ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB-? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์และผู้แปรรูปอาหารทะเลขนาดกลางในประเทศไทย รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และการมีตลาดที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งที่มีความแปรปรวน ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้า
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อุปสงค์ขยายตัวในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง
จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่ายอดส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 452,511 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 11% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอุปสงค์ของอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วโลกมีปัจจัยขับเคลื่อนจากตลาดสำคัญ ๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป และญี่ปุ่น
ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงของบริษัทเติบโตสูงขึ้นถึง 45% หรือคิดเป็น 19,646 ตันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทวางแผนจะขยายกำลังการผลิตต่อปีให้เป็น 52,000 ตัน จาก 47,000 ตัน เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์อาหารสัตว์เลี้ยงที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
บริษัทมีความพยายามที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในหมวดอาหารทะเลแช่แข็งพร้อมทั้งขยายบทบาทไปในตลาดโลกให้มากขึ้น
ปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ระดับ 12%-15% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นของสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมียอดขายของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วน 33% ของรายได้รวมในหมวดอาหารทะเลแช่แข็ง โดยเพิ่มขึ้นจาก 18% ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ในอนาคตข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะขยายสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มอัตรากำไรและลดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในหมวดอาหารทะเลแช่แข็งลง
ผลการดำเนินงานทางการเงินปรับตัวดีขึ้น
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยมาอยู่ที่ระดับ 6.5 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นเป็น 40% จาก 31% ในช่วงเดียวกันของปี 2562
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานดียิ่งขึ้นระหว่างผลิตภัณฑ์ในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการที่เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ บริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่จำนวน 607 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีผลกำไรสุทธิจำนวน 116 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2563 จะเติบโตที่ระดับ 5% และจะอยู่ที่ระดับ 2% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 16% ในปี 2563 และจะปรับตัวลดลงเหลือ 13% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 14% ในปี 2563 และจะลดลงเหลือ 10% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
การดำเนินงานยังคงเป็นไปตามปกติในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
แม้ว่าโรงงานของบริษัทจะตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปิดเมืองเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่บริษัทก็ยังคงดำเนินธุรกิจได้ตามปกติต่อไปโดยอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทได้ดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเข้มงวดมาตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยบริษัทได้ให้พนักงานที่ทำงานชั่วคราวทุกคนเข้ารับการทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 รวมถึงให้สวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ และเสื้อคลุมที่ใช้ในห้องปฏิบัติการในขณะที่ทำงานภายในโรงงาน รวมถึงให้มีการกักตัว 14-21 วันในกรณีจำเป็นอีกด้วย ดังนั้น จึงยังไม่ปรากฏว่ามีพนักงานรายใดของบริษัทติดเชื้อโรคโควิด 19 จวบจนถึงปัจจุบัน
ภาระหนี้จะปรับตัวลดลง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงเหลือ 38.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จากเดิมที่อยู่ในระดับประมาณ 43.6% ณ สิ้นปี 2562 ทั้งนี้ เนื่องมาจากการชำระหนี้ระยะยาวของบริษัท บริษัทวางแผนงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนไว้ทั้งสิ้นที่จำนวน 200 ล้านบาทในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาทในปี 2564 อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนคาดว่าจะทยอยปรับตัวลดลงเหลือ 100-150 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 39% ในปี 2563 และจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41% ในปี 2564 และจะทยอยลดลงเหลือ 37% ในปี 2565
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไปได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วงระยะดังกล่าวที่จำนวน 619 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 760-1,100 ล้านบาทในระยะ12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 136 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ทั้งสิ้นอีกจำนวน 2.37 พันล้านบาท
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 31%-47% ในช่วงปี 2563-2565 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 9-13 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้รวมของบริษัทจะเติบโตที่ระดับ 5% ในปี 2563 และจะเติบโตที่ระดับ 2% ต่อปีในระหว่างปี 2564-2565
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 14% ในช่วงปี 2563 และหลังจากนั้นจะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักทั้ง 2 ประเภทคืออาหารทะเลแช่แข็งและอาหารสัตว์เลี้ยงเอาไว้ได้ต่อไป ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดหมายด้วยว่าบริษัทจะมีผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมทั้งยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วให้ต่ำกว่าระดับ 50% เอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถรักษาเสถียรภาพในการสร้างกระแสเงินสดเอาไว้ได้ในขณะที่ยังคงรักษางบดุลให้แข็งแรงต่อไปได้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน โดยการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเป็นอย่างดีและอัตรากำไรที่มีเสถียรภาพจะเป็นปัจจัยบวกต่อการปรับเพิ่มอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่อ่อนแอลงกว่าคาดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทไม่ควรต่ำกว่าระดับ 15% นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายธุรกิจซึ่งส่งผลทำให้งบการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและทำให้เงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ถดถอยลงก็จะเป็นปัจจัยในด้านลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ASIAN)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable