ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ?A? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านในประเทศไทย รวมทั้งอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากความท้าทายที่เกิดจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง ตลอดจนการมีฐานลูกค้าซึ่งมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาพืชผลทางการเกษตร และความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นในเรื่องการบริโภคที่อ่อนตัวลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลดลงในช่วงที่มีการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในปี 2563 ลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 2.73 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นผลจากยอดขายจากสาขาเดิมที่ลดลง 9.3% ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทได้ปิดสาขาจำนวน 40 แห่งเป็นการชั่วคราว (คิดเป็น 60% ของจำนวนสาขาทั้งหมด) ในช่วงครึ่งหลังของเดือนมีนาคม นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปิดสาขาอีก 31 แห่ง (46%) ในเดือนเมษายนและ 19 แห่ง (28%) ในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม รายได้จากการจำหน่ายสินค้าหน้าร้านที่ลดลงนั้นก็ได้รับการชดเชยบางส่วนจากการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ประมาณ 1-1.5 ล้านบาทต่อวันเมื่อเทียบกับรายได้ที่ประมาณ 0.2-0.45 ล้านบาทต่อวันในช่วงก่อนการปิดเมือง
จากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศและรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้น 9.5% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังจากนั้นจะเติบโตที่ระดับ 7%-7.5% ต่อปีในระหว่างปี 2565-2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่ายอดขายจากสาขาเดิมของบริษัทจะฟื้นตัวเติบโตขึ้นที่ระดับ 3%-5% ต่อปีในช่วงปี 2564-2566
ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นจากการมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อยอดขายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 14.1% ในปี 2563 จาก 13.3% ในปี 2562 โดยสาเหตุมาจากการปรับสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น โดยรายได้จากกลุ่มสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงกว่าสินค้าภายใต้ตราสินค้าอื่นในท้องตลาดนั้นมีสัดส่วนคิดเป็น 21% ของยอดขายรวม ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทต่อรายได้รวมให้เป็นประมาณ 23% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรที่น่าพอใจเอาไว้ได้ในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 14% ในช่วงปี 2564-2566
ระดับการก่อหนี้ทางการเงินจะลดลง
อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.6% ณ สิ้นปี 2563 จากระดับ 48.8% ณ สิ้นปี 2562 เนื่องจากบริษัทมีการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลง
บริษัทวางแผนจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 5-6 แห่งในปี 2564-2566 ดังนั้น เงินลงทุนของบริษัทจึงคาดว่าน่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.0-2.3 พันล้านบาทต่อปี จาก 2.5-2.9 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทก็คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41%-45% ในระหว่างปี 2564-2566 โดยลดลงจากระดับ 46%-49% ในปี 2562-2563 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 3-3.6 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับเกินกว่า 20% ในช่วงปี 2564-2566
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งสภาพคล่องประกอบไปด้วยเงินสดในมือและวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อยู่ที่ระดับประมาณ 1.94 หมื่นล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.4-3.9 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
วงจรเงินสดค่อนข้างยาว
เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความเพียงพอของสินค้าเพื่อให้เหมาะสมกับการให้บริการในรูปแบบร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ บริษัทจึงต้องจัดให้มีปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมากและมีวงจรเงินสดค่อนข้างยาวที่ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 220 วัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏว่าบริษัทมีการใช้เงินทุนที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนในปัจจุบันของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ประมาณ 1 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินที่ใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการบริหารจัดการสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นหลัก (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าคงคลัง)
มีสถานะเป็นผู้นำทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้าน
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการค้าปลีกชั้นนำของไทยที่จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับบ้าน ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งหมด 71 แห่งซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศและอีก 1 สาขาในประเทศกัมพูชา โดยทุกสาขาตั้งอยู่ในเขตต่างจังหวัด และประมาณ 39% ของจำนวนสาขาทั้งหมดของบริษัทตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสาขาที่เหลืออยู่ในภาคอื่น ๆ ของประเทศยกเว้นกรุงเทพฯ
บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จาก 2.86 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งปรับตัวลดลง 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 13%-15% ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้แข่งขันหลักรายอื่นซึ่งอยู่ที่ระดับ 11%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 9.5% ในปี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 7%-7.5% ในช่วงปี 2565-2566
? อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 14% ในระหว่างปี 2564-2566
? ค่าใช้จ่ายส่วนทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.0-2.3 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดในธุรกิจค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับบ้านได้ต่อไป พร้อมทั้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในช่วงที่มีการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทน่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 20% ด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยการลดวงจรเงินสดให้สั้นลงและเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้มากขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในขณะเดียวกันก็ยังคงสามารถรักษาระดับความสามารถในการทำกำไรและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ให้อยู่ในระดับที่ดี ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือระดับหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562
บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (GLOBAL)
อันดับเครดิตองค์กร: A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable