ในปี 2563 ทริสเรทติ้งมีการจัดและประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 224 ราย ซึ่งประกอบด้วยบริษัททั่วไป 166 ราย สถาบันการเงิน 51 ราย และผู้ออกตราสารที่มีโครงสร้างซับซ้อน 3 ราย ที่เหลืออีก 4 รายเป็นผู้ออกตราสารในภาครัฐซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลของประเทศ 1 ราย หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นของไทย 1 ราย และสถาบันระหว่างประเทศ 2 ราย
อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่รวมไปถึงผู้ออกตราสารหนี้ที่มีโครงสร้างซับซ้อนหรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ และไม่รวมผู้ออกตราสารซึ่งเป็นบริษัททั่วไปจำนวน 8 รายและสถาบันการเงิน 3 รายที่ออกเพียงตราสารหนี้ที่มีการค้ำประกัน ทั้งนี้ การศึกษานี้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นองค์กรทั่วไปจำนวนทั้งสิ้น 206 รายซึ่งประกอบด้วยบริษัททั่วไปจำนวน 158 รายและสถาบันการเงิน 48 ราย
ในปี 2563 มีผู้ผิดนัดชำระหนี้ 2 ราย จึงทำให้จำนวนผู้ออกตราสารที่ผิดนัดชำระหนี้สะสมตั้งแต่ปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 24 ราย (เป็นผู้ออกตราสารที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างที่ยังมีการจัดอันดับเครดิตอยู่จำนวน 19 ราย และอีก 5 รายมีการผิดนัดชำระหนี้ภายหลังจากขอยกเลิกอันดับเครดิตไปแล้ว) ในบรรดาผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 206 รายในปี 2563 นั้น มีผู้ออกตราสารใหม่จำนวน 13 รายและยกเลิกอันดับเครดิตจำนวน 6 ราย ทั้งนี้ สัดส่วนของหน่วยงานที่มีการประกาศอันดับเครดิตต่อสาธารณะในปี 2563 (ไม่นับรวมหน่วยงานที่เข้ามาใหม่ 13 รายและหน่วยงานที่ยกเลิกอันดับเครดิต 6 ราย) ที่มีอันดับเครดิตคงเดิมนั้นอยู่ที่ 81.28%
ในช่วงปีที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสำหรับผู้ออกตราสารหนี้จำนวน 6 รายและปรับลดอันดับเครดิตจำนวน 27 ราย (ไม่รวมอันดับเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ 2 รายที่ได้ยกเลิกอันดับเครดิตไปหลังจากถูกปรับลดอันดับเครดิต) และผิดนัดชำระหนี้ 2 ราย ทำให้สัดส่วนของผู้ออกตราสารที่ได้รับการลดอันดับเครดิตต่อผู้ออกตราสารที่ได้รับการเพิ่มอันดับเครดิตอยู่ที่ 4.83 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 0.83 เท่าในปี 2562 ผู้ออกตราสารที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook) มีจำนวน 31 ราย โดยเป็นการปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิต 6 รายและปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิต 25 ราย ในระหว่างปี 2563 มีการประกาศเครดิตพินิจ (CreditAlert) ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 15 ราย ซึ่งเป็นเครดิตพินิจแนวโน้ม ?บวก? (Positive) 1 ราย และแนวโน้ม ?ลบ? (Negative) 14 ราย เครดิตพินิจส่วนใหญ่ได้รับการพิจารณาเปลี่ยนแปลงในระหว่างปี มีผู้ออกตราสารเพียง 1 รายที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตและยังคงเครดิตพินิจแนวโน้ม ?ลบ? (Negative) อยู่ ณ สิ้นปี 2563
อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสม 1 ปี 2 ปี และ 3 ปีในช่วงปี 2537-2563 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมาอยู่ที่ 1.005% 2.172% และ 3.181% จาก 0.998% 2.172% และ 3.146% ในช่วงปี 2537-2562 ตามลำดับ โดยตัวเลขในช่วงปี 2537-2562 มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากรายงานปีที่ผ่านมาเนื่องจากทริสเรทติ้งไม่ได้รวมอันดับเครดิตองค์กรที่ใช้เป็นการภายในของสถาบันการเงิน 3 ราย เข้าไว้ด้วยเนื่องจากทริสเรทติ้งไม่ได้จัดอันดับเครดิตภายในของหน่วยงานดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563
จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ทำให้ตราสารหนี้ใหม่ที่ออกและจดทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 2563 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้นเพียง 659.87 ล้านบาท โดยลดลง 36.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในจำนวนนี้มีตราสารที่ไม่มีอันดับเครดิตคิดเป็นประมาณ 18.60% ของตราสารที่ออกทั้งหมดในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 16.60% ในปี 2562 ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารในอุตสาหกรรมทั้ง 5 กลุ่มซึ่งได้แก่สถาบันการเงิน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย อาหาร พลังงาน รวมถึงพาณิชย์ มีการออกตราสารหนี้รวมกันแล้วคิดเป็นเกือบ 67% ของมูลค่าหุ้นกู้ทั้งหมดที่ออกในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2563 มูลค่าของตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนคงค้างอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.38 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.32% จากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน สัดส่วนของตราสารหนี้ที่ไม่มีอันดับเครดิตเมื่อเทียบกับตราสารหนี้คงค้างรวมก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 15.14% จาก 13.64% ณ สิ้นปี 2562