ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ ?BBB+? จากเดิมที่ระดับ ?BBB? และเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเป็นระดับ ?BBB? จากเดิมที่ระดับ ?BBB-? โดยอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น ?Stable? หรือ ?คงที่? จาก ?Positive? หรือ ?บวก? ด้วย โดยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงกระแสเงินสดของบริษัทที่เพิ่มสูงขึ้นและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้น
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ตลอดจนประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรหรือบูรณาการในแนวดิ่ง (Vertical Integration) และกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนจากความเสี่ยงของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของการลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับการขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
กระแสเงินสดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
กระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทเริ่มสร้างผลตอบแทน โดยบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายซึ่งไม่รวมรายการพิเศษเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 3.7 พันล้านบาทในปี 2563 จาก 1.2 พันล้านบาทในปี 2559 ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 6 เท่าในปี 2563 จากระดับสูงสุดเกือบ 8 เท่าในปี 2559
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ตามกลยุทธ์การลงทุนแบบต่อเนื่องของบริษัท นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันของบริษัทก็น่าจะมีผลการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการคาดการณ์หรือเป้าหมายที่วางไว้ และเพื่อจัดการกับความเสี่ยงในด้านการพัฒนา ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะให้ความสำคัญกับโครงการที่จ่ายไฟแล้วหรือที่กำลังจะจ่ายไฟซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนได้ทันที ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับ 5.5 พันล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า
ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน
บริษัทตัดสินใจเลิกดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น คือ ?Utsunomiya? และ ?Iwakuni? โดยโครงการทั้งสองทำให้บริษัทมีภาระการลงทุนในจำนวนรวมกันถึง 1.6 หมื่นล้านบาทและต้องเผชิญกับระยะการก่อสร้างที่ยาวนานประมาณ 3 ปี บริษัทจึงเลือกที่จะจำหน่ายโครงการทั้งสองออกไปและเปลี่ยนมาดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่จำนวน 2 แห่งในประเทศเวียดนามแทน คือ ?Phong Dien 2? และ ?Tan Chau? โครงการใหม่ดังกล่าวใช้งบลงทุนที่ต่ำกว่าและเริ่มสร้างกระแสเงินสดได้เร็วกว่า โดยบริษัทใช้เงินลงทุนไปประมาณ 2.7 พันล้านบาทในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งในประเทศเวียดนามและเริ่มรับรู้รายได้ที่เป็นกระแสเงินสดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563
ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น
การจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นออกไปยังนำมาซึ่งกำไรจำนวนมากให้แก่บริษัทที่ประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2563 อีกด้วย นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากการก่อสร้างโครงการทั้งสองดังกล่าวก็มีอันยุติไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 5-6 เท่าในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งเคยคาดไว้ก่อนหน้าเล็กน้อย ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะอยู่ในช่วง 65-68%
โรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟแล้วมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟแล้วของบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจเมื่อพิจารณาจากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ในการพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปริมาณไฟฟ้ารวมต่อปีที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทขึ้นถึงระดับปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ 50% (ระดับ P50) ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมอยู่ที่ระดับ P75 ยกเว้นในปีที่แล้วที่ต่ำกว่าคาดการณ์จากฤดูมรสุมที่ไม่เป็นไปตามปกติ ทั้งนี้ แม้จะผันผวนสูง แต่ปริมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมก็คาดว่าน่าจะขึ้นถึงระดับ P75-P90 ในระยะปานกลางถึงระยะยาว ในขณะที่ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของบริษัทนั้นน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่น่าพอใจเกินกว่า 80% ตลอดในช่วง 3 ปีข้างหน้า
กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความเสี่ยงในระดับต่ำซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของผลการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้เนื่องจากมีความเสี่ยงในการดำเนินงานและความเสี่ยงในการชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ โดยโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ บริษัทยังได้จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชนอีกด้วย ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนโดยทั่วไปนั้นมีความเสี่ยงในการชำระเงินจากผู้รับซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำลังการผลิตภายใต้รูปแบบสัญญาดังกล่าวคิดเป็นจำนวนที่น้อยกว่า 15% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของบริษัท อีกทั้งผู้ซื้อไฟฟ้าภาคเอกชนส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสถานะด้านเครดิตในระดับที่ยอมรับได้
บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ามากกว่า 100 แห่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายซึ่งช่วยลดการพึ่งพิงผลการดำเนินงานของโครงการใดโครงการหนึ่งหรือเพียงไม่กี่โครงการลงได้อีกด้วย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเมื่อคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทมีจำนวนรวมกันทั้งหมดอยู่ที่ 604 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นองค์ประกอบหลักของสินทรัพย์ที่ผลิตไฟฟ้าของบริษัท (434 เมกะวัตต์) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นพลังงานที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่คาดการณ์และสร้างกระแสเงินสดที่วางใจได้
ขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะในการเป็นผู้จัดหาและผลิตอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้ารายสำคัญต่อไปซึ่งธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัท บริษัทจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยที่สินค้าของบริษัทนั้นมีความหลากหลายครอบคลุมทุกขั้นตอนของระบบการส่งและจำหน่ายไฟฟ้า โดยผลงานที่ยาวนานและการมีสินค้าที่หลากหลายช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ทั้งนี้ ธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้านั้นสร้างอัตรากำไรขั้นต้นที่ค่อนข้างมั่นคงให้แก่บริษัทที่ระดับ 25%-30% ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
บริษัทน่าจะยังคงได้ประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเนื่องจากธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มของบริษัทในปัจจุบันซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าและผู้จัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า บริษัทสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One-stop Service) แก่เจ้าของโครงการซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ความเสี่ยงจากการลงทุนในประเทศเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น
บริษัทกำลังขยายธุรกิจไปในประเทศเวียดนาม โดยก่อนจะซื้อโครงการ Phong Dien 2 และ Tan Chau นั้นบริษัทได้ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 2 แห่งในประเทศเวียดนามคือ ?Tri Viet 1? และ ?Bach Khoa A Chau 1? ไว้ก่อนแล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทในประเทศเวียดนามอยู่ที่ขนาด 160 เมกะวัตต์ คิดเป็น 26.5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ในขณะที่การลงทุนในประเทศเวียดนามนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของสินทรัพย์รวมของบริษัท
โอกาสการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยมีความน่าสนใจน้อยลงซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนความล่าช้าของการเปิดประมูลโครงการภาครัฐ และกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง การขาดแคลนโอกาสใหม่ ๆ จึงทำให้การซื้อกิจการและการจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่กลายมาเป็นแนวโน้มในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ ในต่างประเทศต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนามที่อัตราการเติบโตและความต้องการไฟฟ้ายังคงแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม โครงการในประเทศเวียดนามโดยทั่วไปแล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าโครงการในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากความเสี่ยงในด้านกฎระเบียบข้อบังคับและคู่สัญญาที่มีสูงกว่า โดยทริสเรทติ้งมองว่าสถานะเครดิตของการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) นั้นไม่แข็งแกร่งเท่ากับสถานะเครดิตของผู้รับซื้อไฟฟ้าภาครัฐในประเทศไทย อีกทั้งสายส่งในบางจังหวัดก็ยังประสบกับปัญหาด้านขีดความสามารถในการรับส่งกระแสไฟฟ้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโครงการในประเทศเวียดนามนั้นยังถือว่ายอมรับได้ โดยโครงการทั้ง 4 แห่งของบริษัทตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยงจากการตัดทอนปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าไม่มากนัก ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากโครงการในประเทศเวียดนามในภาพรวมนั้นขึ้นมาถึงระดับที่คาดว่าจะผลิตได้ตามความน่าจะเป็นที่ P75
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเติบโตขึ้น
บริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างความเติบโตให้แก่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยบริษัทชนะการประมูลโครงการนำสายเคเบิลลงใต้ดินขนาดใหญ่จำนวน 2 โครงการในปี 2562 รวมทั้งโครงการขนาดเล็กถึงขนาดกลางอีกหลายโครงการในปี 2563 ส่งผลให้มูลค่างานในมือของบริษัทเพิ่มขึ้นจนทำสถิติสูงสุดที่ประมาณ 8 พันล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมูลค่างานในมือดังกล่าวแล้ว ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างน่าจะสร้างรายได้ที่ปีละ 3-4 พันล้านบาทให้แก่บริษัทในช่วงปี 2564-2566 โดยเพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านบาทในปี 2563
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าการขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในด้านลบต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น ความล่าช้าในการก่อสร้างและอัตรากำไรที่ถูกบีบให้ลดลงจากการแข่งขันประมูล นอกจากนี้ สัญญาก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะสร้างความท้าท้ายต่อการควบคุมต้นทุนและการจัดการด้านทุนหมุนเวียนของบริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโดยธรรมชาติแล้วจะให้อัตรากำไรที่ต่ำกว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้า เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทโดยรวมจึงน่าจะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 40%-50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดกับสถานะทางการเงินของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับจำกัดเนื่องจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงานหลักของบริษัทต่อไป
สภาพคล่องยังคงบริหารจัดการได้
สภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแรงเช่นเดิม โดยหนี้ของบริษัทประมาณ 8 พันล้านบาทจะครบกำหนดในปี 2564 นี้ ในขณะที่ ณ เดือนธันวาคม 2563 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมกับเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดที่ประมาณ 9 พันล้านบาทซึ่งน่าจะเพียงพอรองรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้จำนวนประมาณ 1.8 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนเมษายน 2564 นี้
ข้อกำหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า ซึ่ง ณ สิ้นปี 2563 บริษัทปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดเนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทอยู่ที่ 1.8 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวต่อไปได้
สมมติฐานพื้นฐาน
? กำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
? รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท
? อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ระหว่าง 40%-50%
? เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 3-5 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากและมั่นคงตามที่วางแผนไว้ ในขณะที่ธุรกิจอุปกรณ์ระบบไฟฟ้านั้นคาดว่าน่าจะยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่กำลังเติบโตนั้นจะไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้และโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้ายังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัท ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทแย่ลงอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ต่ำกว่าการคาดการณ์หรือเป้าหมายที่วางไว้อย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จำนวนมาก หรือการขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
GUNKUL214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,819 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable