ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ ?A+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ?
ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากปริมาณอ้อยที่ลดลงในปี 2564 อันเนื่องมาจากภาวะภัยแล้งที่ยาวนานและการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทย นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลก็ยังมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับแรงกดดันจากปริมาณน้ำตาลจากประเทศบราซิลที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนในหลาย ๆ ด้านจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลก ตลอดจนแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับ กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ ฐานการผลิตที่กระจายตัว และแหล่งรายได้ที่หลากหลาย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลการดำเนินงานอ่อนตัวลง
ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ผลผลิตอ้อยที่ลดลงอย่างมากจากภาวะภัยแล้งและการลดลงของพื้นที่เพาะปลูกในประเทศไทยส่งผลให้รายได้และกำไรของธุรกิจน้ำตาลหดตัวลง ในขณะเดียวกัน ธุรกิจเอทานอลและธุรกิจผลิตไฟฟ้าก็ได้รับผลกระทบจากปริมาณอ้อยที่ขาดแคลนซึ่งส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลในช่วงที่ผ่านมาก็ผันผวนอย่างมากจากผลกระทบของโรคโควิด 19 และผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากประเทศบราซิลอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบลดลงไปจนแตะระดับต่ำสุดที่ 10.1 เซ็นต์ต่อปอนด์ในเดือนเมษายน 2563 จาก 15.1 เซ็นต์ต่อปอนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.7 เซ็นต์ต่อปอนด์ในเดือนธันวาคม 2563
จากปัจจัยดังกล่าว กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจึงลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 9.9 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561-2562 อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทก็ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 โดยเปรียบเทียบกับระดับ 16%-18% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561-2562
ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากผลผลิตอ้อยในประเทศไทยที่ลดลงเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ในขณะที่ราคาน้ำตาลนั้นก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นจากประเทศบราซิลซึ่งมีปัจจัยผลักดันจากการอ่อนค่าของเงินเรียลบราซิลและความผันผวนของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในปี 2565 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลผลิตอ้อยและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโรคโควิด 19
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าการดำเนินงานจากการลงทุนใหม่ ๆ ในประเทศอินโดนีเซียของบริษัท รวมทั้งกลยุทธ์ในการลดต้นทุน และประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในจำนวนที่มากขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว
ภาระหนี้เพิ่มขึ้นและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ลดลงในช่วงวงจรธุรกิจขาลง
บริษัทมีหนี้สินทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนจำนวนมากและอัตรากำไรที่อ่อนแอลงในช่วงวงจรธุรกิจขาลง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีค่าใช้จ่ายส่วนทุนและเงินลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทเทียบกับระดับ 6-9 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561-2562 โดยเงินลงทุนจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงงานแปรรูปน้ำตาลและโรงงานน้ำตาลในประเทศอินโดนีเซีย
ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.7 หมื่นล้านบาทจากระดับ 7.9 หมื่นล้านบาทในปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.6% เทียบกับระดับ 54% ในปี 2561-2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6 เท่าจากระดับ 4.6 เท่าในปี 2562 กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 12.3% (ปรับเป็นอัตราส่วนเต็มปีด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงจากระดับ 17.1% ในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทมีแผนจะชะลอการลงทุนในปี 2564 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนประมาณ 4 พันล้านบาทในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยส่วนใหญ่จะใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้าในประเทศไทยและลงทุนในศูนย์นวัตกรรมที่จังหวัดขอนแก่น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 55% เนื่องจากบริษัทมีปริมาณผลผลิตที่ลดลงอย่างมาก อีกทั้งยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.9 เท่าในปี 2564 แต่จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 5 เท่าในปี 2565
เป็นผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำของโลก
บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกโดยมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และออสเตรเลีย ในปี 2563 บริษัทเพิ่มบทบาททางธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียด้วยการลงทุนเพิ่มเติมจำนวนมากทั้งในโรงงานแปรรูปน้ำตาลและโรงงานน้ำตาล ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากำไรของบริษัทมีความผันผวนน้อยกว่าผู้ผลิตน้ำตาลรายอื่น ๆ ในประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากการที่บริษัทมีระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่หลากหลายประเทศ
บริษัทมีผลผลิตน้ำตาลรวม 3.3 ล้านตันในฤดูการผลิต 2562/2563 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่ระดับ 165.5 ล้านตัน สำหรับในประเทศไทยนั้น บริษัทดำรงสถานะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดมาอย่างยาวนาน โดยโรงงานของบริษัทในประเทศไทยผลิตน้ำตาลจำนวน 1.6 ล้านตันในฤดูการผลิต 2562/2563 หรือคิดเป็นสัดส่วนทางการตลาดสูงสุดที่ระดับ 19% ของปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ทั้งประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในลำดับที่ 3 ในประเทศจีนอีกด้วยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 10% และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 1 ล้านตัน ในขณะเดียวกัน บริษัทยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซียโดยมีปริมาณการผลิตที่ประเทศละ 0.5 ล้านตันอีกด้วยเช่นกัน
ธุรกิจพลังงานช่วยรองรับความผันผวนของรายได้
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวม 613.8 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการจำหน่ายไฟฟ้าที่ทำกับหน่วยงานราชการของไทยรวม 253.8 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตเอทานอลสูงสุดนั้นอยู่ที่ 1.46 ล้านลิตรต่อวันและจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.49 ล้านลิตรต่อวัน ณ ช่วงสิ้นปี 2564
รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2562 จาก 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าและการเติบโตของอุปสงค์ในการใช้เอทานอล อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 รายได้จากธุรกิจพลังงานลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.4 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนวัตถุดิบอ้อยและอุปสงค์การใช้พลังงานที่ลดลงจากผลของการระบาดของโรคโควิด 19
ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและเอทานอลรวมกันประมาณ 20% ของรายได้รวม ทั้งนี้ กระแสเงินสดที่มั่นคงจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในธุรกิจพลังงานมีส่วนช่วยพยุงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เกิดภาวะราคาน้ำตาลตกต่ำได้บางส่วน
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงดังกล่าวบริษัทจะมีหุ้นกู้จำนวน 6 พันล้านบาทและเงินกู้ระยะยาวจำนวนประมาณ 2 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระรวมทั้งจะมีงบเพื่อการลงทุนอีกประมาณ 4 พันล้านบาท ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อระยะสั้นที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากสถาบันการเงินอีกประมาณ 5 พันล้านบาท ทริสเรทติ้ง มองว่าความสามารถที่บริษัทจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกทั้งจากตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศและเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์นั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ณ เดือนกันยายน 2563 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์เรียกร้องก่อน (Priority Debt) จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาทจากจำนวนหนี้สินทางการเงินทั้งหมดจำนวน 8.7 หมื่นล้านบาทที่ไม่รวมหนี้สินจากสัญญาเช่า หนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์เรียกร้องก่อนส่วนใหญ่เป็นหนี้สินของบริษัทย่อยของบริษัท ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์เรียกร้องก่อนต่อหนี้สินทั้งหมดของบริษัทอยู่ที่ระดับ 21% เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีสิทธิ์เรียกร้องก่อนดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50% มาก ทริสเรทติ้งจึงจัดให้หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความเสี่ยงเรื่องการด้อยสิทธิ์ในระดับที่ต่ำ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ของบริษัทจะลดลง 1%-9% ต่อปีในระหว่างปี 2563-2564 และจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ในปี 2565
? อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 14%-15% ในระหว่างปี 2563-2564 และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17% ในปี 2565
? ค่าใช้จ่ายส่วนทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับประมาณ 4 พันล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 8 พันล้านบาทในปี 2565
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Negative? หรือ ?ลบ? สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทที่จะอ่อนแอลงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าจากผลกระทบของภาวะภัยแล้งและพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทยที่ลดลงอย่างมาก
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนกลับมาเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? ได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในระยะที่ยาวนานในระดับหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีภาระหนี้สูงเกินกว่าคาดหรือมีอัตรากำไรอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ซึ่งอาจมีแนวโน้มทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 7 เท่าเป็นระยะเวลานาน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC219A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC229A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC233A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC236A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,610 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC249A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 A+
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC256B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,210 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC259A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
MPSC26DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,900 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 A+
MPSC286A: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,630 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
MPSC28DA: หุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2571 A+
MPSC306A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2573 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative