ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทที่สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงการที่บริษัทมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง มีระดับการก่อหนี้ที่ต่ำ แหล่งเงินทุนที่กระจายตัว และ มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ ในขณะที่ความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สินได้รับการบรรเทาลงจากการได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงรวมถึงการมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าในระดับสูง นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงก็อาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้อีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีสถานะเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพ
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของธนาคารกรุงเทพ หลังจากที่ธนาคารกรุงเทพได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็น 90% ในช่วงปลายปี 2563 ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากธนาคารจะปรับไปในแนวทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ที่สำคัญกว่านั้น การที่บริษัทกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารที่ได้รับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดอีกทั้งยังเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลแบบ Full Consolidation ก็ทำให้ธนาคารมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมบริษัทอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นทั้งในด้านกลยุทธ์และการดำเนินงาน ทริสเรทติ้งคาดว่าการปรับกรอบการดำเนินงานต่าง ๆ และการควบคุมความเสี่ยงให้เข้ากับของธนาคารจะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งต่อลูกค้ามาจากธนาคารที่คาดว่าจะมีมากขึ้นในอนาคต
ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าฐานเงินทุนของบริษัท ณ ปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการสนับสนุนแผนการดำเนินธุรกิจในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งนี้เกิดจากอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ต่ำ การเติบโตของสินเชื่อที่ระมัดระวัง และการมีผลกำไรที่สม่ำเสมอ
ฐานทุนของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงนั้นมีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2563 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 19.96% จาก 17.78% ในปี 2562 และ 16.55% ในปี 2561 โดยเป็นอัตราส่วนที่อยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทคู่แข่งในตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้ง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 20% ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า
มีสภาพคล่องเพียงพอจากการสนับสนุนของผู้ถือหุ้น
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นซึ่งได้แก่ธนาคารกรุงเทพและ Sumitomo Mitsui Banking Corporation (SMBC) จะยังคงดำเนินต่อไปซึ่งจะช่วยให้บริษัทยังคงสามารถดำเนินกิจการและชำระคืนหนี้ต่าง ๆ ได้ตามกำหนด นอกจากนี้ บริษัทยังมีแหล่งเงินกู้ยืมที่หลากหลายจากสถาบันการเงินอื่น ๆ อีกด้วย
ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีวงเงินกู้ยืมทั้งสิ้นจำนวน 1.2 พันล้านบาทจากธนาคารกรุงเทพและจำนวน 2.1 พันล้านบาทจาก SMBC ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับวงเงินเพิ่มเติมซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากธนาคารกรุงเทพเนื่องจากบริษัทได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารกรุงเทพแล้ว
การคงอัตราผลตอบแทนทำให้สินเชื่อไม่เติบโต
ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อเครื่องจักรจะอยู่ในระดับสูงต่อไปซึ่งจะส่งผลกดดันต่ออัตราผลตอบแทนของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากธนาคารแม่และสถาบันการเงินที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงสามารถรับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำได้เนื่องจากได้รับเงินทุนต้นทุนต่ำจากบริษัทแม่ เพื่อที่บริษัทจะรักษาอัตราผลตอบแทนสุทธิจากการที่มีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่ง บริษัทจึงทำการขยายสินเชื่อแต่เฉพาะในลูกค้าบางกลุ่มที่มีผลตอบแทนที่ยอมรับได้ซึ่งทำให้สินเชื่อรวมของบริษัทเติบโตอย่างจำกัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ณ สิ้นปี 2563 สินเชื่อคงค้างรวมของบริษัทหดตัวลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยป้องกันไม่ให้อัตราผลตอบแทนของบริษัทลดลงอย่างรุนแรงและทำให้บริษัทคงอัตราผลตอบแทนสุทธิเอาไว้ได้ โดยในปี 2563 อัตราผลตอบแทนสุทธิของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.7% เมื่อเทียบกับระดับ 3.3%-3.6% ในช่วงปี 2560-2562 อัตราผลตอบแทนของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านอัตราผลตอบแทนจากการแข่งขันต่อไปอีกในอนาคตอันใกล้ ทริสเรทติ้งจึงมองว่าบริษัทจะมีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นหากธนาคารกรุงเทพลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ให้แก่บริษัทลง
คุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่น่ากังวล
คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทยังคงเป็นประเด็นหลักที่ทริสเรทติ้งมีความกังวล การกระจุกตัวของสินเชื่อเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น ณ เดือนธันวาคม 2563 ลูกหนี้รายใหญ่ 10 รายแรกของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนถึง 32% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2562 ในขณะที่ในปี 2559 ลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งของบริษัทประสบกับปัญหาทางการเงินที่ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 8.7% ณ สิ้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ตั้งสำรองสำหรับลูกหนี้รายนี้ไว้เต็มจำนวนในปี 2560 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทก็เพิ่มขึ้นถึงระดับ 12.7%
การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมนั้นเนื่องมาจากการที่บริษัทไม่มีนโยบายที่จะตัดหนี้สูญหรือจำหน่ายหนี้เสียออกไปตราบเท่าที่สินเชื่อยังไม่ได้รับการจัดการจนถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เกิดใหม่สุทธิในปี 2563 นั้นก็มีจำนวนที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในอนาคตทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปหากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เหล่านี้ยังไม่สามารถจัดการได้ ทริสเรทติ้งมีข้อสังเกตว่าสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแออาจทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีการจัดการที่ดีพอและอาจส่งผลกดดันต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทได้
ความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สิน
บริษัทมีความไม่สอดคล้องกันในด้านของอายุเฉลี่ยของโครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สิน บริษัทพึ่งพิงการกู้ยืมระยะสั้นเพื่อรักษาต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำ โดย ณ สิ้นปี 2563 สัดส่วนเงินกู้ระยะสั้นต่อเงินกู้รวมของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 88% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องความไม่สอดคล้องกันของสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าวมากนักเนื่องจากเชื่อว่าบริษัทยังมีวงเงินที่เพียงพอซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นทั้งจากธนาคารกรุงเทพและ SMBC เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระยะสั้นในกรณีที่ต้องการได้ บริษัทมีอายุเฉลี่ยของสินเชื่อสูงกว่า 1 ปี โดยเมื่อสิ้นปี 2563 สินเชื่อรวมของบริษัทในสัดส่วนประมาณ 68% มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 1 ปี
คุณภาพสินทรัพย์และการแข่งขันยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการเช่าซื้อเครื่องจักร
อุตสาหกรรมเช่าซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงของการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงมาตรการจำกัดการประกอบกิจการและการเดินทางเมื่อปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ถึงแม้ว่าอุปสงค์ของสินเชื่อจะเริ่มฟื้นคืนกลับมาหลังจากการออกมาตราการช่วยเหลือต่าง ๆ และการกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 แต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ก็ยังคงต้องพึ่งปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย หนึ่งในดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเช่าซื้อเครื่องจักรที่มีการกล่าวถึงบ่อย ๆ ก็คือดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index -- PII) ณ เดือนธันวาคม 2563 ดัชนีดังกล่าวซึ่งปรับตามฤดูกาลแล้วมีการปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 135.67 จากที่ตกลงไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ 112.66 แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าในอดีตเล็กน้อย ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และทำให้มีค่าใช้จ่ายสำรองทางเครดิตที่สูงขึ้น เมื่อรวมกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินของผู้ผลิตเครื่องจักรโดยตรง (Captive Leasing) แล้วจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีอย่างจำกัดต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2566 ดังนี้
? สินเชื่อใหม่ทั้งที่เป็นสัญญาเช่าซื้อและเช่าการเงินของบริษัทจะอยู่ที่ประมาน 2 พันล้านบาทในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีหลังจากนั้น
? สัญญาเช่าดำเนินงานใหม่จะคงที่ในระดับเดิม
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 20% ต่อปี
? อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของดอกเบี้ยสุทธิจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5% ต่อปี
? ค่าใช้จ่ายทางด้านเครดิตจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.5% ต่อปี
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะคงอยู่ที่ระดับระหว่าง 45%-50% ต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงฐานทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญได้ และบริษัทจะมีผลการดำเนินงานทางการเงินตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมไปถึงสถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลการดำเนินงานทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่อยู่ในระดับน่าพอใจ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งอาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตหากสถานะของบริษัทที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารกรุงเทพมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยพิจารณาได้จากสถานะด้านเงินทุน ผลการดำเนินงานทางการเงิน หรือคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท บีเอสแอล ลีสซิ่ง จำกัด (BSL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable