ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” ที่ “BBB+” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท ที่ “BBB+” แนวโน้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 15, 2021 14:33 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?BBB+? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่?

ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ ?BBB+? ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้นี้ไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนและมั่นคงของบริษัทซึ่งได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements -- PPA) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านต้นทุนเชื้อเพลิงของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงด้านการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel -- RDF) และการหมดอายุสัญญาของส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ทั้งหมด นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับผลกระทบในด้านลบจากภาระหนี้สินของบริษัทที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงของการลงทุนและความเสี่ยงจากการลงทุนใน ?โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ? (Special Economic Zone -- SEZ) อีกด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

อันดับเครดิตมีกรอบจำกัดจากอันดับเครดิตของบริษัทแม่

อันดับเครดิตของบริษัทมีกรอบจำกัดอยู่ที่ระดับ ?BBB+? โดยไม่เกินไปกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่เนื่องจากบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต ?BBB+/Stable? จากทริสเรทติ้ง) แต่เมื่อพิจารณาถึงสถานะเครดิตเฉพาะของบริษัทโดยไม่รวมบริษัทแม่แล้ว (Stand-alone Company Rating) บริษัทยังคงได้รับอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ ?A? ซึ่งสะท้อนถึงสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าของบริษัทแม่

อันดับเครดิตภายใต้กรอบที่จำกัดนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของบริษัททั้งสองในฐานะบริษัทแม่และบริษัทลูก โดยบริษัท

ทีพีไอ โพลีน ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 70.24% นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแม่ยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการของบริษัทและมีอิทธิพลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจและนโยบายทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จะยังคงเป็นบริษัทที่สร้างกำไรสูงสุดให้แก่กลุ่มบริษัท โดยคาดว่าจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 60%-70% ของกลุ่ม โดยความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแรงนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยค้ำจุนอันดับเครดิตของกลุ่ม

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงระดับของการทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญระหว่างบริษัทและบริษัทแม่ด้วย ทั้งนี้ การเชื่อมโยงระหว่างกันนั้นส่งผลให้บริษัทต้องเปิดรับความเสี่ยงจากสถานะธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ซึ่งมีความผันผวนสูง นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน เป็นทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทและเป็นผู้จำหน่ายพลังงานความร้อนทิ้งให้แก่บริษัท ดังนั้น หากการดำเนินงานของโรงผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่มีการหยุดชะงักก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าและปริมาณความร้อนทิ้ง รวมถึงการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทด้วยเช่นกัน

กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.

บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งหมด 8 แห่งโดยส่วนใหญ่ใช้ขยะ RDF ความร้อนทิ้ง และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงขยะรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 440 เมกะวัตต์ โดยจัดสรรให้แก่ กฟผ. จำนวน 180 เมกะวัตต์และส่วนที่เหลือจำหน่ายให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มั่นคงของบริษัทจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. (ได้รับการจัดอันดับเครดิต ?AAA/Stable? จากทริสเรทติ้ง) โดยในปัจจุบันบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 3 ฉบับซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 163 เมกะวัตต์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ อีกทั้งยังให้ส่วนเพิ่ม Adder อีก 3.50 บาทต่อหน่วยจากอัตราค่าไฟฟ้าฐานที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 7 ปี โดย Adder ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีอัตราผลกำไรที่สูงซึ่งโดยรวมแล้วบริษัทมีอัตรา EBITDA ถึง 50%-55%

มีต้นทุนเชื้อเพลิงที่แข่งขันได้

บริษัทมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนของเชื้อเพลิงจาก RDF และความร้อนทิ้งที่มีราคาถูก ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อเพลิง RDF ขยะนั้นมีราคาที่ค่อนข้างต่ำเพราะมีที่มาจากขยะฝังกลบและขยะชุมชน ในขณะที่ความร้อนทิ้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์นั้นก็ถือเป็นข้อได้เปรียบเฉพาะตัวในการแข่งขันของบริษัทเนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณความร้อนทิ้งก็มีความไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับอัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ด้วยเช่นกัน

ความเสี่ยงในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าลดลงจากการปรับปรุงประสิทธิภาพที่ต่อเนื่อง

ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทนั้นถูกลดทอนด้วยความซับซ้อนของโรงไฟฟ้าขยะและคุณภาพของเชื้อเพลิงที่มีความหลากหลาย โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิง RDFถือว่ามีความซับซ้อนสูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซหรือถ่านหินโดยทั่วไปและมีความเสี่ยงที่การดำเนินงานจะสะดุดสูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเสถียรกว่า อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการดำเนินงานก็ลดลงจากประสบการณ์ที่มากขึ้นของบริษัทและโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังได้ติดตั้งหม้อต้มไอน้ำเพิ่มเติมจำนวน 2 ชุดในโรงไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้การผลิตไฟฟ้ามีการสะดุดอีกด้วย โดยการติดตั้งหม้อต้มไอน้ำชุดที่ 3 นั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งก็ยังเชื่อว่าบริษัทยังจำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนสำหรับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อคงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าและช่วยให้การผลิตไฟฟ้าเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

ในปี 2563 ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยปริมาณไฟฟ้ารวมที่ผลิตได้นั้นเพิ่มขึ้นคิดเป็น 5.4% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2,063 กิกะวัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้ หลังจากบริษัทได้ติดตั้งหม้อต้มไอน้ำ 2 ชุดแรก ส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. มีการดำเนินงานเป็นไปด้วยดีรวมทั้งยังมีอัตราการใช้งานที่สูงขึ้นและมีความเสถียรมากยิ่งขึ้นด้วย ในทางกลับกัน โรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่บริษัทแม่นั้นได้รับผลกระทบจากการหยุดดำเนินงานของโรงงานปูนซีเมนต์อันเป็นผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) เนื่องจากความต้องการในการใช้ไฟฟ้าของโรงงานปูนซีเมนต์ลดลง จึงทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ยังคงไม่สามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มกำลัง

พยายามหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่เพื่อมาชดเชยผลกระทบจาก Adder ที่กำลังจะหมดอายุ

Adder ที่ใกล้หมดอายุสัญญาจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัท โดย Adder ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 2 ฉบับแรกรวม 73 เมกะวัตต์จะสิ้นสุดลงในเดือนมกราคมและสิงหาคม 2565 ผลกระทบดังกล่าวจะเห็นได้อย่างเต็มที่ในปี 2566 โดยคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะลดลงประมาณ 2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ในอนาคตบริษัทจะยังคงมีความเสี่ยงที่ผลกำไรอาจหดตัวอย่างต่อเนื่องจาก Adder ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวนมากที่สุดที่ขนาด 90 เมกะวัตต์จะหมดอายุลงในเดือนเมษายน 2568

ในมุมมองของทริสเรทติ้งเห็นว่าความยั่งยืนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทนั้นจะขึ้นอยู่กับจำนวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ที่บริษัทสามารถหาได้นับจากนี้ไป โดยบริษัทกำลังพยายามแสวงหาการลงทุนใหม่ ๆ ทั่วประเทศ เพื่อชดเชยรายได้ที่กำลังลดน้อยถอยลง ล่าสุดบริษัทชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะขนาด 9.9 เมกะวัตต์ที่จังหวัดสงขลาโดยได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปีด้วยกำลังการผลิตตามสัญญาที่ขนาด 7.92 เมกะวัตต์และได้รับอัตราค่าไฟฟ้าที่ 5.78 บาทต่อหน่วยสำหรับ 8 ปีแรกและ 5.08 บาทต่อหน่วยหลังจากนั้น ในขณะเดียวกัน โครงการยังได้รับค่ากำจัดขยะในอัตรา 400 บาทต่อตันอีกด้วย บริษัทยังได้เตรียมเข้าร่วมการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอีก 11 โครงการซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปี 2564-2565 โดยกำลังการผลิตตามสัญญาอยู่ระหว่าง 8-9.9 เมกะวัตต์ต่อโครงการ นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเสนอเรื่องขอจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ RDF ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 40 เมกะวัตต์ให้แก่ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐอีกด้วย

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีศักยภาพในการได้รับสัญญาภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ อีกหลายโครงการเนื่องจากบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอยู่แล้ว ผู้บริหารของบริษัทคาดการณ์ในเบื้องต้นว่าโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ แต่ละโครงการน่าจะสร้างรายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปีและจะมี EBITDA ที่ประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความสำเร็จในการได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่จำนวน 40 เมกะวัตต์จะเป็นปัจจัยในเชิงบวกที่สำคัญเนื่องจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะของบริษัทนั้นมีความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็มองว่าการแสวงหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาจากการแข่งขันด้านการประมูลที่รุนแรง

ความเสี่ยงจากโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนล่วงหน้าของบริษัทในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสงขลานั้นจะทำให้บริษัทเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอาจจะยังต้องใช้เวลามากเนื่องจากขั้นตอนของทางราชการที่ใช้เวลานาน โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาโครงการดังกล่าวโดยได้อนุมัติให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต. ) ดำเนินการต่อโดยยึดมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาบริษัทมีการวางแผนจะซื้อที่ดินทั้งหมดจำนวน 17,500 ไร่ในพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับการพัฒนาดังกล่าว บริษัทได้ชำระค่าที่ดินไปแล้วเป็นจำนวนเงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะต้องจ่ายอีกประมาณ 4.4 พันล้านบาทสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือ การซื้อที่ดินผืนใหญ่ส่งผลทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินและดอกเบี้ยจ่ายชำระที่สูงมาก ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทคาดว่าสินทรัพย์หลักในโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และนิคมอุตสาหกรรมนั้นน่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 5 ปี อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังมองว่าความเสี่ยงที่โครงการจะล่าช้านั้นก็มีความเป็นไปได้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมใด ๆ ในโครงการดังกล่าวเว้นแต่ในกรณีที่บริษัทได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากทางภาครัฐ เช่น การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ ๆ

ในกรณีที่โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษสามารถดำเนินต่อไปได้ บริษัทอาจจะต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาทสำหรับการพัฒนาโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลสำหรับงบการเงินของบริษัท ส่วนในด้านผลตอบแทนนั้น ผู้บริหารของบริษัทคาดว่าบริษัทน่าจะสร้าง EBITDA เพิ่มเติมได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปีเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความพร้อมหรือบริษัทอาจจะต้องจัดทำแผนการเงินที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาระหนี้ที่สูงเกินกว่าจะรับได้ดังกล่าว

มีโอกาสที่จะกำไรจะยืนได้จากการลงทุน ๆ ใหม่

ภายใต้ประมาณการขั้นพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรและกระแสเงินสดของบริษัทจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 2564 ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงในช่วงปี 2565-2566 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหมดอายุของ Adder ของโรงไฟฟ้าบางส่วน ส่วนปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้านั้นน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นไปอีกหลังจากหม้อต้มไอน้ำชุดที่ 3 ได้รับการติดตั้งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะขนาด 9.9 เมกะวัตต์แห่งใหม่ที่บริษัทเพิ่งชนะการประมูลมาได้นั้นคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ภายในช่วงปลายปี 2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งสมมุติว่า บริษัทจะได้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะเพื่มอีกโดยมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 60 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 40 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะแห่งใหม่ที่บริษัทกำลังดำเนินการขออยู่และไม่รวมเงินลงทุนเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเข้าไว้ในประมาณการยกเว้นการซื้อที่ดินส่วนที่เหลือ

ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ก่อนที่จะลดลงเหลือประมาณ 1 หมื่นบาทต่อปีในระหว่างปี 2565 และ 2566 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะฟื้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2567 เมื่อโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดเปิดดำเนินงานแล้ว ในทิศทางคล้ายกัน ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 2564 และจะลดลงเหลือ 4.5-5.0 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566 โดย EBITDA น่าจะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 6 พันล้านบาทได้ในปี 2567 ในขณะที่ความเสี่ยงในด้านลบอาจจะเกิดจากความไม่แน่นอนจากผลของการประมูล ตลอดจนความล่าช้าในการเปิดประมูล และการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทที่อ่อนแอเป็นเวลานาน

สัดส่วนภาระหนี้สินมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ในระหว่างปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจากแผนการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัท โดยอัตราส่วนภาระหนี้สินจะค่อย ๆเพิ่มขึ้นในช่วงพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่และน่าจะปรับลดลงอย่างมากหลังจากโครงการเหล่านี้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะต้องลงทุนอีกประมาณ 1.95 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้าซึ่งจะประกอบไปด้วยการซื้อที่ดินที่เหลืออีกจำนวน 4.4 พันล้านบาท และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะแห่งใหม่ ๆ อีกจำนวน 1.26 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อส่วนทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40% ในช่วงปี 2564-2566 จาก 26.6% ในปี 2563 และจะลดลงเหลือประมาณ 30% ในปี 2567 เมื่อโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะแห่งใหม่เริ่มเปิดดำเนินงาน อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 5 เท่าในช่วงเวลาประมาณการจาก 1.8 เท่าในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ในระดับ 3 เท่าในปี 2567

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

? ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 2.35 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในปี 2566 จาก 2.1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในปี 2564

? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะลดลงมาอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 จาก 1.1 หมื่นล้านบาทในปี 2564

? อัตรา EBITDA จะลดลงเหลือ 45% ในปี 2566 จาก 55% ในปี 2564

? เงินลงทุนรวมจะอยู่ที่จำนวนประมาณ 1.95 หมื่นล้านบาทในช่วงประมาณการในปี 2565-2566

? อัตราการจ่ายปันผลจะอยู่ที่ 50% ต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะได้สัญญาภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยชดเชยกระแสเงินสดที่ลดลงหลังจาก Adder หมดอายุลงได้บางส่วนซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินของบริษัทเป็นไปตามที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยหลักของบริษัท ทีพีไอ โพลีน นั้นจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะสั้นเนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเข้าสู่รอบการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งใหม่ ๆ และโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตก็อาจจะเกิดขึ้นได้หากกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าบริษัทได้ประโยชน์จากโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ ๆ

ในทางกลับกัน การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือหากบริษัทมีการลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งส่งผลให้สถานะทางการเงินรวมของกลุ่มถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตยังอาจได้รับการปรับลดลงด้วยเช่นกันหากทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตของบริษัท ทีพีไอ โพลีน

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (TPIPP)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB+

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TPIPP21NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB+

TPIPP22NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 BBB+

TPIPP247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BBB+

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 5 ปี BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ