ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? และยังคงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทที่ ?Stable? หรือ ?คงที่?
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?BBB+? ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ใหม่ส่วนหนึ่งไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม 2564 นี้
อันดับเครดิตสะท้อนถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ตลอดจนตำแหน่งผู้นำในตลาดพลาสติก Low-density Polyethylene (LPDE) และ Ethylene Vinyl Acetate (EVA) การมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประโยชน์จากการมีธุรกิจที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติก ตลอดจนความเสี่ยงจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) และความเสี่ยงจากการลงทุนใน ?โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ? (Special Economic Zone -- SEZ) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากแนวโน้มภาระหนี้สินของบริษัทที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงการลงทุนและพึ่งพาหุ้นกู้ในสัดส่วนที่สูง
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
มีตำแหน่งทางการตลาดที่มั่นคงในธุรกิจปูนซีเมนต์
บริษัทยังคงเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 23% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ทั้งนี้ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเกิดจากการมีธุรกิจขนาดใหญ่ การดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์ที่ครบวงจรในแนวดิ่ง (Vertical Integration) และการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ ปูนซีเมนต์ คอนกรีต ไฟเบอร์ซีเมนต์ กระเบื้องคอนกรีต คอนกรีตมวลเบา และปูนสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งในธุรกิจปูนซีเมนต์ดังกล่าวก็ถูกลดทอนจากความเสี่ยงหลายประการ อาทิ วงจรอุตสาหกรรมที่มีลักษณะขึ้นลง การแข่งขันด้านราคา ลักษณะของธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง และความผันผวนของราคาถ่านหิน เป็นต้น
มีตำแหน่งผู้นำในตลาดพลาสติก LPDE และ EVA
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติก LDPE และ EVA ชั้นนำของประเทศไทยโดยมีกำลังการผลิตขนาด 158,000 ตันต่อปี โรงงานพลาสติกของบริษัทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปิโตรเลียมครบวงจรขนาดใหญ่ในจังหวัดระยอง บริษัทถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดภายในประเทศของพลาสติก LDPE ประมาณ 20% คิดตามกำลังการผลิตและเป็นเพียงผู้เดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตพลาสติก EVA ได้
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทค่อย ๆ เปลี่ยนจากการจำหน่ายสินค้า LDPE แบบโภคภัณฑ์ทั่วไปมาสู่สินค้า EVA เฉพาะด้านเกรดพิเศษที่มีอัตรากำไรสูงกว่า บริษัทมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ EVA ในธุรกิจพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของรายได้ทั้งหมดในปัจจุบัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ EVA ที่มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อเพิ่มผลกำไรอีกด้วย นอกเหนือจากสินค้าเหล่านี้แล้ว บริษัทยังเป็นผู้ผลิตสินค้าเคมีภัณฑ์รายใหญ่ในประเทศไทยหลากหลายชนิดอีกด้วย เช่น กาว แอมโมเนียมไนไตรท และกรดไนตริก เป็นต้น
ความเสี่ยงทางธุรกิจในธุรกิจพลาสติกของบริษัทนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของราคาในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการแข่งขันของคู่แข่งระดับโลกบางราย
กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
อันดับเครดิตที่แข็งแกร่งของบริษัทนั้นมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานะเครดิตที่เข้มแข็งของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักเป็นอย่างมาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 8 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 440 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง (180 เมกะวัตต์) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3 ฉบับเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าขนาด 163 เมกะวัตต์ให้แก่ กฟผ. (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง)
สัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นช่วยลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์อีกทั้งยังให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จำนวน 3.5 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงและเป็นแหล่งสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอนในระยะยาวซึ่งทำให้การคาดการณ์ผลกำไรของบริษัททำได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งทางธุรกิจเหล่านี้ถูกลดทอนด้วยความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณของความร้อนทิ้งที่มีไม่แน่นอนและคุณภาพของเชื้อเพลิงขยะที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้ก็ถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีการปรับปรุงโรงงานอย่างต่อเนื่องและมีแผนในการติดตั้งหม้อต้มไอน้ำสำรองจำนวน 3 ชุดในโรงไฟฟ้าของบริษัท
มีธุรกิจที่หลากหลาย
อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายจากธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง (48% ของรายได้รวมในปี 2563) ธุรกิจพลาสติก (17%) และธุรกิจผลิตไฟฟ้า (22%) อย่างไรก็ตาม ในแง่ของกระแสเงินสดนั้น บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ สร้างกระแสเงินสดถึงประมาณ 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของทั้งกลุ่มบริษัทในปี 2563
ประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการกระจายธุรกิจไปสู่การผลิตไฟฟ้านั้นมีส่วนช่วยชดเชยความผันผวนของธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกลงได้ ซึ่งส่งผลทำให้กระแสเงินสดโดยรวมของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
พยายามหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่เพื่อมาชดเชยผลกระทบจาก Adder ที่กำลังจะหมดอายุ
Adder ที่ใกล้หมดอายุสัญญาจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดของบริษัท โดย Adder ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2 ฉบับแรกรวม 73 เมกะวัตต์จะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมและสิงหาคม 2565 ผลกระทบดังกล่าวจะเห็นได้อย่างเต็มที่ในปี 2566 โดยคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะลดลงประมาณ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในอนาคตบริษัทจะยังคงมีความเสี่ยงที่ผลกำไรอาจหดตัวอย่างต่อเนื่องจาก Adder ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวนมากที่สุดที่ขนาด 90 เมกะวัตต์จะหมดอายุลงในเดือนเมษายน 2568
ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความยั่งยืนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ สามารถหาได้นับจากนี้ไป โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ กำลังพยายามแสวงหาการลงทุนใหม่ ๆ ทั่วประเทศเพื่อชดเชยผลกำไรที่กำลังลดน้อยลง ล่าสุดบริษัทชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะขนาด 9.9 เมกะวัตต์ที่จังหวัดสงขลาโดยได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปีด้วยกำลังการผลิตตามสัญญาที่ขนาด 7.92 เมกะวัตต์และได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่ 5.78 บาทต่อหน่วยสำหรับ 8 ปีแรกและ 5.08 บาทต่อหน่วยหลังจากนั้น ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้รับค่ากำจัดขยะที่อัตรา 400 บาทต่อตันอีกด้วย บริษัทยังได้เตรียมเข้าร่วมการประมูลสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอีก 11 โครงการซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปี 2564-2565 โดยกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ระหว่าง 8-9.9 เมกะวัตต์ต่อโครงการ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเสนอเรื่องขอจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 40 เมกะวัตต์ให้แก่ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐอีกด้วย ทั้งนี้ หากบริษัทได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ผลกำไรของบริษัทก็น่าจะเพิ่มขึ้นพอสมควรและจะช่วยลดผลกระทบจาก Adder ที่จะหมดอายุลงได้บางส่วน
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ มีศักยภาพในการได้รับสัญญาภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ อีกหลายโครงการเนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอยู่แล้ว ผู้บริหารของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ คาดการณ์ในเบื้องต้นว่าโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ แต่ละโครงการน่าจะสร้างรายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปีและจะมี EBITDA ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความสำเร็จในการได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่จำนวน 40 เมกะวัตต์จะเป็นปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญเนื่องจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะของบริษัทนั้นมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มองว่าการแสวงหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาจากการแข่งขันด้านการประมูลที่น่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น
ผลกำไรมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
นอกเหนือจากการแสวงหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ แล้ว บริษัทยังได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของทุกหน่วยธุรกิจจำนวนหลายโครงการซึ่งใช้เงินลงทุนถึง 7.3 พันล้านบาทเพื่อสร้างผลกำไรในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ โครงการที่สำคัญ ๆ ประกอบไปด้วย การปรับปรุงโรงงานปูนซีเมนต์ครั้งใหญ่ การเริ่มใช้เชื้อเพลิง RDF ในการผลิตปูนซีเมนต์ในสัดส่วน 25%-30% และการขยายกำลังการผลิตของสินค้าพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ในปี 2564-2565 ซึ่งผู้บริหารระดับสูงคาดว่าโครงการเหล่านี้จะสามารถ EBITDA เพิ่มเติมได้อีก 3 พันล้านบาทต่อปีโดยประมาณ
ทริสเรทติ้งมองว่าความพยายามของบริษัทเหล่านี้น่าจะช่วยยกระดับผลกำไรของกลุ่มบริษัทได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมผลประโยชน์อย่างเต็มที่ในการคาดการณ์กรณีฐานเพื่อสะท้อนถึงการประเมินอย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ เนื่องจากผลประโยชน์ที่แท้จริงนั้นยังต้องรอการพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการเสริมสร้างผลกำไรให้มีความแข็งแรงยิ่งขึ้นนั้นก็ถือว่าเป็นปัจจัยในเชิงบวกต่ออันดับเครดิต
ความเสี่ยงจากโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนล่วงหน้าของบริษัทในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสงขลานั้นจะทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอาจจะยังต้องใช้เวลามากเนื่องจากขั้นตอนของทางราชการที่ใช้เวลานาน อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาโครงการดังกล่าวโดยได้อนุมัติให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. ) ดำเนินการต่อโดยยึดมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาบริษัทมีการวางแผนจะซื้อที่ดินทั้งหมดจำนวน 17,500 ไร่ในพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับการพัฒนาดังกล่าว บริษัทได้ชำระค่าที่ดินไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะต้องจ่ายอีกประมาณ 4.4 พันล้านบาทสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือ การซื้อที่ดินผืนใหญ่ส่งผลทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายชำระที่สูงมาก ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทคาดว่าสินทรัพย์หลักในโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้นน่าจะเริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มองว่าความเสี่ยงที่โครงการจะล่าช้านั้นก็มีความเป็นไปได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมใด ๆ ในโครงการดังกล่าวเว้นแต่ในกรณีที่บริษัทได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากทางภาครัฐ เช่น การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ
ในกรณีที่โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามารถดำเนินต่อไปได้ บริษัทอาจจะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาทสำหรับการพัฒนาโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินมากเมื่อเทียบกับงบการเงินของบริษัท ส่วนในด้านผลตอบแทนนั้น ผู้บริหารของบริษัทคาดว่าบริษัทน่าจะสร้าง EBITDA เพิ่มเติมได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมหรือบริษัทอาจจะต้องจัดทำแผนการเงินที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้ที่สูงเกินกว่าจะรับได้ดังกล่าว
ผลการดำเนินงานที่น่าพึงพอใจในปี 2563
ในปี 2563 ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทดีขึ้นจากปีก่อนถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด19) โดยผลกำไรยังคงมีปัจจัยขับเคลื่อนจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง โดยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รายได้รวมของบริษัทลดลงเหลือ 3.53 หมื่นล้านบาทหรือลดลง 7.3% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาปูนซีเมนต์ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม EBITDA ของบริษัทก็อยู่ที่ระดับ 9.5 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 24.8% ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 7.5 พันล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 33.6%
ผลกำไรที่สูงขึ้นของบริษัทนั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกในธุรกิจปิโตรเคมีที่กว้างมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจปูนซีเมนต์ของบริษัทจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซา แต่อัตรากำไรก็ปรับตัวดีขึ้นตามราคาเชื้อเพลิงถ่านหินที่ลดลงและประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของโรงผลิตปูนซีเมนต์ ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. นั้นยังคงดำเนินไปได้ด้วยดีโดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากที่บริษัทได้ติดตั้งหม้อไอน้ำเพิ่มเติมอีก 2 ชุด โดยหม้อต้มไอน้ำชุดที่ 3 นั้นคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 นี้
คาดว่าสัดส่วนภาระหนี้สินจะสูงขึ้นจากการลงทุนใหม่ ๆ
ภายใต้การคาดการณ์กรณีฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอุปสงค์ปูนซีเมนต์น่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นไป อัตรากำไรในธุรกิจปูนซีเมนต์และพลาสติกยังคงขึ้นอยู่กับราคาถ่านหิน ตลอดจนส่วนต่างของราคาเม็ดพลาสติก และประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่าง ๆ ที่บริษัทกำลังดำเนินการอยู่ สำหรับธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้น โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ที่บริษัทเพิ่งชนะการประมูลมานั้นคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ได้ภายในปลายปี 2566 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ อีกหลายสัญญา โดยทริสเรทติ้งสมมติว่าบริษัทจะสามารถชนะการประมูลโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะใหม่ ๆ ได้อีกโดยมีขนาดกำลังการผลิตรวมที่ 60 เมกะวัตต์โดยประมาณ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่จำนวน 40 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ที่บริษัทกำลังดำเนินการขออยู่และไม่รวมเงินลงทุนเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเข้าไว้ในประมาณการยกเว้นการซื้อที่ดินส่วนที่เหลือ
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนต่าง ๆ ทั้งนี้ อัตราส่วนภาระหนี้สินของบริษัทน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะก่อนที่จะลดลงอย่างมากเมื่อโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ในช่วง 3.7-3.9 หมื่นล้านบาทในช่วงประมาณการ ในขณะที่ EBITDA น่าจะคงอยู่ในระดับ 9-9.5 พันล้านบาทในปี 2564 และจะค่อย ๆ ลดลงเหลือ 7.5 พันล้านบาทในปี 2566 จากการหมดอายุของ Adder อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA น่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 9 พันล้านบาทได้ในปี 2567 เมื่อโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทั้งหมดเริ่มดำเนินการผลิต ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งก็คาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 5.5-6.5 พันล้านบาทในระหว่างปี 2564-2565 จาก 7.3 พันล้านบาทในปี 2563 และจะลดลงเหลือประมาณ 5 พันล้านบาทในปี 2566 แล้วหลังจากนั้นน่าจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับ 6.2 พันล้านบาทในปี 2567
ในช่วงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่าง ๆ นั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วง 7-8 เท่าในปี 2566 จาก 5.8 เท่าในปี 2563 อัตราส่วนน่าจะปรับตัวดีขึ้นโดยจะลดลงเหลือ 6.5 เท่าในปี 2567 ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนของเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินสุทธิก็น่าจะลดลงเหลือ 7%-8% ในปี 2564-2566 จาก 13% ในปี 2563 ก่อนที่จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับประมาณ 10% ในปี 2567 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50%-55%
พึ่งพาหู้นกู้ในสัดส่วนที่สูง
บริษัทยังคงใช้หุ้นกู้เป็นแหล่งเงินทุนหลักเนื่องจากเป็นทางเลือกของผู้บริหาร ประกอบกับสภาวะตลาดหุ้นกู้ที่ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทยังคงมีหุ้นกู้คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% ของภาระหนี้โดยรวม จากการพึ่งพาหุ้นกู้ทีในสัดส่วนที่สูงนั้น ทริสเรทติ้งมองว่าความสามารถในการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ของบริษัทนั้นยังขึ้นอยู่กับสภาวะของตลาดด้วยเช่นกัน
บริษัทมีหุ้นกู้ก้อนใหญ่มูลค่า 9.6 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2564 นี้ซึ่งบริษัทได้เตรียมสภาพคล่องไว้ให้เพียงพอที่จะชำระหุ้นกู้ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีเงินสดในมือรวมถึงเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ชุดใหม่และได้รับเงินอีกจำนวน 4 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม 2564 นี้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์ของหุ้นกู้ชุดที่ผ่านมา ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวนั้นลดลงได้โดยพิจารณาจากประวัติที่ดีในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ที่ผ่านมาของบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ได้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวกำหนดให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต้องอยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่า ในขณะที่ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.19 เท่า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนต่างระหว่างอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขและที่บริษัทปฏิบัติได้จะแคบลงเมื่อประเมินจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัท
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้น 1%-2.5% ในช่วงระหว่างปี 2564-2566
? รายได้จากธุรกิจพลาสติกจะคงที่ในช่วงเดียวกัน
? รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเริ่มลดลงในช่วงปี 2565-2566
? อัตรากำไรจาก EBITDA จะลดลงเหลือ 20% จาก 23% ในระหว่างปี 2564-2566
? เงินลงทุนจะอยู่ที่จำนวนทั้งสิ้น 2.2 หมื่นล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2564-2566
? อัตราการจ่ายปันผลจะอยู่ที่ระดับ 50%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะในการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจพลาสติกจะยังคงเดิมในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและยังคงสร้างกระแสเงินสดให้แก่กลุ่ม ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จในการแสวงหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนช่วยชดเชยกระแสเงินสดที่ลดลงจากการหมดอายุของ Adder ได้ ในขณะที่ผลการดำเนินงานและสัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทจะยังคงเป็นไปตามการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในเวลาอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นก็อาจจะเกิดได้หากบริษัทสามารถพิสูจน์ได้ว่าบริษัทได้รับประโยชน์จากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานต่าง ๆ และประสบความสำเร็จในการได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผลกำไรได้เป็นอย่างมากตามที่คาดหมาย ในการนี้ การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทลดลงต่ำกว่า 6 เท่าเป็นเวลานานและบริษัทสามารถกระจายความหลากหลายของแหล่งกู้ยืมได้ ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้ก็อาจเกิดจากภาะหนี้ที่ลดลงหรือผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ได้เช่นกัน
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทอยู่สูงเกินกว่า 8 เท่าเป็นระยะเวลานาน ในการนี้ อันดับเครดิตอาจลดลงจากการทรุดตัวของธุรกิจปูนซีเมนต์ หรือผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้ หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เงินกู้เป็นหลัก ในขณะที่การสูญเสียส่วนทุนจำนวนมากจากคดีฟ้องร้องที่ยังคงค้างอยู่ก็อาจส่งผลทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตลงได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TPIPL214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL214B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,580 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+
TPIPL221A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,530 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL224A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,745 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+
TPIPL231A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TPIPL231B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,382.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TPIPL234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,640.5 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BBB+
TPIPL244A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,127 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TPIPL24NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,515.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+
TPIPL251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,888 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
TPIPL256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
TPIPL25NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,410.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB+
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable