ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.
บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 90 เมกะวัตต์กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปีภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ซึ่งเงื่อนไขมาตรฐานในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบุว่า กฟผ. ตกลงจะรับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำจำนวน 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ โดยสัญญามีลักษณะแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-pay Basis) จึงทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดรับที่มั่นคง นอกจากนี้ สูตรคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุในสัญญายังมีกลไกลดความเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอีกด้วย
นอกจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับ กฟผ. แล้ว บริษัทยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง อีกด้วย โดยเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าขนาด 17 เมกะวัตต์และสัญญาซื้อขายไอน้ำจำนวน 14 ตันต่อชั่วโมงซึ่งมีเงื่อนไขระบุปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าและ/หรือไอน้ำขั้นต่ำที่ลูกค้าแต่ละรายมีข้อผูกมัดอยู่ ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 16 เมกะวัตต์เป็นระยะเวลา 15 ปีกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่ 1 รายซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยคาดจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคม 2564
อัตราค่าไฟฟ้าที่บริษัทเรียกเก็บจากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้นอ้างอิงจากอัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำหน่ายให้กับลูกค้าประเภทกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงผ่านค่าปรับปรุงเชื้อเพลิงหรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) อย่างไรก็ตาม การปรับค่า Ft นั้นจะมีช่วงเวลาล่าช้า อีกทั้งจำนวนที่ปรับและระยะเวลาก็ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกด้วย
เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วช่วยลดความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจาก Siemens ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าชั้นนำของโลก ทั้งนี้ กังหันก๊าซ Siemens SGT 800 มีผลงานที่ได้รับการยอมรับด้วยยอดจำหน่ายมากกว่า 100 ชุดมาตั้งแต่ปี 2540 โรงไฟฟ้าของบริษัทประกอบด้วยหน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซพร้อมทางปล่อยระบาย (Bypass Stack) จำนวน 2 ชุด ชุดกำเนิดไอน้ำ (Heat Recovery Steam Generator -- HRSG) จำนวน 2 ชุด และหน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำจำนวน 1 ชุด ซึ่งทั้งกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำดังกล่าวผลิตโดย Siemens การใช้กังหันก๊าซซึ่งมีทางปล่อยระบายช่วยให้โรงไฟฟ้าของบริษัทมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถเดินเครื่องกังหันก๊าซได้อย่างอิสระแม้จะอยู่ในช่วงของการซ่อมบำรุงกังหันไอน้ำหรือช่วงบริหารจัดการโรงไฟฟ้า
ในปี 2563 บริษัทได้ต่อสัญญาซ่อมบำรุงกังหันก๊าซระยะยาวกับ Siemens ออกไปอีก 16 ปีจนถึงปี 2578 โดยเป็นการต่อสัญญาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Siemens และ BGRIM ทั้งนี้ สัญญาที่ต่อออกไปจะครอบคลุมถึงการซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงไฟฟ้าอีก 2 รอบและจะช่วยให้โรงไฟฟ้ามีดัชนีความพร้อมสูงขึ้นและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
ตามเงื่อนไขของสัญญา Siemens จะให้บริการซ่อมบำรุงทั้งในด้านของชิ้นส่วนอะไหล่และการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซให้ดียิ่งขึ้น การมีสัญญาดังกล่าวช่วยให้บริษัทมั่นใจได้ว่ากังหันก๊าซจะมีความพร้อมในการดำเนินงานและบริษัทจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงได้
ความสามารถในการบริหารโรงไฟฟ้าที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว
บริษัทมีทีมงานของตนเองในการดำเนินงานและซ่อมบำรุงประจำวันที่ได้รับการฝึกอบรมจาก BGRIM ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานและการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ตั้งแต่เริ่มดำเนินงานในปี 2556 โรงไฟฟ้าของบริษัทก็มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาโดยตลอด
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โรงไฟฟ้าของบริษัทมีดัชนีความพร้อมอยู่ที่ 92.4% และมีอัตราความร้อนที่ขนาด 7,584 บีทียูต่อหน่วยซึ่งดีกว่าอัตราความร้อนอ้างอิงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ที่ขนาด 8,000 บีทียูต่อหน่วย ส่วนในด้านของประสิทธิภาพการใช้พลังงานนั้น โรงไฟฟ้าของบริษัทบรรลุดัชนีชี้วัดความสามารถในการใช้พลังงานปฐมภูมิในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วมกัน (Primary Energy Saving -- PES) ซึ่งทำให้ได้รับค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมจากค่าการประหยัดการใช้เชื้อเพลิง (Fuel Saving -- FS) ที่อัตรา 0.36 บาทต่อหน่วยจาก กฟผ.
ยอดขายส่วนใหญ่มาจาก กฟผ.
บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 71%-78% ของไฟฟ้าที่จำหน่ายทั้งหมดต่อปี ในช่วงปี 2560-2562 บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ปีละประมาณ 622-645 ล้านหน่วย จำหน่ายให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมปีละ 117-212 ล้านหน่วย และจำหน่ายให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง (โรงไฟฟ้าอื่นในกลุ่ม บี. กริม ที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ อมตะซิตี้ ระยอง) อีกปีละ 0.5-45 ล้านหน่วยเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า บริษัทมีรายได้และกำไรที่มั่นคงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปี 2560-2562 บริษัทมีรายได้อยู่ในระดับ 2.5-2.6 พันล้านบาทต่อปีและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับ 662-731 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วงดังกล่าว รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. คิดเป็น 75% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมคิดเป็น 19% และรายได้จากการจำหน่ายไอน้ำให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมคิดเป็น 3%
โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบน้อย
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. จำนวนประมาณ 460 ล้านหน่วย ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 79 ล้านหน่วย และบริษัทที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 24 ล้านหน่วย จำนวนไฟฟ้าที่จำหน่ายลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นมีสาเหตุหลักมาจากการที่จำนวนไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมลดลง 34% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 จากผลกระทบของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ทำให้รายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลง 12% มาอยู่ที่ 438 ล้านบาทจากการมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูงขึ้นตามแผนงาน
ความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในระดับดี
ในเดือนเมษายน 2560 บริษัทได้กู้เงินจำนวน 3.88 พันล้านบาทจาก บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ เอสพีวี1 จำกัด (ABPSPV) ในลักษณะของเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทเพื่อนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้โครงการคงเหลือที่มีกับธนาคาร ทั้งนี้ กำหนดการชำระคืนเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทนั้นสอดคล้องกับกำหนดการชำระคืนหุ้นกู้ที่ออกโดย ABPSPV ภาระในการชำระคืนหนี้เงินกู้ของบริษัทในแต่ละปีมีจำนวนที่ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญโดยยอดชำระมีจำนวนตั้งแต่ 15 ล้านบาทไปจนถึง 747 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2575 ซึ่งบริษัทไม่มีภาระในการชำระคืนเงินต้นในปี 2561 รวมถึงในปี 2562 ในปี 2568 และในปี 2574 ทั้งนี้ บริษัทได้จ่ายชำระคืนเงินต้นงวดแรกในเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถบริหารสภาพคล่องและสำรองเงินสดไว้เพื่อรองรับการชำระคืนเงินกู้ที่มีจำนวนสูงในบางปีได้
ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีเงินสดคงเหลือจำนวน 0.8 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 486-736 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2567 ทั้งนี้ บริษัทมีเงินสดในมือรวมกับประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงกว่าภาระหนี้เงินกู้ซึ่งอยู่ที่จำนวน 327-619 ล้านบาทในปี 2564-2567
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? ในระหว่างปี 2563-2567 โรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีค่าดัชนีความพร้อมอยู่ในช่วง 87.1%-98.2%
? สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จะอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์และกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 17 เมกะวัตต์ รวมทั้งสัญญาซื้อขายไอน้ำกับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่ที่จำนวน 14 ตัน/ชั่วโมง
? สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมรายใหม่ จะอยู่ที่ 16 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทำการจ่ายไฟฟ้าในปี 2565
? ในระหว่างปี 2563-2567 บริษัทจะมีรายได้ที่ระดับ 1.9-2.7 พันล้านบาทต่อปีและจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 486-736 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีเงินสดในมืออยู่ที่ประมาณ 301 ล้านบาทถึง 474 ล้านบาทต่อปี
? ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ปีละ 10-27 ล้านบาท
? ภาระในการชำระคืนเงินต้นเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทนั้นดำเนินการตามตารางการชำระคืนเงินกู้ที่กำหนดไว้
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำเนินงานโรงไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและสามารถสร้างผลกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่แน่นอนได้ประมาณ 486-736 ล้านบาทต่อปี
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทยังมีโอกาสค่อนข้างจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ส่วนการปรับลดอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานหรือสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558
บริษัท อมตะ บี. กริม เพาเวอร์ (ระยอง) 1 จำกัด (ABPR1)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable