900 ล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มเป็น 2 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566

? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะลดลงเหลือ 22% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 55% ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

? ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยรวมจะอยู่ที่จำนวน 6.8 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2566

? บริษัทจะได้รับเครดิตระยะยาวจากผู้รับเหมาก่อสร้างในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม

? เงินปันผลจ่ายจะอยู่ที่ราว ๆ 100 ล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่ของบริษัทจะมีความคืบหน้าตามแผนและจะมีผลการดำเนินงานตามที่คาดไว้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าสายการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษจะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและจะช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างระมัดระวังในช่วงการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งใหม่อีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมล่าช้าเป็นอย่างมากและ/หรือมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นซึ่งกระทบต่อผลตอบแทนของโครงการอย่างมีนัยสำคัญ หรือผลการดำเนินงานของโครงการต่ำกว่าคาดอย่างมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติมจนเป็นผลทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องหรือความเสี่ยงด้านการเงินที่มากขึ้น

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ