ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A-? รวมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III ชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ ?BBB? พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III ชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2.4 พันล้านบาทของธนาคารที่ระดับ ?BBB? ด้วย โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงเงินกองทุนที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับปานกลางของธนาคาร อย่างไรก็ตาม จุดแข็งเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดจากธุรกิจธนาคารที่มีขนาดเล็ก ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้า และสถานะเงินทุนที่ยังคงแข็งแกร่งน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็ก
การประเมินสถานะทางธุรกิจของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีขนาดธุรกิจที่เล็กเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทั้งนี้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จัดเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ในแง่ของขนาดของสินทรัพย์ ณ สิ้นปี 2563 โดยธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 1.2% ในด้านสินเชื่อและที่ระดับ 1.3% ในด้านเงินฝากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อพิจารณาในแง่บวกแล้วทริสเรทติ้งเห็นว่าธนาคารมีความก้าวหน้าในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันจากการเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจภายในกลุ่มและการสนับสนุนทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
มีการกระจุกตัวสูงในกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสัดส่วนสินเชื่อของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีความหลากหลายน้อยกว่าของคู่แข่ง โดยธุรกิจสินเชื่อของธนาคารมีการกระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งคิดเป็น 77.5% ของสินเชื่อรวมซึ่งรวมรายการระหว่างธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าจะเห็นความเสี่ยงของการกระจุกตัวที่ค่อย ๆ ลดลงในระยะปานกลางโดยอิงจากกลยุทธ์ระยะยาวของธนาคารในการขยายธุรกิจไปสู่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและสินเชื่อรายย่อยอย่างระมัดระวัง
นอกจากนี้ ในมุมมองของทริสเรทติ้งยังเห็นว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังมีการกระจายตัวของรายได้ที่น้อยเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารคิดเป็น 74.8% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 70.7% ในขณะที่สัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิอยู่ที่ 4.3% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 18.5% ทริสเรทติ้งมีมุมมองในเชิงบวกต่อความพยายามของธนาคารในการเพิ่มฐานรายได้ค่าธรรมเนียมโดยการขยายธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจประกัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้ของธนาคารจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักในช่วง 2 ปีข้างหน้าเนื่องจากความพยายามเหล่านี้ต้องใช้เวลากว่าที่สัดส่วนรายได้ต่อรายได้รวมของธนาคารจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เงินกองทุนแข็งแกร่ง
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นจุดแข็งที่สำคัญของอันดับเครดิตซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารที่สูงถึง 17.1% ณ สิ้นปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 16.4% ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าคุณภาพเงินกองทุนของธนาคารก็อยู่ในระดับสูงเนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบด้วย เงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารถึง 86.2% ของเงินกองทุนทั้งหมดซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการบริหารจัดการเงินกองทุนที่รอบคอบของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางจะทำให้ธนาคารสามารถรักษาสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 17.1% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยประมาณการสะท้อนสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่ว่าธนาคารจะมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับปานกลางที่ 3.0% และมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับประมาณ 50.0% ในระยะเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า
ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางเอาไว้ได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้าซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2564-2565 โดยอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.7%-1.0% ซึ่งเป็นไปตามค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในขณะที่ธนาคารสามารถรักษาอัตราดอกเบี้ยสุทธิไว้ที่ประมาณ 2.0% ได้ในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมาถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากการที่ธนาคารมีการบริหารต้นทุนทางการเงินในเชิงรุก อย่างไร
ก็ตาม ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความสามารถในการทำกำไรของธนาคารมีแนวโน้มที่จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อันเนื่องมาจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและต้นทุนทางเครดิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
การเสื่อมถอยของคุณภาพสินทรัพย์สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร (ไม่รวมรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร) เพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ณ สิ้นปี 2563 จาก 1.8% ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ทริสเรทติ้งคาดว่าจะเห็นปัจจัยชี้วัดคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปรับตัวถดถอยลงหลังจากที่มาตรการบรรเทาหนี้สิ้นสุดลง โดยคาดว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร (ไม่รวมรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร) จะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 4.0%-5.0% ในปี 2564-2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าต้นทุนทางเครดิตของธนาคารจะยังอยู่ในระดับสูงที่ 1.7% ในปี 2564-2565 และค่อย ๆ ลดลงในปี 2566 หลังจากการแพร่ระบาดลดลงและเศรษฐกิจฟื้นตัว จากสภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันและความเสี่ยงที่รับได้ในระดับปานกลาง ธนาคารมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการปล่อยสินเชื่อแบบระมัดระวังในกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กรวมทั้งกลุ่มรายย่อยในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของสินเชื่อค่อนข้างสูงเมื่อคำนวณจากสัดส่วนสินเชื่อของลูกค้า 20 รายที่ใหญ่ที่สุดต่อสินเชื่อรวมซึ่งเกิดจากการมีสัดส่วนของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ในระดับสูง ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 ลูกค้า 20 รายใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 29.5% ของสินเชื่อทั้งหมดและมากกว่า 1.7 เท่าของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคาร ซึ่งสูงกว่าของธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งจัดอับดับเครดิต เมื่อพิจารณาจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังของธนาคารสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กรวมถึงกลุ่มรายย่อยแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงไม่มากนักในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า
เงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนเงินฝากยังอยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งเห็นว่าสถานะเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ว่ามีความแข็งแกร่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยเงินฝากของลูกค้ามีสัดส่วน 91.4% ของแหล่งเงินทุนรวมของธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเงินฝากของธนาคารที่ประมาณ 1.7% ในปี 2563 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 1.3% แต่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กรายอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account ? CASA) ของธนาคารปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.2% ของเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 40.2% ณ สิ้นปี 2562 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ประมาณ 61.8% ทั้งนี้ สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของความกลัวความเสี่ยงในตลาดในช่วงที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นหลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตของเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์จะไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมาหลังจากการแพร่ระบาดลดลงและเศรษฐกิจฟื้นตัว ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ระดับ 88.3% ณ สิ้นปี 2563 ลดลงจากระดับ 94.5% ณ สิ้นปี 2562
สถานะสภาพคล่องมีเพียงพอ
ทริสเรทติ้งประเมินสถานะสภาพคล่องของธนาคารว่ายังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติ (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสู่ระดับ 140% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของทางการที่ระดับ 100% แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 183% ตามข้อมูลรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 สินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารมีสัดส่วนคิดเป็น 33.3% ของสินทรัพย์รวมซึ่งอยู่ในระดับเพียงพอและสูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังที่ระดับ 20% ในมุมมองของทริสเรทติ้ง
ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความมั่นคงด้วยระดับเงินกองทุนและสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อยู่ในระดับสูง
ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงที่ 5.1% ในปี 2563 ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมปรับตัวแย่ลงอย่างมากแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ โดยส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่มาจากการบังคับใช้กฎระเบียบที่ประกาศโดย ธปท. ส่งผลให้อัตราส่วน สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.12% ณ สิ้นปี 2563 จาก 2.98% ณ สิ้นปี 2562
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าผลกระทบภายหลังจากการสิ้นสุดมาตรการบรรเทาหนี้น่าจะมีจำกัดเนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกันสำรองในระดับสูงและมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งที่ระดับ 20.1% ณ สิ้นปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤติที่อยู่ในระดับ 179.6% นั้นก็มีเพียงพอที่จะรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III
อันดับเครดิตในระดับ ?BBB? สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III (LHBANK255A) ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ทั้งนี้ ตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. แล้ว ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวสามารถตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ส่วนหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III ชุดใหม่นั้นก็มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่เหมือนกัน
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ต่อไปนี้คือสมมติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในระหว่างปี 2564-2566
? อัตราการเติบโตของสินเชื่อ: 3.0%
? อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิ: 2.0%-2.1%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้: 38.5%
? ต้นทุนทางเครดิต: 0.7%-1.2%
? อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (ไม่รวมรายการสินทรัพย์ระหว่างธนาคาร): 4.0%-5.0%
? อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1: 17.1%-17.8%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก CTBC Bank จะยังคงรักษาสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งโดยมีความสามารถในการทำกำไร ตลอดจนสถานะเงินทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งยังเชื่อว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการได้ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ตาม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับอันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพิ่มขึ้นได้หากทริสเรทติ้งเห็นพัฒนาการในการขยายธุรกิจ ตลอดจนการผสมผสานของสินเชื่อ การกระจายตัวของรายได้ และการกระจุกตัวของสินเชื่อของธนาคารที่ชัดเจน นอกจากนี้ ธนาคารน่าจะรักษาคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วยเช่นกัน ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตลงหากเงินกองทุนของธนาคารถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- Banks Rating Methodology, 3 มีนาคม 2563
- วิธีการจัดอันดับเครดิตตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2, 30 เมษายน 2557
ไถ่ถอนปี 2568 BBB หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III ในวงเงินไม่เกิน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 10 ปี BBB แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500 ? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html