ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BB+? ในขณะเดียวกันยังเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Negative? หรือ ?ลบ? จากเดิม ?Stable? หรือ ?คงที่? ด้วย โดยการเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทจะลดลงเป็นอย่างมากจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่มีต่อการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของเกาะสมุยและเกาะพะงัน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการลงทุน โดยเฉพาะเพื่อการบำรุงรักษากองเรือเฟอร์รี่และแผนการสั่งต่อเรือใหม่
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงธุรกิจเดินเรือเฟอร์รี่ของบริษัทในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีสถานะมั่นคงบนเส้นทางจากท่าเรือดอนสักถึงเกาะสมุยและเกาะพะงัน และบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่สู่เกาะพะลวยและเกาะเต่า เพื่อเน้นย้ำกลยุทธ์ Island Gateway ของบริษัท อย่างไรก็ดี อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีขนาดธุรกิจที่เล็กและมีพื้นที่ในการเดินเรือที่กระจุกตัว
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
สถานะทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจเดินเรือเฟอร์รี่แต่มีฐานรายได้ที่เล็กพร้อมกับการกระจุกตัวของพื้นที่ดำเนินธุรกิจ
สถานะทางธุรกิจที่มั่นคงของบริษัทมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทเป็นผู้ให้บริการเรือเฟอร์รี่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและการมีคู่แข่งจำนวนน้อยราย ทั้งนี้ ในบริเวณท่าเรือดอนสักมีผู้ให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่เพียง 2 รายเท่านั้น ในขณะเดียวกัน อุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ก็อยู่ในระดับสูงเนื่องจากผู้ให้บริการจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตก่อน อีกทั้งที่ดินเพื่อสร้างท่าเรือใหม่ก็มีราคาที่สูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินบนเกาะสมุย โอกาสที่จะมีสิ่งอื่นมาทดแทนการให้บริการเรือเฟอร์รี่ในระยะสั้นถึงระยะกลางนั้นยังต่ำเนื่องจากเรือเฟอร์รี่ยังคงเป็นระบบขนส่งเพียงระบบเดียวที่สามารถขนส่งยานพาหนะไปมาระหว่างเกาะสมุยและเกาะพะงันได้ ปัจจุบันบริษัทมีเรือเฟอร์รี่ทั้งหมดรวม 14 ลำและบริษัทยังเป็นเจ้าของท่าเรือสากลถึง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือดอนสักและท่าเรือเกาะสมุยอีกด้วย การมีขนาดกองเรือที่ใหญ่และความสามารถในการควบคุมการขึ้นและลงเรือส่งผลให้บริษัทสามารถบริหารการเดินเรือได้อย่างยืดหยุ่นและมีจำนวนรอบการให้บริการที่มากกว่าคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของบริษัทจัดว่ามีขนาดเล็กซึ่งสะท้อนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่จำกัดและความสามารถในการแบกรับภาระหนี้ที่ค่อนข้างต่ำ ในระหว่างปี 2560-2562 บริษัทมีรายได้ที่ระดับ 700-745 ล้านบาทต่อปีและมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 129-145 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกาะสมุยเป็นอย่างมาก ขนาดของตลาดที่เล็กและแหล่งรายได้ที่ไม่กระจายตัวส่งผลทำให้บริษัทมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านลบของสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ดำเนินธุรกิจของบริษัทและเป็นปัจจัยปิดกั้นโอกาสในการเติบโตในระยะยาวของบริษัทอีกด้วย
ผลการดำเนินงานอ่อนแอลงจากโรคโควิด 19
การหยุดชะงักของกิจกรรมการท่องเที่ยวในเกาะสมุยและเกาะพะงันอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้และกำไรของบริษัทจะยังคงอ่อนแอต่อไปในปี 2563-2564 และคาดว่าบริษัทจะต้องใช้เวลาอีก 18-24 เดือนกว่าที่ธุรกิจจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนผู้โดยสารเรือเฟอร์รี่ของบริษัทลดลง 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 544,599 คน ในขณะที่งานก่อสร้างต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่บนเกาะทั้ง 2 แห่งนั้นช่วยทำให้การขนส่งยานพาหนะลดลงในระดับที่น้อยกว่าโดยอยู่ที่ระดับ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรืออยู่ที่จำนวน 428,238 คัน ทั้งนี้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งยานพาหนะจะลดลงเช่นนี้ต่อไปในช่วงปี 2563-2564 เมื่อพิจารณาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รอบใหม่ในประเทศไทยและความไม่แน่นอนในเรื่องการกระจายวัคซีนซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ในการเดินทางท่องเที่ยวยังคงชะลอตัว โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนเกาะสมุยและเกาะพะงันจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2565 โดยคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 10%-15% และปริมาณการขนส่งยานพาหนะจะเพิ่มขึ้น 5%-10% ในช่วงเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากอัตราการฟื้นตัวดังกล่าวแล้วทำให้ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ที่ระดับ 500-520 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 600-650 ล้านบาทในปี 2565 ล่าสุดบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่สู่เกาะพะลวยและเกาะเต่า ซึ่งการเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ จะช่วยเรื่องการเติบโตของรายได้ในระยะกลางถึงระยะยาว
ความสามารถในการทำกำไรได้รับแรงกดดันจากปริมาณการขนส่งที่ลดลงและอายุของกองเรือที่สูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะอ่อนแอลงจากอัตราการใช้งานเรือที่ลดลงและอายุเฉลี่ยที่สูงของกองเรือ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 17.5% ลดลงจาก 21.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับตารางการเดินเรือให้เหมาะสมที่สุดและลดต้นทุนในการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กองเรือที่มีอายุสูงส่งผลให้บริษัทจะยังคงมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงรวมถึงต้องหยุดให้บริการที่ยาวนานเพื่อเข้ารับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้ง อัตรากำไรของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 15%-17% ในปี 2563-2564 และ 18%-20% ในปี 2565 ซึ่งจะคิดเป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 80-90 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2564 และที่ระดับประมาณ 110-120 ล้านบาทในปี 2565 ทั้งนี้ ปัจจัยที่กดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอีกประการหนึ่งคือราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นต้นทุนหลักอย่างหนึ่งของบริษัทที่อาจปรับเพิ่มสูงขึ้น
ภาระหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น
ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจากการที่บริษัทมีรายได้ลดลงและจากแผนการลงทุนของบริษัท ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2563 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ระดับ 225 ล้านบาท โดยภาระหนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้ที่มีหลักประกันซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีสถานะที่ด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 2.4 เท่า (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) เพิ่มขึ้นจาก 0.8 เท่าในปี 2562 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ภายใต้กรณีพื้นฐานว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 3-4 เท่าในระหว่างปี 2563-2565 โดยสมมติฐานดังกล่าวได้รวมแผนการที่บริษัทจะลงทุนปรับปรุงคุณภาพเรือและสั่งต่อเรือใหม่ด้วย โดยบริษัทมีแผนการลงทุนรวมประมาณ 400-420 ล้านบาทในปี 2564-2565 เพื่อการสั่งซื้อเรือเฟอร์รี่ใหม่ รวมทั้งเพื่อการบำรุงรักษากองเรือ และการขยายท่าเรือเป็นหลัก
สภาพคล่องตึงตัวแต่คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ถดถอยลงส่งผลกระทบทำให้สถานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลง นอกจากนี้ การที่เรือราชา 4 ประสบอุบัติเหตุอับปางในเดือนสิงหาคม 2563 จนทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายพิเศษเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวน 29 ล้านบาทนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้สภาพคล่องของบริษัทลดลงอีกด้วย ปัจจุบันบริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการเรียกเงินค่าเสียหายทดแทนจากบริษัทประกันภัยในกรณีเรือราชา 4 โดยมูลค่าวงเงินประกันอยู่ที่จำนวน 16 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่บริษัทจะได้รับจากบริษัทประกันภัยนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ ในขณะที่ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทจะตึงตัวแต่น่าจะอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ตลอดปี 2564 นี้
ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 จนถึงปี 2564 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 70-80 ล้านบาทรวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอีกจำนวน 133 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2563 ในขณะที่บริษัทมีแผนการลงทุนประมาณ 100-115 ล้านบาทและมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดรวมประมาณ 160 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจำเป็นจะต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้อเรือเฟอร์รี่ใหม่ตามแผน นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอปรับปรุงแผนการชำระหนี้เงินกู้โดยขอชำระเพียงดอกเบี้ยหรือเงินต้นบางส่วนในปี 2564 เพื่อรักษาสภาพคล่องเอาไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษากองเรืออีกด้วย
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? บริษัทจะมีรายได้ที่ระดับ 500-520 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2564 และที่ระดับ 600-650 ล้านบาทในปี 2565
? อัตรากำไรจะอยู่ในช่วงระหว่าง 15%-17% ในช่วงปี 2563-2564 และ 18%-20% ในปี 2565
? เงินลงทุนตามแผนคาดว่าจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 400-420 ล้านบาทในช่วงปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทจะถดถอยลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่มีต่อการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ บนเกาะสมุยและเกาะพะงัน นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการบำรุงรักษากองเรือเฟอร์รี่และการสั่งต่อเรือใหม่
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินแข็งแรงกว่าที่คาด ซึ่งอาจเกิดจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจบนเกาะสมุยและเกาะพะงันกลับมาฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี และ/หรือจากความสำเร็จในการขยายเส้นทางเดินเรือเฟอร์รี่ใหม่ ๆ นอกเขตพื้นที่เกาะสมุยหรือจากการสร้างธุรกิจใหม่
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่สูงเกินกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง และ/หรือสภาพคล่องของบริษัทเสื่อมถอยลงไปมากกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ จำกัด (มหาชน) (RP)
อันดับเครดิตองค์กร: BB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative